หมอ PCC วัดหนองแวง จ.ขอนแก่น ชี้โครงการรับยาใกล้บ้าน Win-Win-Win แพทย์มีเวลาพูดคุยกับคนไข้มากขึ้น ผู้ป่วยไม่ต้องรอนาน ร้านยาก็ได้รับใช้ชุมชน แนะหากขยายผลทำทั่วประเทศอยากให้เชื่อมโยงฐานข้อมูลร้านยาและหน่วยบริการเพื่อให้สามารถติดตามอาการและดูแลต่อเนื่องได้ดีขึ้นอีก
นพ.วัชรพงษ์ รินทระ
นพ.วัชรพงษ์ รินทระ แพทย์ประจำคลินิกหมอครอบครัว (PCC) วัดหนองแวงพระอารามหลวง โรงพยาบาลขอนแก่น หนึ่งในหน่วยบริการที่ร่วมโครงการ "รับยาใกล้บ้าน เภสัชกรใกล้ใจ" ซึ่งเป็นโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสิทธิบัตรทองภาวะคงที่ รับยาตามใบสั่งของแพทย์ได้ที่ร้านยาใกล้บ้านเพื่อลดความแออัด ให้ความเห็นถึงโครงการดังกล่าวว่าเป็นโครงการที่ช่วยลดความแออัดและทำให้แพทย์มีเวลาคุณภาพในการพูดคุยให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยมากขึ้น
นพ.วัชรพงษ์ กล่าวว่า ในช่วงแรกๆ PCC วัดหนองแวงมีคนไข้ 30 เคส/วัน แต่ปัญหาที่เจอคือคนไข้มารับบริการเพิ่มมากขึ้นทุกปีจนปัจจุบันอยู่ที่ 150-200 เคส/วัน แทนที่จะเป็นคลินิกหมอครอบครัวกลับกลายเป็นว่าเหมือนยก OPD จากโรงพยาบาลมาไว้ที่นี่แทน เวลาสำหรับพูดคุยให้คำแนะนำคนไข้ก็น้อยลง โอกาสที่คนไข้มีความรู้ดูแลตัวเองได้ก็หมดไป
จนกระทั่งมีร้านยาในพื้นที่รับผิดชอบของ PCC เข้าร่วมในโครงการจำนวน 2 ร้าน ทาง PCC เห็นว่าเป็นโอกาสดีของคนไข้ เพราะจะมีคนไข้กลุ่มหนึ่งที่ควบคุมความดันและเบาหวานได้ดี สามารถกินยาตัวเดิมแต่แทนที่มาแล้วจะกลับได้ทันทีก็ต้องมานั่งรอ 3 ชั่วโมง ซึ่งถ้าไปร้านยาเสียเวลาแค่ 30 นาที สามารถเอาเวลาที่เหลือไปทำอย่างอื่นได้ คนไข้กลุ่มนี้น่าจะมีระบบเหมือนเป็น green channel สามารถรับยาได้เลย จึงเริ่มเสนอให้ลองไปรับที่ร้านยาใกล้บ้าน ช่วงแรกก็มี 20-30 ราย แต่ช่วงหลังมาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สมมติมีคนไข้ 40-50 ราย จะมีสมัครใจไปร้านยา 3-4 ราย อาจจะดูเหมือนไม่มาก แต่ก็ทำให้แพทย์มีเวลาคุณภาพที่จะพูดคุยกับคนไข้ได้มากขึ้น
"โครงการนี้ Win-Win-Win ในส่วนของ PCC ก็มีปริมาณคนไข้น้อยลง มีเวลาคุณภาพมากขึ้น ส่วนผู้ป่วยก็ไม่ต้องเสียเวลารอนาน ขณะที่ร้านยาที่จะเข้าโครงการนี้ได้ต้องเป็นร้านยาคุณภาพ เพราะฉะนั้นร้านยาก็ได้ยกระดับมาตรฐานตัวเอง รวมทั้งได้รับใช้ชุมชนด้วย แทนที่จะเป็นร้านเดี่ยวๆไม่รู้จักใคร เขาก็ได้รู้จัก ได้ช่วยคัดกรอง ผมเชื่อว่าร้านยาก็ภูมิใจที่มีโอกาสได้ดูแลคนในชุมชนแทนที่จะแค่ขายของเฉยๆ อย่างที่ผ่านมาก็มีเคสที่ร้านยาตรวจเจอผู้ป่วยที่ความดันสูงและคุมไม่ได้ เขาก็ส่งกลับมาที่เรา บางเคสชีพจรเร็วผิดปกติ เขาก็ Detect และขอคำปรึกษาเรา ตอนนี้เราให้รับยา 2 โรคคือ เบาหวาน ความดัน ต่อไปจะขยายให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีอาการคงที่ไปรับยาที่ร้านยาได้ด้วย" นพ.วัชรพงษ์ กล่าว
นพ.วัชรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีแนวคิดนำโครงการนี้ไปขยายผลทั่วประเทศนั้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาอยากเสนอให้มีการทำระบบฐานข้อมูลให้เชื่อมโยงกัน ซึ่งหากทำได้ ร้านยาสามารถเห็นข้อมูลคนป่วยที่มา PCC หรือคนไข้ไปร้านยา PCC ก็เห็นข้อมูลได้ว่าอาการเป็นอย่างไร จะช่วยให้เห็นความต่อเนื่อง สามารถดูแลต่อเนื่องได้ดีมากขึ้น
- 321 views