เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 businessinsider.com รายงานผลสำรวจโดยสถาบันแพทยศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาเผยแพทย์และพยาบาลราวร้อยละ 30-50 กำลังประสบปัญหาหมดไฟในการทำงาน สาเหตุสำคัญมาจากภาระงานเกินตัว เทคโนโลยีล้าหลัง และขาดการสนับสนุน ขณะที่พยาบาลรวมตัวประท้วงผละงานแล้วใน 4 รัฐ
ความเสี่ยงภาวะหมดไฟการทำงานในวงการแพทย์อเมริกันสูงสุดเป็นประวัติการณ์
รายงานจากสถาบันแพทยศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาพบว่า แพทย์และพยาบาลราวร้อยละ 35-54 มีอาการของภาวะหมดไฟการทำงาน
การศึกษาระบุว่าสาเหตุของภาวะหมดไฟที่ระบาดในบุคลากรสาธารณสุขประกอบด้วยภาระงานล้นมือ เทคโนโลยีที่ล้าหลัง และขาดการสนับสนุน รายงานความยาว 321 หน้ายังได้แนบข้อมูลการศึกษาทบทวนปัญหาหมดไฟในบุคลากรสาธารณสุขด้วย
นักวิจัยเปิดเผยว่า ภาวะหมดไฟในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขเป็นปัญหาเชิงระบบที่เกิดขึ้นทั่ววงการสาธารณสุข เช่น เทคโนโลยีล้าหลัง นักศึกษาแพทย์ต้องรับภาระงานเกินตัว ค่าเล่าเรียนราคาแพงซึ่งทำให้นักศึกษาแพทย์ต้องแบกหนี้สินก้อนใหญ่ และขาดการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานในโรงพยาบาล
ปัญหาหมดไฟการทำงานในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขดำเนินมาถึงจุดวิกฤติในปีนี้ ภาวะหมดไฟในกลุ่มแพทย์ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2562 หลังมีรายงานว่าแพทย์โรงพยาบาลระดับปฐมภูมิร้อยละ 79 กำลังประสบปัญหาความเครียดจากการทำงาน อีกด้านหนึ่งพยาบาลใน 4 รัฐรวมตัวประท้วงผละงานแล้วในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องให้จัดสรรอัตรากำลังให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วย
ตัวแทนพยาบาลเผยว่าสาเหตุสำคัญมาจากการต้องรับผิดชอบผู้ป่วยจำนวนมากพร้อมกัน โดยมีการศึกษาวิจัยจากออสเตรเลียเสนอว่าการจัดสรรให้พยาบาลดูแลผู้ป่วยไม่เกิน 4 คนสัมพันธ์กับผลลัพธ์ด้านการรอดชีพที่ดีขึ้นและอัตราการนอนโรงพยาบาลที่ลดลง และจนถึงขณะนี้แคลิฟอร์เนียเป็นเพียงรัฐเดียวในสหรัฐอเมริกาที่มีระเบียบกำหนดจำนวนผู้ป่วยสูงสุดที่พยาบาลสามารถรองรับได้
บาร์บารา แมคแอนนีย์ อดีตประธานสมาคมแพทย์อเมริกันชี้ให้เห็นความจำเป็นที่ระบบสุขภาพจะต้องหามาตรการลดภาวะหมดไฟและความอ่อนล้าในหมู่แพทย์ โดยชี้ว่าแพทย์ที่กระปรี้กระเปร่าและกระตือรือร้นเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา
ปัญหาหมดไฟในการทำงานกำลังเป็นวิกฤติในประชากรวัยทำงาน
ปัญหาหมดไฟกำลังไหม้ลามไปทั่วทุกภาคธุรกิจของสหรัฐ ผลสำรวจล่าสุดรายงานว่าแรงงานกว่าครึ่งมองว่างานที่ทำอยู่ส่งผลกระทบตอสุขภาพจิต องค์การอนามัยโลกเองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาวะหมดไฟในการทำงานและระบุว่าเป็น ‘ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาวะและอาจนำไปสู่โรคต่างๆ ได้’ อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
(Burn out หรือภาวะหมดไฟเป็นปรากฏการณ์ทางอาชีพ (occupational phenomenon) ไม่ใช่เป็นโรค (medical condition) และเกิดจากความเครียดเรื้อรังจากการทำงาน ซึ่งได้จัดอยู่ในบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรค และปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ฉบับที่ 11 โดยมีรหัสกำหนดในหมวด Z คือ “ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาวะ” เพราะเล็งเห็นว่าประเด็นนี้มีความสำคัญ คุกคามสุขภาวะ และอาจจะนำไปสู่โรคต่าง ๆ ได้ เช่น ภาวะโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือแม้กระทั่งปวดหัวชนิดเทนชั่น หรือโรคนอนไม่หลับ เป็นต้น)
ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าจากการทำงานยิ่งสูงขึ้นในผู้ที่ทำงานเป็นกะ โดยเฉพาะในกลุ่มแพทย์ โดยมีการศึกษาของมหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์รายงานว่าผู้ที่มีชั่วโมงการทำงานเปลี่ยนไปมาหรือทำงานเป็นกะมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าสูงกว่าคนทั่วไปราวร้อยละ 33
ความทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้าและหมดไฟการทำงานอาจส่งผลร้ายแรง ข้อมูลจากการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานดิเอโกพบว่าความเสี่ยงการฆ่าตัวตายสูงกว่าในกลุ่มพยาบาลเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป
เจอราด โบรแกน พยาบาลวิชาชีพและผู้อำนวยการสถาบันการฝึกหัดพยาบาลเผยว่า ปัญหาหลายอย่างล้วนมีสาเหตุจากนโยบายของโรงพยาบาลหรือผู้บริหารสาธารณสุขที่ไม่เป็นผลดีต่อบุคลากรด้านการแพทย์ ตัวอย่างเช่น การกำหนดรูปแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยซึ่งทำให้แพทย์และพยาบาลไม่สามารถให้การดูแลรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
“แพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านการดูแลสุขภาพไม่ได้เข้ามาทำงานเพราะหวังชื่อเสียงนะครับ” โบรแกนเผย “พวกเขาเป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อสังคมและเข้าสู่วิชาชีพพยาบาลเพื่อช่วยเหลือสังคมของตน และค่านิยมของพวกเขาก็แตกต่างจากระบบสุขภาพที่ขับเคลื่อนด้วยกำไร มันไม่ใช่เลยครับ”
แปลและเรียบเรียงจาก
- 280 views