ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ฯ เผยหน้าที่คณะกรรมการฯ ดำเนินการจัดระบบใช้กัญชาอย่างครบวงจร เพื่อให้สถานพยาบาลทั่วประเทศมียากัญชาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีความปลอดภัย เผย อย.ดูแลหลักมาตรการควบคุมการใช้ -รับเรื่องร้องเรียนจากการใช้กัญชา ด้าน อย.เผยมีระบบรายงานรับเรื่อง 3 ช่องทาง
หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งขณะนั้นคือ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา แต่งตั้งคณะกรรมการการจัดระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาล โดย มี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน และมี นพ.โสภณ เมฆธน เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ และมีกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งกรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมสุขภาพจิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นต้น เพื่อทำหน้าที่วางระบบและพัฒนาการบริการ การติดตาม และการรายงานกัญชาในสถานพยาบาล เพื่อให้สถานพยาบาลทั่วประเทศมียากัญชาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีความปลอดภัย ใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างเพียงพอ มีการกระจายยาอย่างทั่วถึง และเป็นระบบ รวมทั้งป้องกันไม่ให้รั่วไหลไปใช้ผิดวัตถุประสงค์นั้น
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการการจัดระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาล กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานคณะกรรมการการจัดระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ว่า คณะกรรมการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อให้การจัดระบบบริการยากัญชาทั้งยาแพทย์แผนไทยและยาแพทย์แผนปัจจุบันที่ใช้ในสถานพยาบาลเป็นไปตามมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสมรัดกุม และเกิดประโยชน์มากที่สุด เรียกว่าเป็นการทำงานแบบครบวงจรเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งได้มีการประชุมไปแล้วครั้งที่ 1 โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธาน
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับคณะกรรมการชุดนี้จะมาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะดำเนินการพิจารณาในรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมด ครอบคลุมกัญชาทั้งตำรับแพทย์แผนไทย และกัญชาทางการแพทย์สำหรับแพทย์แผนปัจจุบัน โดยพิจารณาทั้งในส่วนของปริมาณกัญชาทางการแพทย์ที่ผลิตจะต้องเพียงพอกับปริมาณความต้องการ รวมทั้งในเรื่องการสั่งจ่ายต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมอบหมายให้กรมการแพทย์เป็นผู้ดำเนินการจัดอบรมแพทย์และเภสัชกร ขณะที่เมื่อสั่งจ่ายแล้วก็ต้องมีการติดตามผู้ป่วย ว่า ผลลัพธ์เป็นอย่างไร มีผลข้างเคียงหรือไม่ หรือประสิทธิการรักษาดีอย่างไหร่ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าคณะกรรมการฯชุดนี้จะทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ด้วยหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีหน่วยงานกลางขึ้นมาดูแล เพราะอย่างต่างประเทศก็มีการดำเนินการ เช่น อิสราเอล จะมีระบบตรวจสอบติดตามได้ทั้งหมด ซึ่งหน้าที่ตรงนี้จะอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพียงแต่จะต้องทำงานร่วมกันเป็นภาคีเครือข่าย ควบคุมการใช้อย่างครบวงจร โดย อย.เป็นคนคุมระบบใหญ่ แต่ก็จะมีภาคีเครือข่ายต่างๆคอยช่วยดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ประเด็นอื่นๆจะต้องมีการหารือในการประชุมครั้งต่อๆไป
ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ ทาง อย.มีระบบรายงานให้ผู้ป่วยรายงานเอง ผ่านเว็บไซต์ของ อย. ซึ่งก็มีคนรายงานเข้ามาเป็นระยะๆ ส่วนใหญ่ก็จะคลื่นไส้ เวียนหัว นอกจากนี้ อย.มีช่องทางเดิมสำหรับการรายงานระบบยาต่างๆ โดยเชื่อมโยงกับเภสัชกรในสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ก็จะให้รายงานสำหรับกัญชาแยกต่างหาก ซึ่งสามารถเข้าไปรายงานได้ รวมไปถึงช่องทางการรายงานในกลุ่มวิจัยก็จะมีการรายงานผ่านช่องทางพวกนี้เข้ามา ซึ่งจะมี 3 ช่องทางหลักดังที่กล่าวมาแล้ว
- 17 views