“หมอเด็ก รพ.รามาธิบดี” เผย สิทธิประโยชน์ “ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต” กองทุนบัตรทอง 10 ปี ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาต่อเนื่อง เผย ปี 63 สปสช.เดินหน้าขยายสิทธิรวมการปลูกถ่ายกรณีผู้บริจาคไม่ใช่ญาติ ครอบคลุมการปลูกถ่ายผู้ป่วยธาลัสซีเมีย พร้อมระบุเป็นแบบอย่างใช้จ่ายงบรัฐคุ้มค่า ระยะยาวดีต่อผู้ป่วยและงบประมาณ
ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง หัวหน้าสาขาโลหิตวิทยาและโรคมะเร็ง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุ FM.96.5 คลื่นความคิด ว่า การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตเป็นวิธีการรักษาที่มีมานาน โดยเริ่มที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว ส่วนประเทศไทยเริ่มครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ถือเป็นมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับโลหิตวิทยา อาทิ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคธาลัสซีเมีย และไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น โดยทั่วโลกให้การยอมรับ ในอดีตเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจะนำมาจากไขกระดูกเท่านั้น แต่ปัจจุบันสามารถนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตมาจากหลอดเลือดและรกได้
การรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก อยู่ที่รายละ 1-3 ล้านบาท โดยจุดเริ่มต้นของสิทธิประโยชน์ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากเป็นการรักษาที่ต้องต่อเนื่องภายหลังจากการให้เคมีบำบัด โดยผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตสามารถรับการรักษาได้ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตนี้จะมีทั้งการปลูกถ่ายที่ใช้เซลล์ของตนเองและเซลล์ที่รับบริจาค ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายฯ ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้วจำนวนมาก โดยจำกัดเฉพาะกรณีที่ผู้บริจาคเป็นญาติพี่น้องผู้ป่วยเท่านั้น
ศ.นพ.สุรเดช กล่าวต่อว่า ในปี 2563 เพื่อให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น สปสช.ได้ขยายสิทธิให้ครอบคลุมการปลูกถ่ายโดยใช้เซลล์ของผู้บริจาคผ่านสภากาชาดไทย เนื่องจากผู้บริจาคต้องมีเนื้อเยื่อเอชแอลเอ (Human Leukocyte Antigen : HLA ) ตรงกันกับผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้บริจาคเป็นญาติพี่น้อง โอกาสที่เนื้อเยื่อนี้จะตรงกันมีเพียง 25% เท่านั้น แต่หากขยายครอบคลุมถึงผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติพี่น้อง โอกาสในการหาผู้บริจาคที่มีเนื้อเยื่อตรงกับผู้ป่วยจะมีถึง 40-50% ซึ่งขณะนี้มีผู้สมัครใจแสดงเจตจำนงบริจาคเซลล์เม็ดเลือดกับสภากาชาดไทยแล้วประมาณ 200,000 ราย
“การรักษาปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หมอจะเป็นคนพิจารณาว่าคนไข้จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายหรือไม่ เริ่มต้นอาจตรวจดูเนื้อเยื่อของญาติพี่น้องผู้ป่วยที่บริจาคก่อน หากไม่มีก็จะส่งตัวอย่างเนื้อเยื่อผู้ป่วยไปยังสภากาดไทยเพื่อเทียบเคียงกับเนื้อเยื่อของผู้บริจาค ซึ่งในขั้นตอนนี้มีค่าใช้จ่าย 5,000 บาทต่อการตรวจเนื้อเยื่อเทียบเคียงกับผู้บริจาค 1 ราย ผู้ป่วยต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเองในส่วนนี้เอง เนื่องจากสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มหาผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตได้เท่านั้น ซึ่งหากพบผู้บริจาคที่มีเนื้อเยื่อตรงกัน สภากาชาดไทยจึงจะเรียกผู้บริจาคมาบริจาค” หัวหน้าสาขาโลหิตวิทยาและโรคมะเร็งฯ กล่าวและว่า ทั้งนี้การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตแตกต่างจากการบริจาคอวัยวะ เนื่องจากผู้บริจาคสามารถทำการบริจาคได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
ศ.นพ.สุรเดช กล่าวว่า นอกจากนี้ในปี 2563 สปสช.ได้ขยายสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตให้ครอบคลุมการรักษาในกลุ่มผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย เนื่องจากผลการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ชี้ชัดว่ามีความคุ้มค่าในการรักษา เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องรับการถ่ายเปลี่ยนเลือดและยาขับเหล็กอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิตและไม่หาย ขณะที่การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตทำเพียงครั้งเดียวและมีโอกาสหายขาดได้ถึง 90% จึงเป็นวิธีการดูแลผู้ป่วยที่ดีกว่าและคุ้มค่า กรณีนี้ยังถือเป็นแบบอย่างการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐที่คุ้มค่า แม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณมาก ในระยะยาวถือว่าดีกว่าทั้งกับตัวผู้ป่วยเองและภาระงบประมาณเอง
ศ.นพ.สุรเดช กล่าวต่อว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องใหญ่และประชาชนต้องสนใจ ไม่ใช่แค่เรียกร้องสิทธิ แต่ต้องดูว่าทำอย่างไรจึงจะคุ้มค่า และวันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะมาพูดคุยกันว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าระบบจะเดินไปอย่างไร เพราะยังมีความท้าทายรออยู่ ทั้งวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจะต้องมีวิธีการจัดการและงบประมาณรองรับ ไม่ใช่มุ่งตั้งเป้ารักษาอย่างเดียว ซึ่งความเจ็บป่วยของประชาชนถือเป็นศักดิ์ศรีมนุษย์ที่รัฐต้องดูแล แต่การดูแลอย่างไรจึงจะคุ้มค่าและรัฐบาลไม่ถังแตก ทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกันคิด
- 4312 views