หน่วยงานระหว่างประเทศ 12 องค์กรประกาศแผนยกระดับการสนับสนุนการพัฒนาด้านสาธารณสุขอันเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดทศวรรษหน้าระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งล่าสุด
แผนพัฒนาในชื่อ Stronger Collaboration, Better Health: Global Action Plan for Healthy Lives and Well-being for All ได้วางแนวทางไว้สำหรับหน่วยงานสาธารณสุข การพัฒนา และกิจการด้านมนุษยธรรมทั้ง 12 องค์กรในอันที่จะยกระดับความร่วมมือและการสนับสนุนแก่นานาชาติเพื่อที่จะบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและความสำเร็จด้านสาธารณสุขอันเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ประชากรที่มีสุขภาพแข็งแรงเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเอาชนะความยากจน ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสงบและไม่แบ่งแยก ตลอดจนปกป้องสิ่งแวดล้อม และแม้หลายทศวรรษที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าการสาธารณสุขมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ทว่าเป้าหมายของปี 2573 จะไม่มีวันเป็นจริงหากไม่ยกระดับมาตรการในปัจจุบันให้เข้มข้นเป็นเท่าตัว
“ที่แผนมีชื่อว่า ‘Stronger Collaboration, Better Health’ ก็มีเหตุผลอยู่ครับ” นพ.เทดรอส อดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าว “ความร่วมมือกันเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จและการประกาศแผนยกระดับความร่วมมือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น”
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขและแก้ไขความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาล โดยประเมินว่าหากไม่เร่งรัดการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็จะส่งผลให้ประชากรโลกราวห้าพันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นภายในปี 2573 ดังที่อนามัยโลกได้ระบุไว้ในรายงาน Universal Health Coverage: Global Monitoring Report และทุกประเทศจะต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลเพื่อที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมกัน การยกระดับความร่วมมือและการประสานงานจะสนับสนุนนานาประเทศเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสาธารณสุขที่ซับซ้อนและนำไปสู่แนวทางใหม่สำหรับแก้ไขปัญหา
หน่วยงานทั้ง 12 องค์กรเมื่อรวมกันแล้วมีตัวเลขการสนับสนุนเกือบหนึ่งในสามของกองทุนบริจาคเพื่อการพัฒนาด้านสาธารณสุข ซึ่งภายใต้แผนปฏิบัติการ Global Action Plan ดังกล่าวทั้ง 12 องค์กรให้คำมั่นที่จะยกระดับความร่วมมือดังต่อไปนี้
1.ทำงานร่วมกับนานาประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อระบุความสำคัญเร่งด่วน แผนงาน และการปฏิบัติร่วมกัน
2.เร่งรัดความความคืบหน้าผ่านการปฏิบัติงานร่วมกันใน 7 องค์ประกอบซึ่งยังคงเป็นความท้าทายสำหรับประเทศส่วนใหญ่และเป็นสิ่งที่หน่วยงานให้ความสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้และทรัพยากร ได้แก่
- การสาธารณสุขมูลฐาน
- การจัดสรรงบประมาณสาธารณสุขอย่างยั่งยืน
- การมีส่วนร่วมของภาคชุมชนและสังคม
- ปัจจัยกำหนดสุขภาพ
- โครงการสุขภาพภายใต้ภาวะเสี่ยงและการรับมือกับโรคระบาด
- การวิจัยและการพัฒนา นวัตกรรม และการเข้าถึง
- ข้อมูลและการสาธารณสุขด้วยระบบดิจิตอล
ทั้งนี้ ยังรวมถึงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและสนับสนุนบริการสาธารณะ
หลอมรวมยุทธศาสตร์การปฏิบัติ การสนับสนุนงบประมาณ และนโยบายสำหรับการสนับสนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดภาระแก่นานาประเทศ
มีส่วนร่วมโดยผ่านการติดตามความคืบหน้าและเรียนรู้ร่วมกันเพื่อยกระดับการมีส่วนร่วม
รัฐบาลประเทศต่างๆ กำลังอยู่ระหว่างกำหนดความสำคัญเร่งด่วน พัฒนาแผนปฏิบัติ และเร่งรัดมาตรการเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังจะเห็นจากข้อเรียกร้องของนานาประเทศต่อแผน Global Action Plan
“การบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขของแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเนปาล การเสริมสร้างการสาธารณสุขมูลฐานและปรับปรุงการใช้ข้อมูลสำหรับการวางแผนและการตัดสินใจด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นสองปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราคืบหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” รองนายกรัฐมนตรีอุเปนทรา ยาดาฟของเนปาล กล่าว
แผน Global Action Plan ระบุว่าทั้ง 12 องค์กรจะสนับสนุนให้นานาประเทศร่วมกันประกาศแผนพัฒนาด้านสาธารณสุขนอกเหนือจากเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น คำประกาศว่าด้วยการสาธารณสุขมูลฐานที่กรุงอัสตานา และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์กครั้งล่าสุด
แผน Global Action Plan for Healthy Lives and Well-being for All เป็นการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องจากเยอรมนี กานา และนอร์เวย์โดยการสนับสนุนจากนายอันโตนิโอ กูเตเรส เลขาธิการสหประชาชาติเพื่อยกระดับความร่วมมือและการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างองค์กรสาธารณสุขระดับสากลเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งหน่วยงานทั้ง 12 องค์กรประกอบด้วยกาวี (Gavi) จีเอฟเอฟ (GFF) กองทุนโลก (Global Fund) ยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) ยูเอ็นดีพี (UNDP) ยูเอ็นเอฟพีเอ (UNFPA) ยูนิเซฟ (UNICEF) ยูนิตเอด (UNITAID) ยูเอ็นวีเมน (UN Women) เครือธนาคารโลก (World Bank Group) ดับเบิลยูเอฟพี (WFP) และอนามัยโลก
เซธ เบิร์กลีย์ ประธานบริหารกาวี
“GAVI สามารถบรรลุผลสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแก่เด็กกว่า 750 ล้านคนนับตั้งแต่ปี 2543 ก็เพราะการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานทั้ง 12 แห่ง” นพ.เบิร์กลีย์ กล่าว “เราทราบดีว่าการจับมือเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นจะนำไปสู่ผลสำเร็จ อย่างไรก็ดียังคงมีช่องว่างที่เราจะต้องทำงานให้มากขึ้นเพื่อไปให้ถึงผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล ความร่วมมืออย่างเหมาะสมจะยกระดับการสาธารณสุขมูลฐานซึ่งจะนำไปสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นี่จึงเป็นเหตุผลที่แผนปฏิบัติใหม่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นการกระชับความร่วมมือระหว่างองค์กรสาธารณสุขที่มีบทบาทสำคัญในระดับโลกเพื่อพัฒนาสุขภาพและสุขภาวะสำหรับทุกคน”
นพ.มูฮัมหมัด อาลี ปาเต ผู้อำนวยการจีเอฟเอฟ
“จีเอฟเอฟสนับสนุนแผน Global Action Plan เนื่องจากตระหนักว่าความร่วมมือจะต้องเริ่มตั้งแต่ระดับประเทศและต้องสอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละประเทศ ความร่วมมือของเรามีเป้าหมายสำคัญสองประการ ได้แก่ ยกระดับความคืบหน้าในกลุ่มประเทศที่ยังคงรั้งท้ายและรับประกันว่าการสนับสนุนจากเราในฐานะหน่วยงานด้านการพัฒนาจะได้นำไปใช้เพื่อการปรับปรุงระบบสุขภาพ”
ปีเตอร์ แซนส์ ประธานบริหารกองทุนโลก
“กองทุนโลกเกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์กรต่าง ๆ ยิ่งเราร่วมมือและประสานงานกับพันธมิตรได้ดีเท่าไรก็จะยิ่งสร้างสรรค์ประโยชน์ได้มากเท่านั้น” ปีเตอร์ แซนส์ประธานบริหารกองทุนโลกเผย “เรามีพันธกิจในการทำให้แผน Global Action Plan เป็นรูปธรรม”
กูนิลลา คาร์ลสัน ประธานบริหารยูเอ็นเอดส์
“แผน Global Action Plan จะต้องนำไปสู่การลงทุนที่มากขึ้นในมาตรการสุขภาพที่ชุมชนเป็นผู้นำในทุกภูมิภาคทั่วโลก เมื่อชุมชนแข็งแกร่งก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี ในแง่โรคเอดส์นั้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการป้องกันเอชไอวีและการรักษา ลดความงมงายและการแบ่งแยก ตลอดจนปกป้องสิทธิมนุษยชน การเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งถือเป็นหัวใจสำคัญของสุขภาพที่ดีสำหรับทุกคน”
อาคิม สไตเนอร์ ผู้บริหารยูเอ็นดีพี
“แผน Global Action Plan เป็นการร่วมมือทั้งระบบซึ่งจะช่วยให้นานาประเทศเร่งรัดความคืบหน้าตามเป้าหมายการพัมนาอย่างยั่งยืนในปี 2573 และตระหนักถึงพันธสัญญาด้านสุขภาพและสุขภาวะสำหรับทุกคน”
นาตาเลีย คาเนม ผู้อำนวยการบริหารยูเอ็นเอฟพีเอ
“การรับประกันว่าระบบสุขภาพสามารถให้บริการรักษาพยาบาลสำหรับโรคทางเพศและระบบสืบพันธ์แก่ผู้หญิงและวัยรุ่นเป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีตลอดอายุขัย แผนความร่วมมือถือเป็นโรดแม็พสำหรับการวางรากฐานของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าผ่านการทำงานในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละประเทศเพื่อที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน”
เฮนรีเอตตา ฟอเร ผู้อำนวยการบริหารยูนิเซฟ
“เด็กและวัยรุ่นหลายล้านคนกำลังเสียชีวิตเพราะไม่สามารถเข้าถึงยาและการรักษาพยาบาล การสาธารณสุขที่เข้มแข็งจะต้องสามารถเข้าถึงเด็กทุกคน” เฮนรีเอตตา ฟอเร ประธานบริหารยูนิเซฟกล่าว “เรามีหน้าที่ต้องทำงานร่วมกันกับนานาประเทศและพันธมิตรเพื่อให้เป้าหมายนี้ประสบผลสำเร็จในสักวันหนึ่ง”
เลลิโอ มาร์โมรา ผู้อำนวยการบริหารยูนิตเอด
“นวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญของการบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพ การทำงานร่วมกันจะช่วยให้เราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวางแนวทางปฏิบัติเพื่อเอาชนะความท้าทาย” เลลิโอ มาร์โมรา ผู้อำนวยการบริหารยูนิตเอดเผย “แผน Global Action Plan จะช่วยให้เราสร้างผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม”
ฟุมไซล์ มลัมโบ-งุกคา ผู้อำนวยการบริหารยูเอ็นวีเมน
“ภายในปี 2573 เราคาดหวังจะส่งเสริมให้ผู้หญิงและเด็กสาวสามารถตัดสินใจและมีสิทธิในร่างกายของตนเอง รวมถึงเรื่องสุขภาพและอนาคต ตลอดจนการเข้าถึงบริการสุขภาพด้านการเจริญพันธ์และสุขภาพของมารดา ผู้หญิงและเด็กสาวควรมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตด้วยความปลอดภัยและมีความสุข ปราศจากภัยคุกคามจากความรุนแรง และได้รับประโยชน์จากกฎหมายที่ให้ความเสมอภาคทางเพศ แผน Global Action Plan จะทำหน้าที่เป็นโรดแม็พเพื่อให้ความพยายามในเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน”
แอนเน็ต ดิกสัน รองประธานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เครือธนาคารโลก
“การลงทุนด้านสุขภาพมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของแต่ละประเทศ การทำงานร่วมกับประเทศพันธมิตรโดยที่เรามีบทบาทคอยให้การสนับสนุนจะช่วยให้เราสามารถเร่งรัดความคืบหน้าด้านสุขภาพและโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน”
เดวิด เมิลโดรว บีสเลย์ ประธานบริหารดับเบิลยูเอฟพี
“เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาความอดอยากได้เลยหากผู้คนยังไม่สามารถเข้าถึงบริการที่จะช่วยให้พวกเขามีสุขภาพดีขึ้น เป้าหมายนี้ต้องดำเนินไปควบคู่กัน และนั่นก็เป็นเหตุที่ดับเบิลยูเอฟพีมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลและพันธมิตรทั่วโลกเพื่อที่จะก้าวไปสู่โลกที่ทุกคนอิ่มท้องและมีสุขภาพดี”
นพ.เทดรอส อดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก
“ที่แผนมีชื่อว่า ‘Stronger Collaboration, Better Health’ ก็มีเหตุผลอยู่ครับ” นพ.เทดรอส อดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการอนามัยโลกชี้ และว่า “ความร่วมมือกันเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จและการประกาศแผนยกระดับความร่วมมือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น”
แปลจาก Multilateral agencies launch a joint plan to boost global health goals (www.who.int)
- 1066 views