นายกรัฐมนตรีย้ำความสำเร็จของไทยในการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยในเวทีสหประชาชาติ เข้าถึงประชาชนในทุกระดับ และเป็นต้นแบบการพัฒนาสาธารณสุข บน 3 หลักการ คือ เท่าเทียม ประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วม พร้อมแบ่งปันประสบการณ์แก่ประเทศอื่น
วันนี้ (23 ก.ย. 2562) เวลา 9.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมเต็มคณะระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage) โดยระหว่างการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสำเร็จด้านสาธารณสุขของไทยมีพื้นฐานจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชากรเกือบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ การลงทุนด้านสุขภาพเป็นการลงทุนทั้งเพื่อปัจจุบันและอนาคต ประชาชนที่มีสุขภาพดีจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป้าหมายการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถทำได้จริง หากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ โดยแบ่งปันประสบการณ์ของไทย ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ 3 ประการ ดังนี้
1.ความเท่าเทียม รัฐบาลไทยได้พัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและรักษาโรค ซึ่งรวมถึงโรคเรื้อรังและโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ไทยจะขยายสิทธิประโยชน์ให้รวมถึงการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง สานต่อความสำเร็จของโครงการในพระดำริของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติในการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
2.ประสิทธิภาพ รัฐบาลไทยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยจัดสรรงบประมาณ 15% ของกองทุนหลักประกันสุขภาพ สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพ แม้ว่าจะมีงบประมาณจำกัด โดยเพิ่มการใช้งบประมาณจากภาษีสุราและยาสูบ และสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่น
3.การมีส่วนร่วม หัวใจสำคัญที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความยั่งยืนคือการมีส่วนร่วม
จากทุกภาคส่วนในทุกระดับ ตามแนวทางประชารัฐ ให้ทุกฝ่ายรู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมทั้งเน้นการส่งเสริมบริการสุขภาพในระดับมูลฐานที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง
ทั้งนี้ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ดียิ่งขึ้น ให้ประชากรทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชายขอบ พัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ซึ่งไทยพร้อมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้แก่ประเทศต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม และจะร่วมมือกับทุกหุ้นส่วนเพื่อขับเคลื่อนให้ประชากรโลกมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นไปด้วยกัน
*ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมผลักดันให้จัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้าเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มนโยบายต่างประเทศและสุขภาพโลก (Foreign Policy and Global Health : FPGH) ในปี 2560 โดยเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ที่ประชุมเต็มคณะของสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 72 (UNGA72) ได้รับรองข้อมติ Global Health and Foreign Policy : addressing the health of the most vulnerable for an inclusive society ซึ่งเสนอให้จัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2562
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ที่ประชุมเต็มคณะของสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 73 (UNGA73) ได้รับรองข้อมติ Scope, modalities, format and organization of the high-level meeting on universal health coverage ซึ่งกำหนดให้จัดการประชุมดังกล่าวในวันที่ 23 กันยายน 2562 โดยให้จัดการอภิปรายระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 2 รายการ ในลักษณะคู่ขนานกับการประชุมเต็มคณะด้วยเจตนารมณ์ทางการเมืองต่อการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี ค.ศ. 2030 ควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ใน ปีเดียวกัน โดยเร่งรัดให้ประเทศต่าง ๆ เพิ่มความพยายามในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนทางงบประมาณบนพื้นฐานของระบบสาธารณสุขที่แข็งแรง
ไทยสนับสนุนให้ทุกประเทศบรรลุเป้าหมายของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยไทยเป็นตัวอย่างของประเทศรายได้ต่อหัวระดับปานกลางที่ประสบความสำเร็จ
รวมทั้ง ส่งเสริมการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ก่อให้เกิดความเท่าเทียมและไม่ทิ้งใคร ไว้ข้างหลัง มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วม
ทั้งนี้ ไทยพร้อมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการบริการสาธารณสุขและการสร้าง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับประเทศต่าง ๆ เพื่อให้นำไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งรวมถึงในรูปแบบของความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation) หรือความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา
- 22 views