รพ.จิตเวชนครราชสีมา เผยประชาชนสนใจโทรสอบถามโครงการรับยาจิตเวชที่ร้านยาใกล้บ้านหลังเปิดบริการช่วง 3 วันแรกวันละ15-20 สาย ส่วนใหญ่ถามเรื่องร้านยาและสิทธิ ส่วนผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าที่รับยาเดิมและมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต อ.เมืองที่มีจำนวน700-1,000คน ยังอยู่ในช่วงตัดสินใจ คาดว่าใน 1-2 สัปดาห์จะทราบจำนวนชัดเจน พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการทางผ่าน 3 ช่องทางคือทางเฟซบุ้ค รพ.จิตเวชฯ / เว็บไซต์ www.jvkorat.go.th และโทร 044-233-999 ต่อ 65104

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้เริ่มเปิดให้บริการรับยารักษาโรคทางจิตเวชที่ร้านยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) ใกล้บ้าน 5 แห่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา ซึ่งการดำเนินการในระยะแรกนี้ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้เริ่มในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชรายเก่า ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง และอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีอาการคงที่และต้องกินยาต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา โดยต้องเป็นผู้ป่วยที่มีคิวนัดติดตามผลการรักษาที่รพ.จิตเวชฯ เท่านั้น โครงการนี้ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชสิทธิอื่นๆ รวมทั้ง กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่ และผู้ป่วยจิตเวชรายเก่า ที่อยู่ต่างอำเภอหรือมีนัดติดตามผลการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนอื่นๆ ใน จ.นครราชสีมา

นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวว่า ผลการให้บริการช่วง 3 วันแรก ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชาชนโทรสอบถามโครงการ วันละ 15-20 สาย ส่วนใหญ่จะถามเกี่ยวกับร้านยาที่ร่วมโครงการ และสิทธิผู้ป่วย ในส่วนของผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าทุกโรคที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมาที่มีจำนวน 700-1,000 คน ซึ่งขณะนี้ รพ.จิตเวชฯ ได้ปรับวันนัดให้สั้นลงกว่าเดิมคือ มาพบแพทย์ทุก 2 สัปดาห์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา เป็นช่วงที่เภสัชกรของรพ.จิตเวชฯให้ข้อมูลของโครงการ เพื่อให้เวลาผู้ป่วยและญาติในการตัดสินใจสมัครใจร่วมโครงการไปรับยาที่ร้านยาตามความพร้อมและความสะดวกซึ่งจะมีความแตกต่างไปจากผู้ป่วยโรคทางกาย คาดว่าใน 1-2 สัปดาห์ จะทราบจำนวนที่ชัดเจนและดำเนินการตามระบบได้

“ในภาพรวมของผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมาและขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบการรักษาขณะนี้ โดยเฉพาะ 2 โรคที่พบบ่อยคือโรคซึมเศร้า (Depression) และโรคจิตเภท (Schizophrenia) ขณะนี้มีกว่า 50,000 คน หากรวมอีก 3 จังหวัดที่เป็นเครือข่ายดูแลของ รพ.จิตเวชฯ คือ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จะมีกว่า 140,000 คน โดยผู้ป่วยร้อยละ 80 มีอาการดีและรับยาต่อเนื่องที่ รพ.ชุมชนตามภูมิลำเนา คาดว่าหากโครงการนี้ขยายพื้นที่ออกไป จะสามารถช่วยแก้ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชขาดยาได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากได้รับความสะดวกและเข้าถึงยาจิตเวชใกล้บ้าน ทำให้มีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น” นายแพทย์
กิตต์กวีกล่าว

ทางด้านเภสัชกรหญิงจุฑามณี ดุษฎีประเสริฐ รองผู้อำนวยการด้านสารสนเทศและการพัฒนาคุณภาพสู่ความเป็นเลิศ และหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า ผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าทุกคนที่กินยาต่อเนื่องและมีอาการคงที่ ที่จะเข้าร่วมโครงการไปรับยาที่ร้านยา 5 แห่ง จะต้องได้รับการตรวจประเมินอาการจากแพทย์ที่ รพ.จิตเวชฯ ก่อนว่ามีอาการคงที่ สามารถไปรับยาต่อที่ร้านยาได้ และจะออกใบนัดให้ จากนั้นผู้ป่วยจะได้รับยาจาก รพ.จิตเวชฯกลับไปกินต่อที่บ้าน เมื่อยาชุดนี้หมด ก็สามารถถือใบนัดจากรพ.จิตเวชฯ ไปรับยาครั้งต่อไปที่ร้านยาโดยตรงได้เลย ไม่ต้องไปที่ รพ.จิตเวชฯ อีก โดยจะนัดผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์ที่ รพ.จิตเวชฯ ทุก 6 เดือนเพื่อติดตามประเมินอาการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ขณะนี้รพ.จิตเวชฯได้เพิ่มช่องทางให้ข้อมูลโครงการเป็น 3 ช่องทาง คือทางเว็ปไซต์ของ รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ www.jvkorat.go.th, เฟซบุ้ค โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ตลอด 24 ชั่วโมง และทางระบบโทรศัพท์ปกติ หมายเลข 044-233-999 ต่อ 65104 ในวันและเวลาราชการ

สำหรับร้านยาที่เข้าร่วมโครงการรับยาจิตเวชใกล้บ้านกับ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ 5 แห่ง ประกอบด้วยร้านยาที่อยู่ตำบลในเมือง 3 แห่ง คือ

1. เรือนยา เภสัชกรประเสริฐ ไกรวิศิษฎ์กุล ตั้งอยู่ที่ ถ.ช้างเผือก เปิดเวลา 8.00-20.00 น.

2. อัมรินทร์เภสัช เภสัชกรสมชาติ ใจชื่อกุล ตั้งอยู่ที่ถ.ชุมพล เปิดเวลา 8.00-20.00 น.

3. ตะกร้ายา เภสัชกรหญิงพัชมน สันติเศรษฐสิน ตั้งอยู่ที่ตรอกเสาธง เปิดเวลา 8.00-20.00 น.

ส่วนร้านยาที่เหลืออีก 2 แห่ง อยู่ที่ ต.จอหอ 1 แห่งคือ ปัญจสรณ์เภสัช เภสัชกรชนนภัทร์ แดงสระน้อย ตั้งอยู่ที่ ถ.รัตนภิธาน ต.จอหอ เปิดเวลา 8.00-22.00 น. และอยู่ที่ ต.โพธิ์กลาง 1 แห่ง คือร้านพี.อาร์.ฟาร์มาซี เภสัชกรหญิงอนุสรา โมงขุนทด เปิดเวลา 7.00-22.00 น.