องค์การอนามัยโลกแนะนานาประเทศเพิ่มงบการสาธารณสุขมูลฐานอย่างน้อย 1% ของจีดีพี พร้อมระบุว่าหากไม่เร่งรัดการลงทุนด้านสาธารณสุข คาดว่าประชากรโลกราว 5 พันล้านคนจะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลภายในปี 2573

องค์การอนามัยโลกและองค์กรพันธมิตรจี้นานาประเทศเพิ่มการลงทุนในการสาธารณสุขมูลฐานอีกอย่างน้อยร้อยละ 1ของจีดีพีเพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลและบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขซึ่งประกาศไว้เมื่อ 2558 นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้แต่ละประเทศยกระดับมาตรการขยายบริการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

รายงานการติดตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าชี้ว่าแต่ละประเทศจะต้องขยายการประกันสุขภาพให้โตขึ้นเป็น 2 เท่าตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี 2573 โดยเตือนว่าหากไม่เร่งรัดการลงทุนด้านสาธารณสุขก็จะส่งผลให้ประชากรราว 5 พันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลภายในปี 2573 อันเป็นเส้นตายที่ผู้นำโลกเห็นพ้องสำหรับการบรรลุสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยชี้ว่าประชากรกลุ่มเสี่ยงล้วนเป็นผู้ยากไร้และขาดโอกาส

การสาธารณสุขมูลฐานคือหัวใจของบริการสุขภาพถ้วนหน้า

นายทีโดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการอนามัยโลกให้ความเห็นว่าการบรรลุสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและยกระดับชีวิตของประชาชนจำเป็นต้องอาศัยการสาธารณสุขมูลฐานซึ่งคือการให้บริการสุขภาพที่จำเป็น เช่น เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน การดูแลหลังคลอด การให้คำแนะนำสำหรับการมีสุขภาพที่ดี และสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะไม่ต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาล

ประเมินว่าหากเพิ่มการลงทุนด้านการสาธารณสุขมูลฐานในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางอีกปีละ 200,000 ล้านดอลลาร์ก็อาจลดการเสียชีวิตได้ถึงปีละ 60 ล้านคน เพิ่มอายุคาดเฉลี่ยได้อีก 3.7 ปีภายในปี 2573

ขณะเดียวกันก็ส่งผลดีอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยเทียบเป็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอีกราวร้อยละ 3 จากตัวเลขรายจ่ายสาธารณสุขทั่วโลกซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ราวปีละ 7.5 ล้านล้านดอลลาร์

แต่ละประเทศสามารถเพิ่มการลงทุนด้านสาธารณสุขเอง

รายงานชี้ว่า ประเทศส่วนใหญ่สามารถปรับปรุงการสาธารณสุขมูลฐานโดยอาศัยทรัพยากรในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเพิ่มงบประมาณสาธารณสุข หรือจัดสรรงบประมาณเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน หรือทั้ง 2 ด้าน โดยชี้ด้วยว่าปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ยังลงทุนในการสาธารณสุขมูลฐานน้อยเกินไป

อย่างไรก็ดีประเทศยากจนหรืออยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพอาจไม่สามารถเพิ่มงบประมาณสาธารณสุขและต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศ งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจะต้องมุ่งเน้นที่การพัฒนาระบบสุขภาพและการบริการที่ได้ประโยชน์ระยะยาวโดยเน้นที่การพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ

เร่งรัดยกระดับการบริการ

แต่ละประเทศจะต้องปฏิรูปมาตรการเพื่อยกระดับการบริการสุขภาพให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ดังที่พบว่าความคืบหน้าในการให้บริการสาธารณสุขโดยครอบคลุมทั่วประเทศชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และแม้พัฒนาการส่วนใหญ่มักพบในประเทศรายได้น้อยแต่ประเทศดังกล่าวก็ยังคงล้าหลังอยู่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ติดอันดับยากจนที่สุดหรือประเทศที่อยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพ

“ยังคงมีผู้หญิงและเด็กจำนวนมากที่เสียชีวิตด้วยโรคที่ป้องกันหรือรักษาได้เพียงเพราะไม่ได้รับการรักษาที่จำเป็น” เฮนรีเอตตา ฟอเร ผู้บริหารระดับสูงของยูนิเซฟกล่าว “การประสานงานร่วมกับชุมชนเพื่อให้บริการสาธารณสุขมูลฐานแก่ผู้ยากไร้และอยู่ในภาวะเสี่ยงจะช่วยให้เราไปถึงเส้นชัยและช่วยชีวิตคนได้อีกหลายล้าน”

บริการรักษาพยาบาลมักขาดแคลนในพื้นที่ชนบท

รายงานระบุด้วยว่าปัญหาการขาดแคลนสาธารณูปโภค บุคลากร การสนับสนุนด้านทรัพยากร และบริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพต่ำทำให้ชุมชนไม่เชื่อถือในสถานพยาบาลนั้น เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

“การพัฒนาและขยายการสาธารณสุขมูลฐานในทุกภูมิภาคเป็นคำตอบ” นาตาเลีย คาเนม ผู้บริหารระดับสูงของยูเอ็นเอฟพีเอเผย “น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะรับประกันได้ว่าประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นตั้งแต่ก่อนคลอดไปจนถึงตลอดชีวิต”

ป้องกันการล้มละลายจากการรักษา

รายงานยังได้เน้นความจำเป็นที่จะต้องป้องกันการประสบปัญหาทางการเงินจากการรักษาพยาบาล

“เป้าหมายของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะไม่เป็นรูปธรรมหากนานาประเทศไม่เร่งรัดมาตรการป้องกันภาวะล้มละลายจากการรักษาพยาบาล” นพ.มูฮัมหมัด ปาเต ผู้อำนวยการด้านสาธารณสุข โภชนาการ และประชากรของธนาคารโลกกล่าว “การขยายการเข้าถึงบริการสาธารณสุขมูลฐานที่มีคุณภาพจะช่วยลดการเสียชีวิต และควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้อยู่ในระดับที่จ่ายได้”

รายงานชี้ให้เห็นแนวโน้มที่สูงขึ้นของการประสบปัญหาทางการเงินจากค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลเมื่อเทียบกับ 15 ปีก่อน ผู้ป่วยราว 925 ล้านคนต้องเจียดเงินมากกว่าร้อยละ 10 ของรายได้ครัวเรือนสำหรับค่ารักษาพยาบาล ขณะที่ราว 200 ล้านคนต้องเสียรายได้มากกว่าร้อยละ 25 ไปกับการรักษาตัว ขณะเดียวกันการล้มละลายเนื่องจากต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็เพิ่มขึ้นยกเว้นแต่ในกลุ่มที่ยากจนที่สุดเท่านั้น

“น่าตกใจมากที่เราเห็นแนวโน้มที่สูงขึ้นของการดิ้นรนจากปัญหาเศรษฐกิจเพราะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลราคาแพงแม้ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว” แองเจล กูเรีย เลขาธิการโออีซีดีกล่าว “ประเทศที่เพิ่มการลงทุนในการสาธารณสุขมูลฐานและลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ไม่พบปัญหานี้”

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่ผ่านมาผู้นำโลกได้ร่วมหารือในคำประกาศหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คำประกาศดังกล่าวได้ระบุขั้นตอนเพื่อการบรรลุสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งรวมถึงคำแนะนำจากอนามัยโลกในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการสาธารณสุขมูลฐานเพิ่มเติมอีกในสัดส่วนร้อยละหนึ่งจากจีดีพี

แปลและเรียบเรียงจาก

Countries must invest at least 1% more of GDP on primary health care to eliminate glaring coverage gaps (www.who.int)