รพ.ชลบุรี พัฒนาเทคโนโลยีสามมิติวางแผนการรักษา ทดแทนเอกชน ประหยัดค่าใช้จ่าย รักษาเคสประสบอุบัติเหตุแล้ว 10-12 รายต่อปี
เมื่อเร็วๆนี้ นพ.ธนะสิทธิ์ ก้างกอน นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ แผนกศัลยกรรม รพ.ชลบุรี กล่าวถึงเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติวางแผนการผ่าตัด ซึ่งจะได้รับรางวัลเลิศรัฐที่จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ในวันที่ 13 กันยายน 2562 ที่ผ่านมาว่า ส่วนใหญ่คนไข้ที่กระดูกหายไปมักเกิดจากอุบัติเหตุร้ายแรง หรือโรคมะเร็งที่กระดูก ทำให้ต้องตัดกระดูกส่วนนั้นทิ้ง เช่น กระดูกขากรรไกร โหนกแก้ม เป็นต้น ซึ่งกระดูกหายไปแล้วจะหายไปเลย ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ จึงต้องสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่การสร้างให้ขึ้นมาเหมือนเดิมเป็นเรื่องยาก ที่ผ่านมามักจะนำเอากระดูกส่วนอื่นของคนไข้มาเหลา มาเจีย มาตัด ใส่กลับเข้าไป เช่น ใช้กระดูกเชิงกราน กระดูกขา กระดูกซี่โครง แต่ก็จะไม่ได้เหมือนเดิม ทั้งขนาด ความยาว ความกว้าง มุมองศาต่างๆ เพราะเป็นการกะขนาดเอาด้วยสายตา ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์ แต่ก็ไม่แม่นยำ 100% ทำให้ต้องมาลุ้นกันว่าหลังผ่าตัดจะเป็นอย่างไร และปกติจะเกิดการผ่าตัดซ้ำเพื่อแก้ไขหลายรอบ
นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าวว่า รพ.ชลบุรี จึงนำเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยการดำเนินการจะมีอยู่ 5 ขั้นตอน คือ 1.สแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ บริเวณที่กระดูกหายไป ยกตัวอย่าง กระดูกหน้าผากยุบหายไป ก็จะทำการซีทีสแกนกระโหลกศีรษะทั้งหมด 2.ใช้โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ในการช่วยแปลงภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ให้เป็นภาพสามมิติ ซึ่งเราใช้เป็นฟรีโอเพนซอฟต์แวร์ เพราะหากใช้โปรแกรมที่เป็นลิขสิทธิ์ราคาก็จะเป็นหลักล้านบาท ซึ่งโปรแกรมฟรีโอเพนก็สามารถใช้งานได้เหมือนกัน ช่วยให้ได้ภาพอวัยวะเหมือนจริงของผู้ป่วยในรูปแบบสามมิติ
นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าวว่า 3.เมื่อได้ภาพสามมิติแล้ว ก็จะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกแบบรูปร่างชิ้นส่วนกระดูกที่หายไป ซึ่งการใช้โปรแกรมจะช่วยให้ได้ชิ้นงานที่มีความแม่นยำ ทั้งขนาด รูปร่าง มุมองศาต่างๆ ที่เมื่อนำไปประกบกับกระดูกส่วนที่หายไปจะประกบได้พอดี เช่น กระดูกหน้าผากที่ยุบหายไป หรือกระดูกเบ้าตาแตก กระดูกขากรรไกร กระดูกเชิงกราน กระดูกโหนกแก้ม เป็นต้น 4.สร้างแบบจำลองหรือโมเดลของกระดูกด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ตามลักษณะภาพสามมิติที่ได้จากโปรแกรม ทั้งตัวอวัยวะที่กระดูกหายไป ตัวกระดูกทดแทน และแม่พิมพ์กระดูกส่วนที่หายไป โดยใช้พลาสติกโพลีแลคติค แอซิด (PLA) ซึ่งเป็นเส้นพลาสติกในการหล่อโมเดลกระดูกเครื่องพิมพ์ก็จะใช้ลักษณะแบบเดียวกับปืนกาว ที่ใช้ความร้อนในการฉีดพลาสติกออกมาเป็นเส้นสร้างเป็นชั้นๆ จนได้โมเดลอวัยวะที่กระดูกหายไป และโมเดลกระดูกทดแทน
เมื่อได้ทั้งสองชิ้นงานแล้วก็จะลองนำมาประกบกันว่าเข้ากันหรือไม่ ซึ่งโมเดลกระดูกทดแทนจากพลาสติก PLA นี้ ไม่ใช่ส่วนที่จะเอาไปใส่ในร่างกายผู้ป่วย แต่ขณะนี้ในหลายประเทศอยู่ระหว่างการพัฒนาและวิจัยหาวัสดุที่จะพิมพ์ออกมาแล้วใส่ไปร่างกายผู้ป่วยได้เลยโดยไม่เป็นอันตราย ดังนั้น เมื่อโมเดลประกบกันแนบสนิทดี ก็จะสร้างแม่พิมพ์เป็นแบบฝาหอยสำหรับหลอมสร้างกระดูกทดแทนจริงขึ้น
วัสดุทางการแพทย์ที่จะใช้สร้างกระดูกทดแทนเรียกว่า PMMA หรือ โพลีเมทิลเมทาคริเลต ซึ่งเป็นวัสดุทางการแพทย์ในการสร้างกระโหลกเทียมอยู่แล้วในการผ่าตัดสมอง ซึ่งเป็นวัสดุที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีการใช้มานานกว่า 10-20 ปี ก็จะนำมาหล่อหลอมในแม่พิมพ์ที่พิมพ์ขึ้นมา จนได้เป็นชิ้นงานที่จะนำไปผ่าตัด” นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าว และ 5.การผ่าตัดแก้ไขกระดูกด้วยวัสดุทดแทนที่ผลิตขึ้นได้ เมื่อฉีดยาชา วางยาสลบ เปิดแผล ก็สามารถวางวัสดุที่ผลิตขึ้นนี้ลงไปในส่วนที่หายไปได้เลย และยึดด้วยโลหะไทเทเนียม ซึ่งจะมีความแม่นยำเรียกว่า 100% ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย และไม่ต้องกลับมาผ่าตัดซ้ำอีก
นวัตกรรมนี้ประเทศไทยมีการใช้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่จะเป็นในภาคเอกชน ซึ่งค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 5 หมื่น – 1 แสนบาท ส่วนของ รพ.ชลบุรี ถือว่าเป็นแห่งแรกที่สามารถทำได้ครบวงจรทุกขั้นตอน โดยค่าใช้จ่ายประเมินขั้นต้นไม่เกิน 1 หมื่นบาท โดย 1 ปีเฉลี่ยมีผู้ป่วยที่ต้องทำประมาณ 10-12 เคส หรือตกเดือนละเคส ซึ่งไม่ได้ทำบ่อย เพราะต้องเป็นผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจริง โดยขณะนี้ก็มีโรงพยาบาลอื่นขอให้เราช่วยทำให้ หากเป็นการผลิตวัสดุทดแทนกระดูกเลยนั้นมีประมาณ 2-3 แห่งแล้ว ส่วนที่ให้เราช่วยสร้างแบบจำลองให้เพื่อนำไปวางแผนการรักษาก็มีประมาณ 20-30 ชิ้นแล้ว
- 149 views