เอ็นจีโอจี้ สปสช. ทำงานเชิงรุกหลังออกอาการเออออตาม สธ. กรณีเพิ่มสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงอายุ ชี้หาก สธ.บอกว่าไม่พร้อมให้บริการก็ต้องหาวิธีกระตุ้นให้เกิดบริการ ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนต้องรอไปก่อน
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน เปิดเผยว่า ในการประชุมพิจารณาสิทธิประโยชน์ของงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการหารือถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ไม่เฉพาะแค่หญิงตั้งครรภ์ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป และได้มีข้อสรุปให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ไปแล้ว
อย่างไรก็ดี ในรายละเอียดการประชุมก็ยังมีประเด็นที่ควรพิจารณาทบทวนปรับปรุงตัวเองของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์นี้ได้มีการศึกษาวิจัยกันมานานหลายปีแล้ว ทางโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการศึกษาและพบว่าผู้ที่คลอดลูกมีภาวะดาวน์ซินโดรมที่อายุต่ำกว่า 35 ปีมีจำนวน 1,400 คน ถือว่าเยอะมาก ขัดกับความเชื่อหรือข้อเท็จจริงเก่าๆคือหญิงตั้งครรภ์ที่มีโอกาสมีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมคือคนที่อายุมากกว่า 35 ปี
นายนิมิตร์ กล่าวว่า เมื่องานวิจัยเสนอว่าควรตรวจทุกคน ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กลับบอกว่าทำไม่ได้ ถ้าต้องตรวจ 7-8 แสนท้อง/ปี ระบบรับไม่ไหว ที่ผ่านมาจึงได้แต่ตรวจเฉพาะคนที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนคนที่อายุต่ำกว่า 35 ปีกลายเป็นมีภาระที่ต้องไปตรวจเอง ซึ่งสถานการณ์ก็เป็นแบบนี้มาหลายปี จนในปีนี้ผู้บริหาร สธ.ก็ยังยืนยันว่ายังตรวจไม่ได้เพราะจะเป็นภาระแก่ระบบ ควรตรวจตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป ขณะที่ทางทีมวิชาการยืนยันอย่างหนักแน่นว่าถ้าจะให้เกิดประโยชน์จริงๆควรจะตรวจคนท้องทุกคนเพราะทางฝ่ายสูตินรีแพทย์ก็ไปศึกษาวิจัยระบบแล้ว พบว่าผู้ปฏิบัติงานในทุกเขตบอกว่าถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ทุกคน รวมทั้งยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะทำได้
"ทีมวิจัยก็ยืนยันว่าคุยกับผู้ปฏิบัติการแล้ว ผู้ปฏิบัติงานพร้อม ทาง สธ.ก็บอกว่าเป็นภาระ ส่วนคนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็นิ่งๆเงียบๆ ซึ่งโดยหลักการแล้ว สปสช.เป็นคนซื้อบริการแทนประชาชน ถ้าพบว่าบริการนี้เป็นบริการที่สำคัญและมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดาวน์ซินโดรม กลายเป็นภาระแก่ครอบครัวเด็กและระบบสุขภาพ สปสช.ก็ควรยืนยันว่าต้องตรวจทุกราย ไม่ใช่ว่า สธ.บอกว่าไม่พร้อมก็ยอมอยู่แบบนั้น ไม่พร้อมประชาชนก็ไม่ต้องตรวจ แบบนี้มันไม่ได้" นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า เมื่อยืนอยู่บนหลักการซื้อบริการแทนประชาชน ถ้าเป็นบริการที่สำคัญและประชาชนควรได้บริการ แม้ สธ.ไม่พร้อม สปสช.ก็ต้องคิด ต้องไปดูว่ามีที่ไหนทำได้ หรือจะใช้มาตรการทางการเงินเข้าไปกระตุ้นให้เกิดบริการก็ได้ กล่าวคือกระตือรือร้น ทำงานในเชิงรุก ซึ่ง สปสช.ในอดีตก็เคยทำมาแล้วในกรณีผ่าตัดตาต้อกระจกซึ่งในอดีตมีคิวรอผ่ายาวเหยียด โรงพยาบาลของ สธ.ก็บอกว่าไม่พร้อม มีจักษุแพทย์น้อย แต่เมื่อประชาชนจำเป็นต้องได้รับการรักษา สปสช.ยุคนั้นก็ใช้มาตรการทางการเงินไปกระตุ้น การผ่าตัดต้อกระจกถึงได้เกิดทั่วประเทศ คิวที่ต้องรอนานก็หายไป
"แต่เรื่องดาวน์ซินโดรม ท่าทีของ สปสช. เป็นท่าทีที่ไม่เชิงรุก ไม่ปกป้องประโยชน์ของประชาชน ได้แต่คล้อยตาม ถ้าผู้บริหาร สธ.บอกว่าไม่พร้อมก็รอไปก่อนซึ่งมันไม่ควรเป็นอย่างนั้น สปสช.ก็ต้องเป็นฝ่ายรุกด้วยถ้าบริการนั้นมันสำคัญและจำเป็น ขณะที่ผู้บริหาร สธ. ก็ต้องทันต่อข้อมูลเพราะหน่วยบริการก็บอกว่าพร้อม แต่ไม่รู้มีช่องว่างในการสื่อสารกันอย่างไร" นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้การเพิ่มสิทธิประโยชน์จะเป็นภาระงบประมาณ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาก็ไม่ใช่การเพิ่มแบบไม่มีเหตุผล การเพิ่มสิทธิประโยชน์แต่ละอย่างต้องอาศัยข้อมูลข้อเท็จจริง มีงานวิจัยสนับสนุน ขณะที่ฝ่ายผู้ให้บริการเองก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เกิดบริการด้วย
"มันต้องทำงานเชื่อมกันทุกฝ่าย แต่ถ้าทุกฝ่ายอยู่ในสถานะว่าอะไรก็ได้ คนที่เสียประโยชน์คือประชาชน" นายนิมิตร์ กล่าว
- 17 views