เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ได้เข้าไปประชุมวิชาชีพของ สำนักงานปลัดกระทรวงสาสุข โดยเป็นตัวแทน ของสายงานจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ และในฐานะเป็นประธานคณะทำงานเพื่อขอกำหนดตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโส ของสายงานเจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์
ซึ่งเมื่อขอทราบและติดตามความก้าวหน้าของสายงานประเภททั่วไป ทั้ง 17 สายงาน ที่ขอกำหนดตำแหน่งอาวุโส ก็ได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่กองบริหารทรัพยากรบุคคล สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า สายงานประเภททั่วไป 17 สายงานยังต้องรอ ก.พ.ตอบกลับมา และ 2 สายงานสุดท้ายก็ได้ส่งเรื่องเข้า ก.พ. เมื่อเดือน มีนาคม 2561 ซึ่งทั้ง 17 สายงาน ประเภททั่วไป ที่ขอกำหนดตำแหน่ง อาวุโส ก็จะต้องรอ ก.พ. ต่อไป ทั้งๆ ที่จากเดือนมีนาคม 2561 จนถึงขณะนี้ เดือนสิงหาคม2562 เป็นเวลา 1 ปีกับ 5 เดือนเข้าไปแล้ว ก.พ. ก็น่าจะมีความคืบหน้าอะไรไปบ้าง แต่ก็ยังได้รับคำตอบจากกองบริหารทรัพยากรบุคคลเหมือนเดิมว่า “จะต้องรอ ก.พ. ว่าจะตอบกลับมาว่าอย่างไร”
นับจากวันที่เราเริ่มทำงานเรื่อง การขอกำหนดตำแหน่งประเภทอาวุโส จากปี 2558 มาจนถึงปัจจุบันก็ 4 ปีกว่า เข้าไปแล้ว เปลี่ยนปลัดกระทรวงมาถึง 3 คน คือ นพ.โสภณ เมฆธน, นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข จนมาถึงปลัดคนปัจจุบัน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ซึ่งท่านก็จะปลดเกษียณ ในปีหน้านี้แล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าทาง ก.พ.เขาจะว่าอย่างไรในเรื่องการขอกำหนดตำแหน่งประเภทอาวุโส ทันในสมัยท่านปลัดฯสุขุมหรือเปล่า แต่ทั้งนี้ก็ ไม่รู้ว่าทาง ก.พ. เขามี ไทม์ไลน์ ในการทำงานของเขาอย่างไรในเรื่องนี้ผ่านมาแล้วปีกว่า ก็ยังไม่เห็นว่าอย่างไรหรือส่งสัญญาณอะไรมา
การแต่งตั้งคณะทำงานทั้ง 17 สายงาน เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2558 โดยท่านปลัดโสภณ ให้ตั้งคณะกรรมการทั้ง 17 สายงานและมีคณะทำงานของแต่ละสายงาน ซึ่งทาง ก.พ.ให้มีการทำประเมินค่างานทั้ง 17 สายงานโดยใช้การกำหนดการประเมินค่างานแบบเดียวกับชำนาญการพิเศษ และทั้ง 17 สายงานก็ทำเสร็จกันเรียบร้อยแล้ว เพื่อขอปลดล็อค มาตรฐานกําหนดตําแหน่งตาม ว.2/2528 ใหม่เป็นกรณีพิเศษ แต่ยังคงต้องรอกันอีกต่อไป ซึ่งการกำหนดตำแหน่งที่ ก.พ.กำหนดตาม ว.2/2558 เดิม เป็นการยากมากที่จะได้ขึ้นตำแหน่งอาวุโสได้ โดยเงื่อนไขมีข้อแม้ให้ต้องมีลูกน้องถึง 4 คนและต้องเป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานของรัฐ ซึ่งจะหาได้ยากมากในสายงานประเภททั่วไป
สิ่งที่ต้องการก็คือ อยากจะให้ทาง ก.พ. มีไทม์ไลน์ ในการทำงานของของตัวเองนับจากวันนี้ ว่ามีการทำงานอย่างไรในเรื่อง การขอกำหนดตำแหน่ง อาวุโส จะได้คำตอบว่าอย่างไร และเมื่อไหร่ สิ่งที่สำคัญการทวงถามเป็นระยะๆของทั้ง 17 สายงาน ก็ต้องได้รับคำตอบและควรจะแตกต่างกัน ในแต่ละการทวงถาม ทั้งนี้ตัวแทนทั้ง 17 สายงาน มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงาน เขาทำเพื่อสายงานวิชาชีพของตนเอง ไม่ใช่ “เพื่อตนเอง แต่เพื่อคนข้างหลังและคนข้างหน้าที่ยังอยู่ในสายวิชาชีพเดียวกันนี้” ก็อยากจะให้ทาง ก.พ. หรือ ทางกองบริหารทรัพยากรบุคคลเอง น่าจะมีการกำหนดบทบาทการทำงานของตัวเอง ว่ามีการทำงานอย่างไรในเรื่อง การขอกำหนดตำแหน่งอาวุโส และจะได้คำตอบว่าอย่างไร
การทำงานของงานทุกวิชาชีพเป็นการขับเคลื่อนการทำงานของระดับของกระทรวงสาสุขไปด้วยกัน จะต้องมีพื้นฐานข้างล่างส่งไปยังระดับสูง เราทำงานด้วยระบบภาษีของทางราชการของประชาชน แต่ทำไมหน่วยงานบางหน่วยงานที่กินภาษีประชาชนเหมือนกัน ถึงได้ทำงานในลักษณะนี้ คือไม่เห็นแก่เจ้าหน้าที่ในระดับอื่นๆ อาจจะมีการเตะถ่วงไปเรื่อยๆ โดยเห็นว่าในเมื่อตัวเองไม่ได้อยู่ในหน้าที่ที่ต้องทำหรือรับผิดชอบแล้ว ปล่อยให้เราเดินต่อไปเอง โดยจุดหมายปลายทางให้ขึ้นอยู่กับที่ ก.พ.อย่างเดียว ว่าจะชี้ชะตามาว่าอย่างไร และคำตอบในเวลานี้ก็คือ “ต้องรอตำตอบ”
สุดท้ายก็อยากฝากไว้ ถึงท่านผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุข และทาง ก.พ. น่าจะเห็นความสำคัญ เพราะเราก็ต่างทำงานด้วยภาษีของประชาชนเหมือนกัน เขาต้องกินต้องใช้มีลูกที่ต้องเรียน อยากมีความก้าวหน้าในงานของทุกคน อย่าคิดถึงประเภทวิชาการ คือแท่งวิชาการ เชี่ยวชาญ ในระดับผู้บริหารเพียงอย่างเดียว ควรจะคำนึงถึงประเภททั่วไปบ้าง อย่าให้เขารอ ถ่วงเวลาเพื่อให้เขาเกษียณไปเรื่อยๆ วันประชุมท่านปลัดให้นโยบายว่า จะต้องให้ประเภทวิชาการ เลื่อนไหลถึงชำนาญการพิเศษทุกตำแหน่ง แต่ประเภททั่วไป ไม่มีการกล่าวถึง ให้รอ ก.พ. เพียงอย่างเดียว กระทรวงก็มีตำแหน่งคล้ายๆกัน น่าจะมีการให้ได้ตำแหน่งบ้าง ไม่ใช่ว่าบล็อกกันไว้ทุกกระทรวง การปฏิรูประบบราชการ มีมาตั้งแต่ปี 2551 นี่ก็ปาเข้าไป 11 ปีแล้ว นับถึง พ.ศ.นี้ ก่อนออกจากระบบซี มีการเขียนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกําหนดตําแหน่งไว้อย่างสวยหรู ข้าราชการแต่ละแท่งก็หวังว่าจะได้เลื่อนไหลตามแท่งและตามตำแหน่งของตนเอง แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ เงื่อนไขที่ตามมา ตามข้อกำหนด ตาม ว. ต่างๆ ยากเกินไปเหมือนไม่ให้โตและสุดท้ายก็ถูกยุบตำแหน่ง แต่บางกระทรวงเขาตื่นตัว ตั้งแต่รู้ว่าจะต้องเข้าสู่ในระบบแท่ง เช่น กรมการปกครองท้องถิ่น เขามีการกำหนดตำแหน่งประเภททั่วไป ถึงระดับอาวุโส แต่ของกระทรวงสาธารณสุขเพิ่งตื่นตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราควรจะโทษหรือไม่โทษใคร หรือต้อง “ยอมรับชะตากรรมไปจนเกษียณอายุหรือลาออกเอง”
สิ่งที่นอกเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือสิ่งอยากจะทราบว่า “มีการสับขาหลอกกัน หรือใครมีความจริงใจมากกว่ากัน” ระหว่าง “กระทรวงของเราเองหรือ ก.พ.” ก็เท่านั้น
ผู้เขียน : นายสายชล กิตตระกูล เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชำนาญงาน รพ.ลำลูกกา อ ลำลูกกา จ ปทุมธานี ประธานชมรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งประเทศไทย และประธานคณะทำงานเพื่อขอกำหนดตำแหน่งอาวุโส สายงานเจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์
- 888 views