สมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 74 ถกหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วาระสำคัญ เมื่อประชาชนทั่วโลกกว่าพันล้านคนเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น

การประชุมระดับสูงของสหประชาชาติที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2019 ณ กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเด็นเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เตรียมถูกผลักดันให้เป็นประเด็นสำคัญสำหรับวาระการประชุมในครั้งนี้ เมื่อประชาชนทั่วโลกกว่าพันล้านคนไม่ได้รับบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเพียงพอ

ประชาชนจำนวนมากทั่วโลกต่างต้องประสบกับปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น โดยเฉพาะบริการสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน บริการผ่าตัดขั้นพื้นฐานและบริการวิสัญญีวิทยาทั่วไป

จากข้อมูลแล้ว ทุก ๆ ปี มีประชาชนมากกว่า 81 ล้านคนทั่วโลกปฏิเสธที่จะเข้ารับการรักษาในข้างต้นที่กล่าวมา สืบเนื่องจากราคาที่สูงเกินไปจนไม่อาจจับต้องได้ สิ่งที่ตามมาคือในแต่ละปีมีประชาชนมากกว่า 18 ล้านคนเสียชีวิตด้วยสาเหตุการเข้าไม่ถึงบริการผ่าตัดขั้นพื้นฐานและบริการสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน

แต่หลังจาก WHA68.15 หรือข้อสรุปจากการประชุมสมัชชาอนามัยโลกที่ว่าด้วยการผลักดันให้เสริมสร้างการดูแลฉุกเฉิน การผ่าตัดที่จำเป็นและวิสัญญีวิทยาทั่วไป ในฐานะที่เป็นส่วนประกอบของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกประกาศออกไปนั้น มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ได้พัฒนานโยบายสาธารณสุขของตัวเองเพื่อส่งเสริมตาม WHA68.15

ขณะเดียวกันเอง แม้รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศมุ่งเน้นที่ใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข 5% จาก GDP มวลรวมของประเทศ อีกทั้งยังเพิ่มอีก 1% ตามข้อเสนอของ WHO อย่างไรก็ตาม กลับไม่มีรัฐบาลไหนหยิบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวก็ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้งโดย นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์กรอนามัยโลก รวมทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกเห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของเรื่องดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้การประชุมระดับสูงของสหประชาชาติภายใต้ประเด็นเรื่อง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 74 จะมุ่งเน้นไปที่การยอมรับปฏิญญาทางการเมืองเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ถือเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญของอนาคตทางสาธารณสุขต่อจากนี้ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นทางการเมืองต่อไปในวาระการพัฒนาและหนทางสู่สุขภาพสำหรับทุกคนภายในปี 2030

“ไม่มีประเทศไหนจัดหาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนในชาติตัวเองได้สำเร็จ ยกเว้นแต่พวกเขาจะได้รับความมั่นคง เวลาและเข้าถึงบริการผ่าตัดในราคาที่เอื้อมถึง และนั่นหมายความว่า เป้าหมาย 9 ข้อจากทั้งหมด 13 ข้อ ในข้อที่ 3 ว่าด้วยมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) จะไม่เกิดขึ้นเลยหากเรายังไม่ปรับปรุงบริการผ่าตัด ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อประชาชนมากถึง 5 พันล้านคนทั่วโลก” นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ทิ้งท้าย

แปลจาก

Cutting Through the Political Declaration on Universal Health Coverage