กสพท.เปิดรับสมัครสอบวิชาเฉพาะ 4 หลักสูตรด้านการแพทย์ 54 สาขาวิชาจาก 46 สถาบัน รวม 2,650 คน ระหว่างวันที่ 10 -31 ต.ค. 2562 นี้

กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) แถลงข่าวการรับสมัครการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต และเภสัชศาสตรบัณฑิต ปีการศึกษา 2563 เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.อาวุธ ศรีศุกรี เลขาธิการ กสพท. กล่าวว่า ในปีนี้มีสถาบันที่รับสมัครทั้งหมด 46 สถาบัน มีตัวเลือกให้นักเรียน 54 สาขาวิชา รวม 2,650 คน โดยให้แต่ละวิชาเป็น 1 ใน 6 อันดับ ที่ผู้สมัครสามารถเลือกได้ตามที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กำหนด

ทั้งนี้ นพ.อาวุธ ย้ำเตือนว่า สิ่งที่ กสพท.เน้นมากคือความถูกต้อง ดังนั้นฝากผู้สมัครให้ดูรายละเอียดในประกาศต่างๆให้เรียบร้อยและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพราะเป็นสิ่งทดสอบเรื่องความรับผิดชอบและความรอบคอยอย่างหนึ่งในการสอบ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.อาวุธ ศรีศุกรี

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.บุญมี สถาปัตยวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการคัดเลือก กสพท. กล่าวว่า คุณสมบัติของผู้สมัครสอบต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาก่อนเดือน ก.ค. 2563 โดยในส่วนของหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิตและเภสัชศาสตร์บัณฑิต ต้องสำเร็จการศึกษาหรือกำลังจะสำเร็จการศึกษาสายวิทยาศาสตร์หรือเทียบเท่าเท่านั้น หน่วยการเรียนวิทยาศาสตร์ทั่วไป ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ รวมกันต้องไม่น้อยกว่า 22 หน่วยกิต คณิตศาสตร์ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต และภาษาอังกฤษไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต และในส่วนของหลักสูตรแพทย์ศาสตร์บัณฑิตต้องอายุไม่เกิน 20 ปี หรือเกิดหลัง 1 ม.ค. 2543

นอกจากนี้ ผู้สมัครต้องไม่เป็นผู้ศึกษาในระดับอุดมศึกษาเกินกว่าชั้นปีที่ 1 รวมทั้งหากเป็นผู้เรียนในหลักสูตรนั้นๆแล้วจะไม่ให้สมัครอีก เช่น หากเรียนแพทย์แล้วก็จะไม่ให้มาสมัครอีก แต่สามารถสมัครข้ามหลักสูตรได้ เช่น เรียนแพทย์แล้วสามารถสมัครหลักสูตรเภสัชศาสตร์บัณฑิตได้ เป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าเป็นสถาบันของทหาร มีข้อกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครเป็นการเฉพาะ ดังนั้นขอให้ผู้สมัครศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.บุญมี สถาปัตยวงศ์

ในส่วนของปฏิทินการรับสมัครนั้น จะเปิดรับสมัครสอบวิชาเฉพาะของ กสพท.ระหว่างวันที่ 10-31 ต.ค. 2562 และสามารถชำระค่าสมัครจำนวน 800 บาทผ่านทางโมบายแอปพลิเคชั่นของธนาคารไทยพาณิชย์ ตู้เอทีเอ็มของธนาคารไทยพาณิชย์ และเคาน์เตอร์ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จนถึงเวลา 23.00 น. ของวันที่ 4 พ.ย. 2562 โดยการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารการสมัครจะเริ่มเมื่อชำระเงินเรียบร้อยแล้ว และจะแจ้งในเว็บไซต์ภายใน 7 วันว่าเรียบร้อยแล้วหรือไม่ ยังขาดตกอะไรอีกบ้าง ในกรณีที่มีปัญหาด้านเอกสาร เช่น รูปถ่ายไม่ชัด เอกสารไม่ถูกต้อง ฯลฯ ให้แก้ไขหรือส่งเอกสารเพิ่มเติมภายใน 16.00 น. ของวันที่ 15 พ.ย.2562 ส่วนการยื่นคำร้องกรณีไม่มีสิทธิเข้าสอบวิชาเฉพาะ สามารถทำได้ตั้งแต่วันที่ 18-22 พ.ย. 2562

"ดังนั้น เมื่อชำระเงินแล้วขอให้ผู้สมัครเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องต่างๆให้เรียบร้อย ที่ผ่านมามีปัญหาร้องเรียนต่างๆส่วนมากคือไม่ได้เข้าไปตรวจสอบนั่นเอง" พญ.บุญมี กล่าว

พญ.บุญมี กล่าวว่า การสอบวิชาเฉพาะจะสอบในวันเสาร์ที่ 7 มี.ค. 2563 และคาดว่าจะประกาศผลคะแนนได้ในวันที่ 25 มี.ค. 2563 ดังนั้นต้น เม.ย. 2563 ผู้สมัครน่าจะทราบคะแนนและสมัครผ่านระบบ TCAS วันที่ 17 - 27 พ.ค.2563 โดยชำระเงินค่าสมัครตามจำนวนสาขาวิชาที่เลือก โดยสามารถเลือกได้สูงสุด 6 สาขาวิชา

พญ.บุญมี กล่าวอีกว่า หลักเกณฑ์การคัดเลือกยังคงเหมือนเป็นเช่นปีที่ผ่านมา คือ คะแนน O-NET ต้องไม่น้อยกว่า 60% แต่เป็นเงื่อนไข ไม่นำมาคิดคะแนน ส่วนคะแนนวิชาสามัญ 7 วิชาหลักต้องได้มากกว่า 30% ของคะแนนเต็มแต่ละวิชา เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา รวมกัน 300 คะแนน คะแนนที่ต้องทำให้ได้อย่างน้อยคือ 90 คะแนน โดยคะแนนวิชาสามัญ 7 วิชาจะมีสัดส่วน 70% แบ่งเป็น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา รวม 40% คณิตศาสตร์ 20% ภาษาอังกฤษ 20% ภาษาไทย 10% สังคมศึกษา 10% และคะแนนจากการสอบวิชาเฉพาะของ กสพท.จะมีสัดส่วน 30%

พญ.บุญมี ย้ำว่า ขอให้ผู้สมัครตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารการสมัครต่างๆ และลงรายมือชื่อ เซ็นรับรองสำเนาถูกต้องให้ครบถ้วน รวมทั้งให้เก็บเอกสารตัวจริงที่ใช้ในการอัพโหลดส่งให้ กสพท.เอาไว้เพื่อนำมาแสดงในวันสอบสัมภาษณ์ เช่นเดียวกับใบสมัครต้องสั่งพิมพ์เก็บไว้เป็นหลักฐานและลงลายมือชื่อไว้เช่นกัน ส่วนรูปถ่ายขอเป็นรูปหน้าตรงสุภาพ เป็นทางการ ไม่ชูนิ้ว ไม่ถ่ายแบบแฟชั่น

ทั้งนี้ คณะที่เปิดรับและจำนวนรับของทั้ง 4 หลักสูตรมีรายละเอียดดังนี้

หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดรับ 20 ที่นั่ง

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับ 176 ที่นั่ง

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ-กรมแพทย์ทหารอากาศ กองทัพอากาศ เปิดรับ 30 ที่นั่ง

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดรับ 55 ที่นั่ง

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดรับ 65 ที่นั่ง

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดรับ 30 ที่นั่ง

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดรับ 129 ที่นั่ง

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดรับ 29 ที่นั่ง

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดรับ 260 ที่นั่ง

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (รพ.ราชวิถี) เปิดรับ 60 ที่นั่ง

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (รพ.เลิดสิน) เปิดรับ 15 ที่นั่ง

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดรับ 165 ที่นั่ง

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดรับ 40 ที่นั่ง

คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดรับ 50 ที่นั่ง

คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช - รพ.ตากสิน เปิดรับ 20 ที่นั่ง

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า (ชาย) เปิดรับ 57 ที่นั่ง

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า (หญิง) เปิดรับ 38 ที่นั่ง

สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดรับ 12 ที่นั่ง

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดรับ 30 ที่นั่ง

สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดรับ 12 ที่นั่ง

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เปิดรับ 10 ที่นั่ง

หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับ 80 ที่นั่ง

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดรับ 83 ที่นั่ง

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดรับ 18 ที่นั่ง

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดรับ 20 ที่นั่ง

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดรับ 58 ที่นั่ง

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดรับ 15 ที่นั่ง

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดรับ 30 ที่นั่ง

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดรับ 17 ที่นั่ง

สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดรับ 10 ที่นั่ง

หลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับ 150 ที่นั่ง

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดรับ 100 ที่นั่ง

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดรับ 30 ที่นั่ง

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดรับ 20 ที่นั่ง

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดรับ 40 ที่นั่ง

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดรับ 10 ที่นั่ง

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เปิดรับ 10 ที่นั่ง

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดรับ 10 ที่นั่ง

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เปิดรับ 30 ที่นั่ง

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดรับ 10 ที่นั่ง

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดรับ 10 ที่นั่ง

หลักสูตรเภสัชศาสตร์บัณฑิค

คณะเภสัชศาสตร์ (การบริบาลทางเภสัชกรรม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับ 71 ที่นั่ง

คณะเภสัชศาสตร์ (เภสัชกรรมอุตสาหการ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับ 80 ที่นั่ง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดรับ 120 ที่นั่ง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดรับ 65 ที่นั่ง

คณะเภสัชศาสตร์ (การบริบาลทางเภสัชกรรม) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดรับ 20 ที่นั่ง

คณะเภสัชศาสตร์ (เภสัชกรรมอุตสาหการ) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดรับ 20 ที่นั่ง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดรับ 30 ที่นั่ง

คณะเภสัชศาสตร์ (การบริบาลทางเภสัชกรรม) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดรับ 10 ที่นั่ง

คณะเภสัชศาสตร์ (การบริบาลทางเภสัชกรรม) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดรับ 10 ที่นั่ง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดรับ 120 ที่นั่ง

คณะเภสัชศาสตร์ (การบริบาลทางเภสัชกรรม) มหาวิทยาลัยพายัพ เปิดรับ 10 ที่นั่ง

คณะเภสัชศาสตร์ (การบริบาลทางเภสัชกรรม) มหาวิทยาลัยสยาม เปิดรับ 20 ที่นั่ง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เปิดรับ 20 ที่นั่ง