จบไปแล้วสำหรับการรับสมัครประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน "อสม.ออนไลน์" ปีที่ 3 ซึ่งปีนี้เปิดให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และหน่วยบริการปฐมภูมิอื่นๆสมัครได้ถึงสิ้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา หลังจากนี้ไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2562 จะเป็นช่วงระยะเวลาการใช้งานแอปฯที่จะนำมาพิจารณาให้คะแนน แล้วประกาศรางวัลในวันที่ 25 ธ.ค. 2562
พูดง่ายๆ ก็คือช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่หน่วยบริการทั้งหลายจะใช้งานแอปฯอสม.ออนไลน์อย่างจริงจังเพื่อเก็บคะแนนนั่นเอง ซึ่งในปีที่ผ่านๆมามีหลาย รพ.สต. ที่นำแอปฯ อสม.ออนไลน์ ไปใช้งานได้อย่างน่าประทับใจ โดย รพ.สต.บ้านปากคลอง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ว่านี้เพราะสามารถนำแอปฯมาประยุกต์กับงานของ รพ.สต. ทุกงานจนผลงานตามตัวชี้วัดดีขึ้น อสม.มีศักยภาพและได้รับความเชื่อถือจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น จนสามารถคว้ารางวัลดีเด่นระดับประเทศมาครองได้ 2 ปีซ้อน
นายเจริญ คำนวล ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านปากคลอง
นายเจริญ คำนวล ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านปากคลอง กล่าวถึงบริบทของว่า รพ.สต. มีพื้นที่รับผิดชอบ 5 หมู่บ้านกับอีก 5 ชุมชน มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ 4,000 คน อสม.ประมาณ 100 คน ปัญหาสุขภาพก็เหมือนกับแนวโน้มของประเทศคือโรค NCDs ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือด หลอดเลือดสมองตีบ อันเป็นผลจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปและออกกำลังกายน้อยลง สิ่งที่ตามมาคือมีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง
นายเจริญ กล่าวต่อไปว่า การทำงานก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องความล่าช้าในการรับส่งข้อมูล ตนจึงพยายามหารูปแบบการสื่อสารที่ตอบสนองการทำงานให้ดีขึ้น มีช่วงหนึ่งที่ใช้ระบบไลน์แต่ก็พบข้อจำกัดคือข้อมูลที่ รพ.สต.สั่งการไปและ อสม.ตอบกลับมาถูกกลบด้วยรูปสวัสดีตอนเช้าต่างๆ จนต้องไปนั่งเลื่อนหาว่าที่สั่งไปคืออะไร กระทั่งในการประชุมประจำเดือนของอำเภอวันหนึ่ง ทางเจ้าหน้าที่จากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ขอใช้เวลาสั้นๆเข้ามาแนะนำแอปฯดังกล่าว ตนรู้สึกสนใจจึงกลับไปศึกษาเพิ่มเติม ทดลองสมัครใช้งานจนรู้สึกแน่ใจว่าแอปฯนี้ตอบสนองความต้องการในการทำงานได้จึงเริ่มดึง อสม. เข้ามาใช้งานทีละคนสองคน เริ่มจากกลุ่มที่ชอบส่งรูปสวัสดีตอนเช้าทั้งหลายก่อนแล้วใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการกระจายให้ อสม.ใช้งานจนครบทั้งระบบ
ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านปากคลอง กล่าวว่า แอปฯอสม.ออนไลน์ กลายมาเป็นช่องทางการสื่อสารหลัก ทั้งนัดประชุม รายงานประจำเดือน รายงานกิจกรรมประจำสัปดาห์ การประยุกต์ใช้งานก็ใช้กับทุกๆงานของ รพ.สต. ในทุกมิติทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษา ฟื้นฟู เช่น การเยี่ยมคนไข้ติดเตียง เยี่ยมผู้สูงอายุ สำรวจลูกน้ำยุงลาย หรือแม้แต่ใช้ติดต่อสื่อสารกรณีภัยพิบัติน้ำท่วมเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ วางแผนและประสานขนย้ายผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และที่ใช้บ่อยอีกอย่างคือการส่งข้อมูลข่าวสารให้ อสม.นำไปเผยแพร่แก่ชาวบ้านต่อโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพเท่านั้น โดยตนมีเคล็ดลับคือต้องอ่านข่าวสารข้อมูลเหล่านี้ให้เข้าใจก่อน แล้วค่อยเรียบเรียงเขียนขึ้นใหม่ให้เข้าใจได้ง่าย
"ผมเป็นคนชอบเขียน เมื่ออ่านมาเราก็สรุปใจความแล้วก็เขียนให้เข้าใจง่ายๆ สไตล์การเขียนชวนให้ อสม.ติดตาม เช่น ไข้ฉี่หนู ให้ อสม.ท่องให้ขึ้นใจคือมีไข้+ปวดน่อง หรือหลังน้ำลดน่าจะมีโรคอะไรตามมา เราก็พยากรณ์โรคให้ อสม.เฝ้าระวัง ดูว่าชาวบ้านคนไหนที่มีความเสี่ยง การนำข้อมูลการระบาดที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นมาเล่าให้ฟัง อสม.ก็เชื่อมั่นว่าเราสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ หรืออย่างข้อมูลเรื่องการประกอบอาชีพ ลมฟ้าอากาศ เราก็ดูข้อมูลพยากรณ์อากาศแล้วบอกชาวบ้านว่าควรตากข้าวช่วงไหน แล้วแต่ว่าจะไปเจอข่าวสารอะไรที่เห็นว่าสำคัญ ชาวบ้านควรจะรู้ก็จะบอกผ่านไปทาง อสม. อย่างการขอบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเราก็แจ้งข้อมูลให้ อสม. วันรุ่งขึ้นทางผู้ใหญ่บ้านยังไม่ได้รับเอกสารสักแผ่น แต่ อสม.เราสามารถเช็คได้เลยว่าบ้านไหนเข้าเกณฑ์บ้าง ซึ่งการทำในลักษณะนี้ข้อดีคือทำให้ อสม.ได้รับความเชื่อถือ กลายเป็นว่าพวกนี้รู้ทุกเรื่องเลย อย่างกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ชาวบ้านไปสมัครกันเยอะจนธนาคารแปลกใจเพราะเราแจ้งให้เข้าใจง่ายๆ ว่ามันคืออะไร สะสมไปตอนนี้พออายุมากแล้วจะได้อะไร เรื่องอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์กับเขา" นายเจริญ กล่าว
นอกจากนี้ แอปฯอสม.ออนไลน์ ยังตอบโจทย์ในงานป้องกันโรคเป็นอย่างมากเพราะที่ผ่านมาด้วยการสื่อสารที่จำกัดทำให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในการตรวจคัดกรองต่างๆๆเข้าถึงบริการได้ช้าและไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร แต่แอปฯนี้เป็นการสื่อสาร 2 ทาง เมื่อ รพ.สต.ดึงกลุ่มเป้าหมายออกมาก็จะรู้ว่าเป้าหมายอยู่ที่ไหน แล้วก็กระจายความรับผิดชอบการติดตามให้แก่ อสม.แต่ละคน อสม.ก็จะแจ้งกลับมาว่าเป้าหมายทราบแล้วและจะไปรับบริการ หรือถ้าไม่มารับบริการก็จะแจ้งว่าไม่มาเพราะอะไร รพ.สต.ว่าจะดำเนินการกับคนกลุ่มนี้อย่างไร จะให้ความรู้อย่างไร เป็นต้น ด้วยลักษณะการทำงานเช่นนี้ ทำให้ผลงานตามตัวชี้วัดดีขึ้นอย่างมาก
"ปี 2560 ตอนประชุมประจำเดือน เวลาถูกทวงรายงาน เรานี่หน้าตกเลย ใน อ.ควนขนุนมี 16 รพ.สต. อันดับเราสูงสุดไม่เคยเกินอันดับ 10 แต่ตอนนี้ขึ้นมาอยู่ในระดับ top 5 การคัดกรองความดัน เบาหวาน เดิมทีครอบคลุม 70-80% ตอนนี้เพิ่มเป็น 90-95% การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) จากเดิมมีผู้มารับบริการครอบคลุม 32% พอใช้แอปฯเพิ่มเป็น 60% ส่วนการรับรู้ เป้าหมายทั้ง 100% รู้หมดว่าจะมีการตรวจ หรือการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เราจะมีข้อมูลว่าเด็กคนไหนต้องตาม คือเราประยุกต์ใช้ทุกเรื่อง ไม่ได้ใช้เรื่องใดเรื่องเดียว สื่อสารกันตลอดทำให้ข้อมูลสื่อสารกัน 2 ทาง" นายเจริญ กล่าว
ในส่วนของการนำแอปฯอสม.ไปใช้งานจนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลดีเด่นระดับประเทศนั้น นายเจริญเล่าว่าถือเป็นโบนัส เพราะความตั้งใจจริงๆคือเอามาใช้งาน พูดง่ายๆว่าพอเห็นแอปฯใช้งานได้ดีก็ก้มหน้าก้มตาใช้อย่างเดียว ตอนแรกยังไม่ทราบเลยด้วยซ้ำว่ามีการประกวด จนมีคนมาแนะนำให้ลองสมัครก็เลยสมัครและได้รางวัลเป็นโบนัสกลับมา แต่ถ้าถามว่าอะไรคือปัจจัยความสำเร็จ ตนมองว่าการประสบความสำเร็จหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่แอปฯแต่อยู่ที่เรา เราพร้อมใช้ เราเห็นค่า เปิดใจรับ อยากให้ลองใช้ดูแล้วจะรู้ว่าแอปฯนี้สามารถพาเราไปสู่เป้าหมายได้โดยที่ไม่ได้มีภาระงานเพิ่ม หรือบางทีอาจน้อยลงด้วยซ้ำ
"เรามีเป้าหมาย แอปฯเป็นแค่เครื่องมือที่จะนำเราไปสู่เป้าหมาย ทุกวันนี้ อสม.เราใช้งานกันจนเป็นธรรมชาติ จนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เวลาสั่งงานก็ผ่านแอปฯ สื่อสาร ส่งงานก็ผ่านแอปฯ และที่สำคัญอีกประการคือตัวเจ้าหน้าที่หรือแอดมินในระบบที่ต้องเห็นความสำคัญ ไม่อย่างนั้นต่อให้ อสม.อยากใช้แต่แอดมินนิ่งเฉยก็ไม่มีผลลัพธ์อะไร" ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านปากคลอง กล่าว
นายเจริญ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ผลจากการใช้แอปฯอสม.ออนไลน์ จะทำให้ อสม.มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ผลงานตามตัวชี้วัดของ รพ.สต.ดีขึ้น แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงๆคือประชาชนเริ่มมีความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) ผ่านข้อมูลที่กระจายให้ผ่าน อสม.ไป ดูได้จากเวลาชาวบ้านมารับบริการ ก็จะบอกว่า อสม.แนะนำให้มา เดิมทีที่ไม่มาตรวจเพราะไม่มีอาการอะไร แต่ตอนนี้มาตรวจเพราะอสม.บอกว่าถ้าตรวจพบเนิ่นๆก็ยังสามารถรักษาได้ แต่ถ้ามีอาการแล้วจะรักษายาก บางคนมีไข้และปวดน่องก็มาตรวจแล้ว บอกว่าสงสัยไม่รู้เป็นโรคฉี่หนูหรือเปล่าแต่เห็น อสม.บอกว่าถ้าเป็นไข้และปวดน่องให้สงสัยว่าเป็นฉี่หนู คำตอบแบบนี้ทำให้ทราบว่าชาวบ้านมีตวามตระหนักรู้มากขึ้น
"สิ่งที่คาดหวังต่อไปในอนาคตคืออยากเห็นแอปฯ อสม.ออนไลน์พัฒนาไปถึงการทำให้มีเป็นเครือข่าย เมื่อไหร่ที่ดึงชาวบ้านมาอยู่ในเครือข่ายได้ รับรู้ข้อมูลสุขภาพได้ เช่น เดือนนี้เด็กคนนี้ต้องได้รับวัคซีนนะ ตอนนี้มีไข้เลือดออกกำลังระบาด ต้องป้องกันอย่างไร เมื่อเป็นแบบนี้เราจะมี อสม.ประจำครอบครัวขึ้นมา มันจะช่วยสร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพในชุมชนเพิ่มมากขึ้น" นายเจริญ กล่าวทิ้งท้าย
- 66 views