อย. ร่วมกับ บก.ปคบ ได้สนธิกำลังทลายแก๊งเครือข่ายลักลอบนำเข้า โบท็อกซ์ - ฟิลเลอร์ หลายยี่ห้อ ลักลอบจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ผ่านสื่อแอปพลิเคชัน LINE ชื่อ TID - KHEM เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ เสี่ยงได้รับอันตราย และเสียโฉมได้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตรวจพบยาที่ไม่ขึ้นทะเบียน และสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า มูลค่าของกลางกว่า 10 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ ผู้บังคับการ บก.ปคบ. พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผู้กำกับการ 4 บก. ปคบ. ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.ธีรภพ พันธุชาติ พร้อมทีมงาน ร่วมกันนำกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมาย บ้านเลขที่ 141/516 ชั้น 27 คอนโด เบลล่า เอเวนิว ถนนพระราม 9 แขวง/เขต ห้วยขวาง กรุงเทพฯ
นพ.ธเรศ กล่าวว่า กรณีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สนธิกำลังเข้าจับกุมในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 ได้มีการแถลงข่าวจับกุมเครือข่ายบริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาละเมิดเครื่องหมายการค้าในพื้นที่เป้าหมาย ลักษณะเป็นห้องคอนโดมิเนียมที่ใช้เป็นแหล่งพักสินค้า จำหน่ายให้กับลูกค้าหลายกลุ่ม หลังจากนั้นได้มีการขยายผลสืบสวนแกะรอยเส้นทางการกระทำผิดจนกระทั่งพบเบาะแสใหม่ ซึ่งเป็นข้อมูลผู้ที่ลักลอบขายฟิลเลอร์ ผ่านสื่อแอปพลิเคชัน LINE ชื่อ TID - KHEM เพื่อทำการติดต่อซื้อโบท็อกซ์ และฟิลเลอร์ พร้อมทั้งยังได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อทำการสืบสวนเชิงลึก จนกระทั่งพบต้นตอของผู้ที่กระทำความผิด จึงนำไปสู่การเข้าตรวจค้นเป้าหมาย โดยการตรวจค้นในครั้งนี้ พบของกลางแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. ยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา เช่น วิตามินบีรวมชนิดฉีด เช่น โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ 2. กลุ่มยาไม่มีทะเบียน เช่น โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ คอลลาเจน กลูตาไธโอน วิตามินซีไลโป และ 3. เครื่องสำอางที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย และเครื่องสำอางที่แสดงฉลากภาษาไทยไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ดังนี้
1.นำเข้าและขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.นำเข้าและขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 จำหน่ายเครื่องสำอางที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทยและเครื่องสำอางที่แสดงฉลากภาษาไทยไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
1.จำหน่าย เสนอจำหน่าย มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.จำหน่าย เสนอจำหน่าย มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560
นอกจากนี้ ยังมีความผิดตามกฎหมายของศุลกากรฐานนำเข้าของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศุลกากร โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับ 4 เท่า ของราคาของที่รวมค่าอากรด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับและริบของนั้นด้วย
นพ.สุรโชค กล่าวว่า อย. พร้อมร่วมมือกับทาง บก.ปคบ. กวาดล้างยาไม่มีทะเบียนตำรับยา และ สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ทราบว่าผลิตที่ใด สถานที่ผลิตได้มาตรฐานหรือไม่ ตัวยาเป็นตัวยาจริงหรือไม่ อาจมีการปนเปื้อนสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตราย การเก็บรักษาไม่อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม อาจส่งผลต่อคุณภาพของตัวยาที่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยขอย้ำเตือนไปยังผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และสถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้งแพทย์ผิวหนังแพทย์ศัลยกรรม แพทย์ด้านความงาม จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ต้องมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพต้องใช้ยาที่มีทะเบียนตำรับยา และให้การบริการเป็นไปตามมาตรฐานด้วย หากพบการกระทำความผิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย กรณีพบแพทย์เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเสียเอง จะต้องถูกส่งไปยังแพทยสภาให้ดำเนินการเอาผิดทางจรรยาบรรณแพทย์ต่อไป
พล.ต.ต. ศิร์ธัชเขต กล่าวว่า การปราบปรามผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา นับเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะในการบูรณาการ และสนธิกำลังร่วมกันเข้าตรวจค้นในครั้งนี้ ได้ตรวจยึดสินค้าที่เป็นยา และผลิตภัณฑ์เสริมความงามจำนวนมาก ซึ่งสินค้าดังกล่าวมีผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของผู้บริโภคโดยตรง ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะอาจกระทบต่อการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าทำให้สินค้าของไทยบางรายการไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เนื่องจากประเทศไทยได้รับการจัดอันดับ ตามมาตรา 301 พิเศษ ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้อยู่ในระดับ Watch List (WL) ซึ่งมุ่งหวังจะให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากทุกบัญชีที่ถูกจับตามองของต่างประเทศ และพร้อมที่จะประสานให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ หรือภาคเอกชน โดยจะร่วมมือกันปราบปรามผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายและการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย
ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า ขอเตือนประชาชนโดยเฉพาะสาว ๆ ทั้งรุ่นเล็ก และรุ่นใหญ่ ให้ระมัดระวังการเข้ารับบริการ หากมีความประสงค์ที่จะฉีดสารใด ๆ เพื่อความสวยงาม ควรเข้ารับบริการฉีดกับสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาล ตามกฎหมาย เลือกคลินิกที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและต้องอยู่ประจำ ก่อนการฉีดควรสอบถามและขอดูตัวยาที่ใช้ว่ามีการอนุญาตขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจาก อย. หรือไม่ และขอย้ำเตือนไปยังผู้บริโภคอย่าซื้อยาไปใช้เอง หรือฉีดกับหมอเถื่อน อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เพราะการฉีดยาบนใบหน้าต้องดำเนินการโดยแพทย์ที่มีความรู้ด้านกายวิภาคบนใบหน้าเป็นอย่างดี เนื่องจากบนใบหน้ามีกล้ามเนื้อเล็ก ๆ และเส้นเลือดมากมาย จึงต้องฉีดด้วยความระมัดระวัง หากเกิดอันตรายจากการแพ้ ทางสถานพยาบาลจะได้รับผิดชอบและช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ที่ผ่านมา อย. ได้ตรวจสอบคลินิกและสถานพยาบาลเสริมความงาม พบว่ามีการนำสาร โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ คอลลาเจน กลูตาไธโอน ที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนมาใช้ในสถานพยาบาล ซึ่ง อย. มีการตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ผิดกฎหมายอยู่เสมอ และหากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย หรือพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail:1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือ Line @FDAthai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะได้ทำการตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดต่อไป
- 285 views