สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายสุขภาพ จัดงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย วันที่ 17 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในเวทีเสวนามีหัวข้อ "Patient and Personnel Safety Speak Up สัมผัสเรื่องราว Patient and Personnel Safety Goals จากบทเรียนสำคัญและนำสู่การปฏิบัติ" ซึ่งเป็นการเชิญทั้งผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงานมาบอกเล่าประสบการณ์ที่ได้รับเกี่ยวกับความปลอดภัยในการให้บริการและรับบริการ
น.ส.ภิญญามาศ โยธี
น.ส.ภิญญามาศ โยธี หนึ่งในผู้ได้รับความเสียหายจากความผิดพลาดทางการแพทย์ ได้บอกเล่าประสบการณ์ในประเด็น "“เมื่อฉันมาคลอด ฉันอยากให้ลูกเกิดรอดและฉันปลอดภัย” โดยกล่าวว่า ในปี 2546 ตนตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกและไปคลอดที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ผลการตรวจพบว่าครรภ์สมบูรณ์ เด็กสมบูรณ์ดี แต่แพทย์แจ้งว่าเด็กไม่กลับหัวและโอกาสที่จะกลับหัวก็น้อยมาก
กระทั่งตอนตรวจครรภ์ครั้งสุดท้าย แพทย์บอกว่าเด็กไม่กลับหัวจริงๆ แต่ก็สรุปว่าแม่แข็งแรง เด็กแข็งแรง สามารถคลอดเองได้ เมื่อเข้าห้องคลอดก็ให้เบ่งคลอดตามธรรมชาติ ตอนนั้นตนเบ่งคลอดจนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ขอหมอให้ผ่าคลอดให้ แต่แพทย์ก็บอกว่ายังคลอดเองได้ ตนเบ่งคลอดต่อจนความดันขึ้น สุดท้ายแพทย์บอกว่าต้องผ่าคลอดฉุกเฉิน เมื่อผ่าคลอดแล้ววันต่อมาก็ได้คำตอบว่าเด็กเสียชีวิต
"คำถามในใจคือทำไมลูกต้องเสียชีวิต ทำไมไม่ผ่าคลอดให้ในเมื่อเราก็แจ้งว่าร่างกายเราแย่แล้ว" น.ส.ภิญญามาศ กล่าว
น.ส.ภิญญามาศ กล่าวต่อไปว่า ตอนนั้นผู้อำนวยการโรงพยาบาลยอมรับว่าเกิดความผิดพลาดที่ทำคลอดช้าไป แต่ตนเห็นถึงความรับผิดชอบที่โรงพยาบาลมีให้ เห็นถึงความรู้สึกผิด ทางผู้อำนวยการแจ้งว่าจะเรียกร้องค่าเสียหายอะไรก็ขอให้แจ้งได้เลย ค่าใช้จ่ายในการทำคลอดก็รับผิดชอบให้ ตนซึ่งแม้จะเสียเด็กไปแต่ก็ยังรู้สึกว่าได้รับสิ่งดีๆและยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ตอนออกจากโรงพยาบาลก็ไม่ได้เรียกร้องค่าเสียหายและไม่ทำให้เกิดเรื่องเลย แต่กระนั้นลึกๆในใจก็รู้สึกว่าจะไม่กลับมาที่นี่อีกเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย
5 ปีต่อมาประมาณปี 2550 ตนก็ตั้งครรภ์อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันที่ขาซ้ายด้วยจึงกังวลว่าจะท้องได้หรือไม่ กลัวลูกออกมาไม่สมบูรณ์ ตอนนั้นตนไปรับบริการที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งตามสิทธิประกันสังคม แพทย์ที่รักษาโรคลิ่มเลือดอุดตันบอกว่าสามารถตั้งครรภ์ได้แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการรักษาจากเดิมทานยาก็ต้องฉีดยาแทน
ทั้งนี้ด้วยความที่โรงพยาบาลดังกล่าวเป็นโรงพยาบาลเอกชน มีค่าใช้จ่ายสูง ตนจึงถูกส่งตัวมาโรงพยาบาลเดิมที่เสียลูกไปในครั้งแรกโดยไม่สามารถปฏิเสธได้ เมื่อมาโรงพยาบาลเดิมจนอายุครรภ์ได้ 5 เดือน แพทย์ก็เปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นการทานยา
"เรารวบรวมความกล้าถามแพทย์ว่าทำไมให้ทานยา ในเมื่อได้รับคำปรึกษามาว่าต้องได้รับยาฉีดซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวของการรักษาหญิงตั้งครรภ์ สุดท้ายคำถามเราไม่ได้มีผลอะไรเลย แพทย์บอกว่ารักษาที่ไหนก็ต้องยอมรับการรักษาที่นั่น คำพูดนี้ทำให้เราต้องหยุดความสงสัยทุกอย่าง" น.ส.ภิญญามาศ กล่าว
น.ส.ภิญญามาศ กล่าวต่อไปว่ายาที่แพทย์จ่ายให้ทานนั้นมีข้อความเขียนติดซองยาว่าห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ทำให้ตนรู้สึกแย่มากๆ คำถามที่เกิดขึ้นคือลูกจะปลอดภัยหรือไม่ อยากบอกหมอว่าไม่อยากทานแต่ก็ไม่มีผล เอายาไปปรึกษาเภสัชกรของโรงพยาบาล แพทย์ก็ยังยืนยันว่าต้องทาน
"คำเดียวที่ทำให้ยอมทานคือแพทย์บอกว่าถ้าไม่ทาน เลือดจะไปเลี้ยงสมองเด็กไม่พอ ก็เลยยอมทาน พอทานไปได้เดือนครึ่งอาการออกชัดเจน ท้องไม่แข็ง เด็กไม่ดิ้น มีอาการน้ำท่วมสมอง เราถามกลับไปว่าเป็นเพราะยาใช่หรือไม่ แพทย์ก็ตอบไม่ได้ เพียงแต่บอกว่าขอให้เด็กคลอดออกมาก่อน มันเป็นความรู้สึกที่ทรมานมากที่รู้ว่ามีลูกพิการอยู่ในท้อง ชีวิตตอนนั้นมันมืดไปหมด หาทางออกให้ตัวเองไม่ได้ นอกจากนี้ผลกระทบยังรวมถึงชีวิตคู่ ไม่รู้จะบอกสามีอย่างไรว่าลูกได้รับผลกระทบแล้ว ไม่กล้าบอกสามี กลัวเขารับไม่ได้" น.ส.ภิญญามาศ กล่าว
เมื่อถึงวันคลอด เด็กที่คลอดออกมาก็พิการ หูหนวก ตาบอด ไม่มีพัฒนาการ ที่แย่ว่านั้นพอลูกคลอดออกมาได้ 5 เดือนก็แยกทางกับสามีจริงๆ ตนต้องออกมาใช้ชีวิตกับลูกตามลำพังโดยไม่มีจุดหมายปลายทางอะไรเลย
เหตุการณ์นี้ทำให้ น.ส.ภิญญามาศ ตัดสินใจลุกขึ้นสู้ เริ่มจากถามผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นเพราะยาใช่หรือไม่ ทั้งๆที่หน้าซองก็เขียนไว้ชัดเจน แต่ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ ไม่มีเลย ตนต้องเป็นคนบ้าตระเวนตามหน่วยงานรัฐ 3-5 แห่งเพื่อร้องเรียนแต่ก็ไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น สุดท้ายเรื่องนี้ต้องจบด้วยการขึ้นศาลเพราะหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องช่วยไม่ได้ ตนถามตัวเองว่าจบแค่ ป.6 จะเอาอะไรไปสู้ในศาล คำตอบคือเอาความเป็นจริงที่เกิดขึ้นไปต่อสู้
"วันที่ขึ้นศาล ดิฉันโดนผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่อว่าว่าเป็นตัวที่ทำให้วิชาชีพของแพทย์ทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ คุณหมอที่รักษาแล้วเกิดความผิดพลาดก็ใช้ชีวิตไม่ปกติ แต่ผู้อำนวยการเคยถามดิฉันไหมว่าต้องเจออะไรบ้าง ต้องอดมื้อกินมื้อ โดยไล่ออกจากบ้านเช่า เราต้องพยายามประคองตัวเองให้อยู่รอดให้ได้ วันที่โดยผู้อำนวยการต่อว่า ดิฉันยกมือไหว้คุณหมอต่อหน้าศาล บอกว่าขอโทษนะคะถ้าชีวิตหนูกับลูกหนูไปทำร้ายหน้าที่คุณหมอ แต่หนูก็ไม่รู้จะทำอย่างไรถ้าหนูไม่หาความยุติธรรมตรงนี้" น.ส.ภิญญามาศ กล่าว
สุดท้ายแล้วศาลก็ตัดสินให้ตนชนะ อย่างไรก็ตาม คดีนี้ศาลก็ไม่ได้กล่าวโทษแพทย์ว่าทำผิดแต่อย่างใด
น.ส.ภิญญามาศ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันเลวร้ายมาก ถามว่าอยู่มาได้อย่างไร ตนต้องตัดความแค้นและสิ่งที่เจ็บปวดออกไปจากใจ แม้คำถาม ณ วันนั้นจะไม่ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าวันนั้นหมอมีคำตอบกลับมาว่าทานยานี้แล้วจะมีผลกระทบอะไรและจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง นี่คือส่วนหนึ่งที่ทำให้สามารถยอมรับสภาพและจัดสรรชีวิตได้ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป
น.ส.ภิญญามาศ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนอยากให้มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาดูแลเรื่องความผิดพลาดอย่างจริงจังเสียที ตนเคยร่วมผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยรองรับผู้เสียหายได้
"ขอวิงวอนให้ผู้หลักผู้ใหญ่และหน่วยงานรัฐมองเห็นประโยชน์ตรงนี้ทั้งของคนไข้และแพทย์ คนไข้ไม่ได้แย่ทุกคน ถ้าเราทำให้เขายอมรับสภาพที่เขาเป็นอยู่ได้ มันจะดีมาก ดีกว่าเราปฏิเสธมัน" น.ส.ภิญญามาศ กล่าว
- 212 views