หมอครอบครัว รพ.อยุธยา อดีตพนักงานของรัฐ ร่วมชูป้าย “SAVE พนักงานของรัฐ” ขอความเป็นธรรม “คืนอายุราชการ” เผยเป็นหนึ่งผู้ได้รับผลกระทบกว่า 2 หมื่นคน เหตุจากนโยบายรัฐปรับเปลี่ยน ทำอายุราชการหาย 3 ปี ฝาก รมว.สธ. เร่งเยียวยาขวัญกำลังใจ คืนความเป็นธรรม หลังยืดเยื้อ 5 ปี
พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในจำนวนอดีตพนักงานของรัฐที่ได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธินับรวมอายุราชการในช่วงที่เป็นพนักงานของรัฐ เมื่อวันที่ 19 ส.ค.62 ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวเพื่อขอความเป็นธรรมที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมโพสต์ข้อความเรียกร้องและรูปที่ถือป้ายข้อความ “save พนักงานของรัฐ กระทรวงสาธารณสุข สายงานแพทย์ จังหวัดพระนครศรีอยุทธยา” โดยในส่วนของตนเองถูกตัดเวลานับอายุราชการไป 3 ปี เรียนจบแพทย์ในปี 2544 เป็นช่วงต่อเนื่องปีที่ 2 ของนโยบายปรับตำแหน่งข้าราชการเป็นพนักงานของรัฐ ประกอบกับขณะนั้นมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ปรับเปลี่ยนระบบสาธารณสุขประเทศ เกิดภาระงานหนักขึ้น ทำให้มีแพทย์ที่ใช้ทุนแล้วหลายคนเลือกที่จะลาออกไป แต่ตนเองก็เลือกที่จะอยู่ในระบบต่อ ซึ่งในรายละเอียดไม่ได้รู้อะไรมากเพราะยังเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่จะมีสวัสดิการเหมือนกับข้าราชการ
จากนโยบายนี้ได้ส่งผลให้บุคลากรไหลออกจากระบบลาออกมากขึ้น ต่อมาในปี 2547 ได้มีการบรรจุข้าราชการอีกครั้ง โดยในส่วนของพนักงานของรัฐก็ให้กลับเป็นข้าราชการเช่นกัน แต่ในช่วงที่ทำงานเป็นพนักงานของรัฐกลับไม่ได้ถูกนับอายุงานด้วย เป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เช่นเดียวกับน้องที่จบใหม่ ทำให้อายุงานทั้งที่เป็นการทำงานในระบบราชการหายไป จึงมองว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบจากการตัดสินใจปรับวิธีบริหารบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขที่คลาดเคลื่อนไป
พญ.ประกายทิพ กล่าวว่า ผลกระทบจากอายุราชการที่หายไป อาชีพหมอก็เหมือนทุกอาชีพ มีระยะเวลาการทำงานที่ต้องปรับเปลี่ยน เช่น บางคนอาจปรับเปลี่ยนสายงาน ไปเป็นอาจารย์ หรือลาออกเพื่อไปทำงานงาน รวมถึงการวางแผนชีวิตต่างๆ ที่ส่งผลต่อการรับเงินบำเหน็จบำนาญที่ควรได้รับจากการทุ่มเทเสียสละทำงานในราชการ ซึ่งการรับบำเหน็จบำนาญต้องทำงานอายุครบ 25 ปี โดยกรณีของตนเองหากไม่นับรวมช่วงเป็นพนักงานของรัฐ เท่ากับต้อบทำงานต่อไปอีก 3 ปี ถึงจะครบ ทั้งที่ตอนเป็นพนักงานของรัฐก็ทำงานอยู่ในระบบเช่นกัน แต่กลับไม่ถูกนับอายุราชการ
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่กระทบเฉพาะอายุราชการ แต่ทำให้เกิดปัญหาเงินเดือนเหลื่อมล้ำ ซึ่งในส่วนของตนเองนั้นคงบอกไม่ได้ แต่ในส่วนของวิชาชีพอื่น โดยเฉพาะพยาบาลมีหลักฐานชัดเจนว่าเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก โดยน้องที่บรรจุราชการที่หลังกลับมีเงินเดือนที่แซงหน้ารุ่นพี่ไปแล้ว ส่วนรุ่นพี่ทำงานหนักกว่า แต่กลับมีเงินเดือนน้อย เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบ กระทบต่อขวัญกำลังใจ
“ความเคลื่อนไหวตรงนี้ตอนแรกไม่ทราบเลย มีเจ้าหน้าที่มาบอกว่าจะมีการเยียวยาอายุราชการให้กับพนักงานของรัฐ ซึ่งก็เข้าใจว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขคงมาดูและเยียวยาตรงนี้ให้ แต่พอเข้าไปดูข้อมูลข่าวจึงรู้ว่ายังเป็นแค่การเคลื่อนไหวเพื่อขอความเป็นธรรม มีสองหมื่นกว่าคนที่ได้รับผลกระทบ จึงได้เข้ารวมกลุ่มในเฟสบุ๊คอดีตพนักงานของรัฐเพื่อร่วมเรียกร้องขอคืนอายุราชการคืน”
ส่วนที่การเรียกร้องเรื่องนี้ยาวนานถึง 4-5 ปีแล้ว ไม่คืบหน้านั้น พญ.ประกายทิพ กล่าวว่า มองว่าต้องมีเจ้าภาพหลัก คือกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องเร่งดูแลและให้การเยียวยาจบลงโดยเร็ว เนื่องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข และเรื่องนี้ได้ใช้เวลานานแล้ว โดยขณะนี้ในส่วนพนักงานของรัฐได้มีความพยายามรวมทุกวิชาชีพในระบบเพื่อจะได้มีเครือข่ายร่วมเรียกร้องเพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละวิชาชีพต่างก็มีภาระงานหนักกันมากอยู่แล้ว แต่กลับต้องมาเดินหน้าเรียกร้องในเรื่องนี้อีก จึงอยากให้เห็นใจ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านบุคลากรของภาครัฐ
ส่วนที่มักมีการระบุว่าติดที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หากมีความจริงใจในการแก้ปัญหาจริง ทุกระเบียบยกเว้นได้ โดยมองผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง และรักษาคนกลุ่มนี้ให้อยู่ในระบบยาวนาน มีขวัญกำลังใจเพิ่มขึ้น ซึ่งหลายคนทำงานในพื้นที่ห่างไกล โดยอาจจะคณะกรรมการที่มีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ก.พ. กระทรวงการคลัง ในการเร่งดำเนินการ หรืออาจขอมติ ครม.มาช่วยเยียวยา
“คงต้องฝากไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการเยียวยาให้กับอดีตพนักงานของรัฐ คืนในสิทธิที่เขาควรจะได้กลับคือ ทั้งอายุราชการที่หายไป และการปรับเงินเดือนที่ควรได้รับ ซึ่งคนกลุ่มนี้ทำงานในระบบมายาวนานแล้ว เรียกได้ว่าซื้อใจกันได้ ก็ควรสร้างขวัญกำลังใจให้ทำงานในระบบต่อไปได้อย่างมีความสุข”
- 69 views