ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาฯ เผยตัวเลขผู้ผิดปกติจากการใช้กัญชา พบแนวโน้มมากขึ้น แนะใช้ให้ถูกต้องตามข้อบ่งชี้ ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น
ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่เอกสารเรื่อง “ข้อระวังการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา” เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 โดยมีสาระสำคัญว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยนั้น ควรใช้ด้วยความเข้าใจ ถูกข้อบ่งใช้ และมีการดูแลแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ผู้ป่วยและญาติควรต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคและยาที่ใช้เป็นอย่างดี ผลิตภัณฑ์ที่ใช้จะต้องมีมาตรฐาน มีข้อมูลการตรวจสอบความปลอดภัยและปริมาณเนื้อสารที่ชัดเจน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการรักษาพยาบาลที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และลดการบาดเจ็บจากการใช้ผลติภัณฑ์กัญชาที่ไม่เหมาะสม
เอกสาร ระบุอีกว่า จากข้อมูลของศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีที่ได้ให้คำปรึกษากรณีผู้ป่วยหรือผู้ที่บาดเจ็บจากพิษต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง พบว่าตั้งแต่มกราคม พ.ศ. 2561 จนถึงพฤษภาคม 2562 มีจำนวนผู้บาดเจ็บจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ปรึกษามายังศูนย์พิษวิทยาฯ ทั้งหมด 302 ราย โดยมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นการเจ็บป่วยจากการสัมผัสผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชา
“ผู้ป่วยทั้งหมด 302 ราย อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยจากผลิตภัณฑ์กัญชาได้แก่ ใจเต้นเร็ว 133 ราย ใจสั่น 110 ราย ความดันโลหิตสูง 110 ราย มึนศีรษะ 106 ราย คลื่นไส้ 76 ราย อาเจียน 75 ราย กระวนกระวาย 49 ราย ซึม 43 ราย ในจานวนนี้มีผู้ป่วยที่ชัก 4 ราย และโคม่า 4 ราย” เอกสาร ระบุ
นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ป่วยที่สัมผัสผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชา 240 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้ผลิตภัณฑ์น้ำกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ตรงกับข้อบ่งชี้ของกรมการแพทย์ เช่น ช่วยการนอนหลับ (45 ราย) ทดลองใช้โดยไม่ได้จะรักษาหรือบรรเทาอาการใด (32 ราย) ลดอาการปวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาการปวดประสาท (28 ราย) รักษาโรคมะเร็ง (20 ราย) ป้องกันโรคมะเร็ง (12 ราย) รักษาเบาหวาน (12 ราย) บำรุงร่างกาย (12 ราย) รักษาความดันโลหิตสูง (10 ราย) และคลายเครียด (6 ราย)
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกข้อบ่งชี้ที่สามารถใช้กัญชาในการรักษา 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด 2. โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา 3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis) 4. ภาวะปวดประสาท (neuropathic pain)
เพื่อให้การใช้กัญชามีประโยชน์สูงสุดและเกิดความปลอดภัยมากที่สุด
ท้ังนี้ข้อบ่งชี้ทั้ง 4 ข้อนี้ จะต้องสั่งจ่ายโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรกัญชาทางการแพทย์ของกรมการแพทย์เท่านั้น และไม่ให้ใช้เป็นยาเริ่มต้น
อนึ่ง กรมการแพทย์ได้ประกาศข้อห้ามการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี THC เป็นส่วนประกอบ 4 ข้อได้แก่
1. ผู้ที่มีประวัติแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสกัดกัญชา
2. ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีอาการยังไม่คงที่รุนแรงของ (unstable cardio-pulmonary disease เช่น angina, peripheral vascular disease, cerebrovascular disease และ arrhythmia) หรือ มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอด เลือดหัวใจ
3. ผู้ที่เป็นโรคจิตมาก่อน หรือมีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน (concurrent active mood disorder) หรือ โรควิตกกังวล (anxiety disorder)
4. หลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตร รวมถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิด หรือสตรีที่วางแผนจะตั้งครรภ์ เนื่องจากมีรายงานการศึกษาพบว่ามีทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย รวมถึงพบ cannabinoids ในน้ำนมแม่ได้
- 498 views