หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ มก. โชว์ศักยภาพห้องปฏิบัติการวิจัยหลังรับใบอนุญาต อย. ชี้สกัดแยกสารกัญชาบริสุทธ์ ทดสอบคุณสมบัติ พบหลายตัวมีฤทธิ์ใช้ยาภายนอก
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ห้องปฏิบัติการวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตครอบครองและผลิตสารสกัดกัญชา จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เพื่อการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ กำลังพัฒนาเทคนิคการสกัดที่แยกสารต่างๆในกัญชาให้บริสุทธิ์ เพื่อทดสอบสมบัติการต้านเชลล์มะเร็งและสมบัติทางยาด้านอื่นๆ จากข้อมูลการศึกษาพบว่า สารประกอบในกัญชานั้นมีการระบุมาก่อนแล้วมากกว่า 483 ตัว และแบ่งได้หลายกลุ่มคือ สารที่เป็นเอกลักษณ์ของกัญชา คือ กลุ่มแคนนาบินอยด์กว่า 60 ตัว นอกนั้นเป็นสารประกอบที่สามารถพบได้ในพืชอื่นๆ เช่น กลุ่มเทอร์ปีน กลุ่มอัลคาลอยด์ กลุ่มเอไมด์ กลุ่มลิกแนนาไมด์ กลุ่มฟลาโวนอยด์ กลุ่มกรดไขมัน เป็นต้น
“สารสำคัญต่างๆนี้ มีบางตัวที่ออฤทธิ์ในการกดประสาท และทำให้เสพติดได้ หากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม แต่จากสมบัติของสารสำคัญแต่ละตัวที่โดดเด่นพบว่า สารหลายตัวมากที่มีฤทธิ์ที่สามารถเป็นยาภายนอกได้ เช่น สารแคนนาบิเจอรอล สารแคนนาบิโครมีน สารแคนนาบิไดออล หรือแม้แต่สารทีเอชซี ที่มีฤทธิ์แก้ปวด ต้านเชื้อรา ต้านการอักเสบ” รศ. ดร. วีรชัย กล่าว และว่า สารกลุ่มที่เป็นเอกลักษณ์ของกัญชานั้น นอกจากมีฤทธิ์ทางบวกในการรักษา แต่มีผลด้านการกดประสาทด้วยเช่นกัน ขึ้นกับการใช้ปริมาณที่เหมาะสม และมาตรฐานในการผสมตัวยาที่บริสุทธิ์แค่ไหน มีมาตรฐานเพียงไร
รศ. ดร. วีรชัย กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการเปิดเสรีในการทำยากัญชานั้น ควรส่งเสริมทำยาภายนอกแบบเปิดเสรีก่อน เพราะสารกลุ่มดังกล่าว สามารถผสมทำครีม ยาทา หรือยาแก้ปวด บรรเทาปวด ที่สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้ ในส่วนของยากินนั้น ต้องสกัดสารบริสุทธิ์เพื่อผสมสัดส่วนที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ให้นิ่งก่อน หรือมีผลงานวิจัยที่สนับสนุนมากกว่านี้ นอกจากนี้ สารกลุ่มเทอร์ปีน ที่มีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของกัญชา สามารถนำมาพัฒนาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารได้
- 40 views