กระทรวงสาธารณสุข พบประชาชนนิยมเข้าร้านกาแฟโดยเฉลี่ยถึง 6 ครั้งต่อเดือนเร่งพัฒนาสถานที่จำหน่ายอาหาร “กลุ่มร้านกาแฟ แฟรนไชส์” รองรับกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 เพื่อพัฒนาสถานที่จำหน่ายอาหารกลุ่มร้านกาแฟให้มีสุขลักษณะที่ดีและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
12 กันยายน 2562 นายเรวัต อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 “กลุ่มร้านกาแฟแฟรนไชส์” เพื่อรองรับกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า คนไทยนิยมเข้าร้านชา กาแฟ เฉลี่ย 6 ครั้งต่อเดือน ซึ่งมีอัตราการเข้าถึงของร้านกาแฟอยู่ที่ร้อยละ 60 ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครมีอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับต่างจังหวัดที่พบร้อยละ 53 โดยเฉพาะผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครเข้าร้านกาแฟเฉลี่ยถึง 8 ครั้งต่อเดือน เหตุผลหลักคือช่วยสร้างความสดชื่นและตื่นตัวระหว่างวัน นอกจากนี้ สัดส่วนของกลุ่มที่ดื่มกาแฟเพราะแบรนด์ของกาแฟมีจำนวนที่โตขึ้นนอกเหนือจากคุณภาพและการบริการที่ดี ดังนั้น ถ้าสถานที่จำหน่ายอาหารที่เป็นกลุ่มร้านกาแฟไม่ถูกสุขลักษณะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมีหรือโลหะหนักส่งผลต่อสุขภาพประชาชนได้
“กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยจึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 “กลุ่มร้านกาแฟแฟรนไชส์” เพื่อรองรับกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 ในครั้งนี้ขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาคเอกชนกลุ่มร้านกาแฟกว่า 30 แฟรนไชส์ เข้าร่วมประชุมเพื่อพัฒนาระบบรูปแบบและกลไกการขับเคลื่อนกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 และส่งเสริม สนับสนุนการมี ส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายภาคเอกชนในการขับเคลื่อนกฎกระทรวงฯ ให้เกิดความเข้มแข็งและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการต้องเข้ารับการอบรม 6 ชั่วโมง และผู้สัมผัสอาหารต้องเข้ารับการอบรม 3 ชั่วโมง เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหารภายใน 2 ปี อีกทั้งต้องนำหลักฐานการรับรอง ที่หน่วยงานจัดการอบรมออกให้มายื่นต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้ขออนุญาตเป็นสถานที่จำหน่ายอาหาร สำหรับหลักฐานการรับรองผ่านการอบรมคือบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหารหรือวุฒิบัตรจะมีอายุ 3 ปี และสามารถใช้แสดงเป็นหลักฐานในการขออนุญาตประกอบกิจการสถานที่จำหน่ายอาหารได้ทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบกิจการต้องจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการอบรมทุกคนเก็บไว้ ณ สถานที่จำหน่ายอาหารของตน พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจสอบได้” นายเรวัติ กล่าว
ทางด้าน นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้กำหนดมาตรการในการจัดการสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร โดยให้ราชการส่วนท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น เข้ามาควบคุม ดูแล สถานที่จำหน่ายอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ออกข้อกำหนดท้องถิ่นเพื่อใช้ในการควบคุมกำกับสถานที่จำหน่ายอาหารในเขตรับผิดชอบให้ถูกสุขลักษณะ โดยมีกรมอนามัยให้การสนับสนุนเป็นที่ปรึกษาทางด้านมาตรฐานวิชาการและปัญหาข้อกฎหมายต่าง ๆ และเพื่อพัฒนาสถานที่จำหน่ายอาหารมีสุขลักษณะที่ดีและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยมีสาระสำคัญที่ ดังนี้
1) สุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สำหรับบริโภคอาหาร เช่น พื้น ผนัง เพดาน แสงสว่าง น้ำเสีย มูลฝอย ส้วม อ่างล้างมือ การป้องกันควบคุมสัตว์และแมลงนำโรค 2) สุขลักษณะของอาหาร กรรมวิธีการทำ ประกอบหรือปรุง การเก็บรักษาและการจำหน่ายอาหาร ให้สะอาด ปลอดภัย จัดเก็บอย่างถูกสุขลักษณะ น้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำแข็ง ถูกต้องตามข้อกำหนดและห้ามใช้ก๊าซหุงต้มบนโต๊ะรับประทานอาหาร
3) สุขลักษณะของภาชนะ อุปกรณ์ และเครื่องใช้อื่น ๆ ต้องมีความสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และต้องจัดให้มีช้อนกลาง สำหรับอาหารที่รับประทานร่วมกัน และ 4) สุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร ต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงซึ่งเป็นเรื่องสำคัญโดยผู้ประกอบกิจการต้องเข้ารับการอบรมและมีหน้าที่จัดให้ผู้สัมผัสอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารของตนเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดซึ่งบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 25 เมษายน 2562
- 107 views