นักวิชาการผุดไอเดียทำเลนมอเตอร์ไซค์ พร้อมเสนอรัฐลงทุน 1.47 พันล้านบาท ปรับปรุงถนนให้ได้มาตรฐาน 3 ดาวสำหรับผู้ใช้งานทุกประเภท จะสามารถลดการสูญเสียชีวิตได้มากถึง 8,930 รายต่อปี ย้ำคุ้มค่า ลดอุบัติเหตุเจ็บ-ตาย ด้านมาเลเซียชูความสำเร็จสร้างเลนจักรยานยนต์บนทางหลวง ลดอุบัติเหตุมากถึง 39%
รศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล
รศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 14 “เดิน ขี่ ขับ ไป-กลับ ปลอดภัย” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กรมการขนส่งทางบก ว่า อัตราการเสียชีวิตจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ของประเทศไทยอยู่ที่ระดับมากกว่า 30 ต่อประชากรแสนคนมาโดยตลอด ตั้งแต่โครงการ ThaiRAP เริ่มศึกษามาตรฐานความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทยเมื่อปี 2554 ตัวเลขดังกล่าวยังตอกย้ำผลการศึกษาและผลประเมินถนนของไทยที่ตอบโจทย์เพียงความปลอดภัยของการขับขี่รถยนต์เป็นหลักแต่ยังไม่ครอบคลุมกลุ่ม “ผู้เปราะบางบนท้องถนน” (Vulnerable Road Users: VRUs) โดยเฉพาะผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่มีมากถึง 60 ล้านคัน โดยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิตสูง
“หากประเมินถนนประเทศไทยโดยใช้มาตรฐานของ iRAP จะพบว่ามากกว่า 80-90% อยู่ในระดับ 1-2 ดาวเท่านั้น นับว่าอันตรายกับผู้ใช้ถนนเช่นคนเดินเท้าและคนขับมอเตอร์ไซค์ ถ้าเราลงทุนเพียง 0.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือราว 1,470 ล้านบาทในการปรับปรุงถนนให้ได้มาตรฐาน 3 ดาวสำหรับผู้ใช้งานทุกประเภท จะสามารถลดการสูญเสียชีวิตได้มากถึง 8,930 รายต่อปี การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตที่จะลดลงในช่วง 20 ปีจะมีมากกว่า 1.96 ล้านราย” รศ.ดร.เกษม กล่าว
นายอัลวิน ปอย ไหว ฮุง
นายอัลวิน ปอย ไหว ฮุง หัวหน้าหน่วยวิศวกรรมจราจรและทางหลวง สถาบันวิจัยความปลอดภัยทางถนนแห่งมาเลเซีย กล่าวว่ามาเลเซียเริ่มนำนโยบายเลนรถจักรยานยนต์มาใช้เมื่อปี 2548 เพื่อลดปัญหาการใช้ความเร็วเกินกำหนด โดยเริ่มจากการปรับปรุงถนนทางหลวงระยะทาง 150 กิโลเมตร ให้เลนมีความกว้างประมาณ 2-2.5 เมตร สำหรับรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะ มาตรการดังกล่าวช่วยลดอุบัติเหตุได้ถึง 39% ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อสร้างเลนมอเตอร์ไซค์ขนาดความกว้างประมาณ 3 เมตรในถนนเส้นทางอื่น นอกจากเรื่องเลนรถจักรยานยนต์แล้ว ปัจจัยอื่น ๆ เช่น แสงไฟ จุดกลับรถ ถนนทางหลวงระดับจังหวัด อำเภอและตำบลที่ออกแบบไม่ดีควรได้รับการปรับปรุงดูแล เพื่อความปลอดภัยของการจราจรและการใช้ถนนตลอดเส้นทาง
นายจอห์น แชตเทอร์ตัน
นายจอห์น แชตเทอร์ตัน รอส เลขาธิการสหพันธ์รถจักรยานยนต์นานาชาติ กล่าวว่า อีกหนึ่งมาตรการที่ประเทศไทยควรมีคือข้อบังคับการติดตั้งระบบ anti-lock braking system: ABS เบรคเอบีเอสควรติดที่บริเวณล้อหน้าของรถจักรยานยนต์ขนาด 120 ซีซีขึ้นไปจากโรงงานผลิตเพื่อยกระดับความปลอดภัยในระบบการจัดการความปลอดภัยโดยภาครัฐ สำหรับด้านพฤติกรรมจำเป็นต้องมีกฎหมายและข้อบังคับ ยกตัวอย่างเช่นประเทศอังกฤษ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ขนาด 125 ซีซีขึ้นไป จำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นเวลา 6 ชั่วโมง และต้องผ่านการทดสอบต่างๆ จึงจะได้รับใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ได้ และผู้ขับขี่ต้องต่อใบอนุญาตทุกๆ 2 ปีและเสียค่าธรรมเนียมในราคาสูงมาก ทำให้ลดจำนวนผู้ขับขี่ไปโดยปริยาย ทั้งนี้สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยที่มีโรงงานผลิตจักรยานยนต์ที่ได้มาตรฐานระดับโลก แรงงานมีทักษะและประสบการณ์มาก
- 72 views