วันที่ 28 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ร่วมกับแพทยสมาคม จัดการประชุมสัมมนา "เมื่อหมอ/พยาบาล...ป่วย When health personnel get sick" ณ ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจในการสัมมนาครั้งนี้ มีเรื่อง "Workplace Bullying ความรุนแรงระหว่างบุคลากร" โดยมี ดร.กฤษดา แสวงดี ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ผศ.นพ.พนม เกตุมาน อดีตหัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, พญ.เพ็ญนภา กวีวงศ์ประเสริฐ ตัวแทนเครือข่ายแพทย์ยุคใหม่ ใส่ใจ ใฝ่รู้ สู่การสร้างสรรค์สังคม และ นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ร่วมอภิปรายในประเด็นนี้
ขอบคุณภาพจาก www.thaihospital.org
ดร.กฤษดา แสวงดี ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า bullying ภาษาไทยสามารถแปลได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกดขี่ ข่มแหง รังแก กลั่นแกล้ง ฯลฯ กล่าวคือเป็นการกระทำต่อผู้หนึ่งด้วยพฤติกรรมที่ทำให้รู้สึกอับอาย เจ็บปวด หรือแม้แต่ทางร่างกาย มีตั้งแต่ direct verbal bullying การพูดจาผรุสวาท เช่น พยาบาลโทรรายงานแพทย์ แพทย์สวนกลับมาว่าโง่หรือไง แค่นี้ทำไม่ได้ต้องรายงาน หรือแบบ indirect เช่น การนินทา การสร้างข่าวลือที่ไม่เป็นจริงเพื่อให้อีกคนเสียหาย
"การทำงานของเราแน่นอนว่ามีการกระทบกระทั่งกัน พยาบาลกับแพทย์เปรียบเหมือนลิ้นกับฟัน พออยู่ในสถานการณ์ที่กดดัน เครียด ก็ทำให้ต่างคนต่างแสดงออกในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อกัน หรือทำโดยไม่ตั้งใจจนกลายเป็นความเคยชินแล้วคิดว่ารับกันได้ เหตุการณ์เขวี้ยงชาร์ตในวอร์ด ในห้องผ่าตัด โยนเครื่องมือแบบไม่พอใจ สิ่งเหล่านี้คือ Bullying ทั้งนั้น" ดร.กฤษดา กล่าว
ดร.กฤษดา กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ในเมืองไทยนั้น จากการสำรวจพยาบาล 20,000 คนทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน พบว่าปัญหาแบบนี้พยาบาลในภาคเอกชนเจอน้อยกว่าภาครัฐ ภาครัฐเจอมากและพบในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สัมพันธ์กับ Work Overload มากที่สุด แสดงว่าความกดดันจากการทำงานมีผลเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดเรื่องเหล่านี้
ในส่วนของโรงพยาบาลเล็กพบว่า Bullying ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากกว่าการเกิดในโรงพยาบาลใหญ่ ถ้าในโรงพยาบาลใหญ่จะเป็นเรื่อง Verbal ต่างๆ แต่โรงพยาบาลเล็กเป็นเรื่องกายภาพหรือแม้แต่ sexual harassment หมายความว่ายิ่งหน่วยงานเล็กเท่าไหร่ ห่างไกลเท่าไหร่ ผลกระทบของคนที่เจอถึงขั้นต้องหยุดงานหรือออกจากงานไปเลย นอกจากนี้สาเหตุของผู้ก่อให้เกิดความรุนแรงไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะพยาบาลจะมีจากคนไข้ ญาติคนไข้ ผู้ใช้บริการอื่นๆด้วย
ดร.กฤษดา ยังกล่าวถึงแนวทางป้องกันปัญหาว่าองค์กรทั่วโลกรณรงค์หลักการเรื่อง Positive Practice Environments for Health Care Professional (PPE) มาตั้งแต่ปี 2015 โดยสรุปมี Key สำคัญดังนี้
1.ทำให้มี Recognition ระหว่างกัน ทุกวิชาชีพต้องยกย่องให้เกียรติกันในฐานะผู้ร่วมทีมสุขภาพ ยอมรับในความสามารถของแต่ละวิชาชีพในการทำงานร่วมกัน
2.มี Support Structure หน่วยงานต้องลงทุนเกี่ยวกับการทำ Environment ที่เหมาะสม ไม่มีที่ลับหูลับตาหรืออะไรที่เอื้อให้เกิดความรุนแรงในที่ทำงาน
3.Education ต้องลงทุนเพื่อให้บุคลากรสุขภาพได้รับการอบรม ไม่ใช่ทำงานอย่างเดียว
4.Management Practice เรื่องนี้เป็นไฮไลท์สำคัญเพราะทั่วโลกพบว่าการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมในเรื่องการบริหารงานบุคคล เป็นหนึ่งในประเด็นที่ทำให้เกิด bullying
ดร.กฤษดา กล่าวทิ้งท้ายว่า การป้องกันความรุนแรงระหว่างบุคลากร คิดว่าพวกเราทุกคนในฐานะที่อาจเป็นคนหนึ่งที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญใจ เราก็หยุดการกระทำนั้น หรือ หากเป็นบุคคลที่ถูกกระทำก็ต้องไม่ยอม ไม่อดทนต่อสิ่งนั้นเช่นกัน
ด้าน ผศ.นพ.พนม เกตุมาน อดีตหัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นจิตแพทย์และทำงานกับนักศึกษาแพทย์จึงเห็นปัญหา bullying ในโรงเรียนแพทย์ค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่ทางจิตใจ เป็นเรื่องวาจาและการกระทำ เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดกรณีนักศึกษาแพทย์ฆ่าตัวตาย หลังจากเกิดเหตุการณ์ ทางคณะได้จัดกิจกรรมเยียวยาและขอฟังความคิดเห็นของนักศึกษา มีนักศึกษาจำนวนมากลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาในช่วง 4-5 ปีนี้ มีบางอย่างที่กดดันเขาอยู่ ทำให้รู้สึกไม่มีความสุขในการเรียน ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเรียนเรื่องสอบ แต่คือการถูก bully อยู่ในคณะ คนที่ bully ก็ไม่ใช่ใครแต่เป็นอาจารย์กันเอง หรือ หรือ 2-3 ปีก่อนหน้านั้นมีการทำ Workshop ให้นักศึกษาปี 5 แบ่งกลุ่มทำละคร ปรากฎว่าทุกกลุ่มทำเรื่อง Trauma ที่เกิดจากอาจารย์ในระหว่างการเรียนตั้งแต่ Pre-Clinic ไปจนถึง Clinic สิ่งนี้ก็สะท้อนว่ามีเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงๆและเราไม่ได้จัดการแก้ไข
ผศ.นพ.พนม กล่าวต่อไปว่า เวลาถูก bully นอกจากเกิดความกลัวแล้วยังทำให้เกิดการต่อต้านในจิตใจ ยิ่งถ้าถูกตำหนิต่อหน้าคนไข้ ต่อหน้ารุ่นน้อง ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เกิดภาวะ Trauma อย่างรุนแรง บางคนฝังใจและเก็บกด แล้วไปแสดงออกด้วยอาการทางร่างกายในภายหลัง และถ้าเกิดปัญหาตามมาเยอะๆ บางคนอาจจะเลือกไม่สนใจไม่ฟังที่อาจารย์พูดอีกต่อไป ที่น่ากลัวกว่านั้นคือพฤติกรรมเลียนแบบ (identification with the aggressor) เวลาทำรุนแรงอะไร บางคนจะจำวิธีการโดยสำนึกว่าเป็นวิธีปกติที่จะสอนลูกศิษย์ เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจคิดว่าไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้อีก ทำให้เกิดวงจรของการ bully ถ่ายทอดไปเรื่อยๆ ถ้าไม่หยุดตรงนี้ เราก็จะได้ลูกศิษย์ที่ไปเป็นอาจารย์หรือไปทำงานในโรงพยาบาลแล้วไป bully คนอื่นต่อ เกิดการขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ
"มีการศึกษาหนึ่งที่พบว่ามีแรงต่อต้านการเปลี่ยนแปลง คำตอบหนึ่งคืออาจารย์หรือคนที่ bully บางคนมีความเชื่ออย่างสนิทใจว่าดี บางคนบอกว่าเป็นวิธีของครูแพทย์ และสุดท้ายคือคิดว่าวิธีนี้ได้ผล ซึ่งก็อาจจะได้ผลชั่วคราวแต่ระยะยาวจะเป็นอย่างไรเขาไม่รู้ แล้วจะหยุดอย่างไร ในส่วนของศิริราชเราต้องหยุดแน่นอน ในฝั่งอาจารย์ต้องหยุดวงจรนี้ให้ได้โดยการสร้าง role model ที่ดี ทำให้เกิดการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ เรารู้ว่าที่อาจารย์โกรธและ bully เด็ก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโมโหที่ลูกศิษย์ไม่มีความรู้ ไม่เตรียมตัวมา คือเจตนาลึกๆนั้นดีแต่ไม่มีเทคนิค เราก็จะสอน communication skill เพื่อให้สอนแล้วลูกศิษย์รู้สึกอยากเรียนรู้ ส่วนด้านนักศึกษา เราเน้นเรื่อง early detection เราอยากรู้ว่าเริ่มเกิดภาวะซึมเศร้าแล้วหรือยัง ถ้ามี เราจะป้องกันเยียวยาความเสี่ยงอย่างไร และจะจัดการกับอาจารย์ที่ bully อย่างไร เรื่องนี้เราให้ความสำคัญเพราะต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง" ผศ.นพ.พนม กล่าว
ขณะที่ พญ.เพ็ญนภา กวีวงศ์ประเสริฐ ตัวแทนเครือข่ายแพทย์ยุคใหม่ ใส่ใจ ใฝ่รู้ สู่การสร้างสรรค์สังคม ให้ความเห็นว่า จากการศึกษาในออสเตรเลียพบว่าอุตสาหกรรมด้านสุขภาพมีปัญหาการ bully มากที่สุด ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นมีน้อยกว่า ดังนั้นเราคงต้องทบทวนกันใหม่ว่า culture ที่ใช้กันอยู่ยังได้ผลหรือไม่
ขณะเดียวกัน เวลาพูดถึงการ bully คนมักจะนึกถึงผู้กระทำและถูกกระทำ แต่จริงๆยังมีคนที่อยู่รอบๆเลือกที่จะปิดปาก ปิดหู ปิดตากับการ bully นั้นหรือไม่ ตนมองว่าแนวทางการแก้ไขปัญหานี้มี 3 แนวทางคือ ในส่วนของผู้กระทำ อย่างที่ ผศ.นพ.พนม กล่าวว่าบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นต้องมีการ re-educate ให้มีการทบทวนว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่ถูกต้อง ส่วนผู้ที่ถูกกระทำ อาจต้องมีการจัดทำ protocol ว่าถ้าถูกกระทำต้องไปแจ้งที่ไหน หรืออาจมีหน่วยงานหรือตัวบุคคลก็ได้ สำหรับเป็นจุดที่ให้ผู้ถูกกระทำไปแจ้ง
ที่สำคัญอีกส่วนคือบุคคลรอบข้าง ต้องเลิกปิดหู ปิดตา ปิดปาก หรือยอมรับต่อการกระทำที่ bully ต้องช่วยทัดทาน กล่าวตักเตือน แต่ก็มีบางคนที่เกรงว่าหากทำเช่นนี้แล้วจะกลายเป็นเหยื่อคนต่อไป แนวทางนี้อาจต้องมี management structure บางอย่าง ทั้งการสร้างความตระหนักรู้ การมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและมีภาวะผู้นำที่ดีในองค์กร และสุดท้ายคือเราเองก็ต้องไม่กระทำสิ่งที่ไม่ดี และคงไว้ซึ่งสิ่งที่ดีๆต่อไป
ส่วน นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตนแบ่งโรงพยาบาลเป็น 3 กลุ่มคือ โรงพยาบาลโลกที่ 1 โรงพยาบาลโลกที่ 2 และ โรงพยาบาลโลกที่ 3 ในส่วนของโรงพยาบาลโลกที่ 1 เช่น โรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนแพทย์ กลุ่มนี้ดีมาก เพราะมีสถานะการเงินดี การบริหารจัดการดี ไม่ขาดแคลนทรัพยากร ส่วนโรงพยาบาลโลกที่ 2 เช่น โรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดกทม. โรงพยาบาลของกรมการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปบางแห่งที่มีผู้อำนวยการเก่งๆ กลุ่มนี้ก็ยังดีเพราะมีเจ้านายดูแลดี รวมถึงโรงพยาบาลชุมชนซึ่งมีชมรมแพทย์ชนบทคอยดูแล ขณะที่โรงพยาบาลโลกที่ 3 คือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปส่วนใหญ่ โรงพยาบาลเหล่านี้เผชิญกับวิบากกรรม เพราะไม่มีอธิบดีสังกัด ไม่มีเจ้านาย ผู้อำนวยการกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอยู่แป๊ปๆก็ย้ายหรือเกษียณ
ตนมองว่า bullying เกิดในโรงพยาบาลโลกที่ 3 มากที่สุด เพราะโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เป็นแหล่งรวมความทุกข์ยาก คนไข้อาการหนักมาที่นี่หมด เลยกลายเป็นแดนปะทะ การ bully เช่น ให้แพทย์ intern ทำงานโดยไม่ดูแล ดุว่าพยาบาล พูดจาเสียดสีเหยียดหยามแพทย์รุ่นน้อง หรือบางคนก็กดขี่กันเอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางคนทำงานหนัก บางคนก็ไม่ทำงาน รวมทั้งการไม่รับ refer จากโรงพยาบาลชุมชน ไม่รับ consult ระหว่างแผนก เป็นต้น
นพ.ศิริชัย มองว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดสถานการณ์แบบนี้มี 3-4 ประการ อย่างแรกเกิดจากวิธีคิด เป็น culture ถ้าบอกว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน มันก็คือ culture เก่า แต่ถ้าวันไหนคิดว่าฉันจะช่วยคุณ คุณลำบากมาฉันจะช่วยคุณ ก็จะเกิด culture ใหม่ทันที น้องจะจำความรู้สึกแบบนี้ได้ โตไปก็ไปช่วยน้องรุ่นต่อไปต่อ ปัจจัยที่ 2 คือเกิดจากประสบการณ์สมัยเป็นนักเรียนแพทย์ดังที่ ผศ.นพ.พนม กล่าวไว้ คือถ้าได้ประสบการณ์ที่ไม่ดีก็จะเกิดการเลียนแบบแล้วไป bully คนอื่นต่อ เกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่เแห่งวิบากกรรม หากมีประสบการณ์ที่ถูกกลั่นแกล้ง ก็จะกลายเป็นคนที่ไม่ช่วยเหลือใคร มองโลกในแง่ร้าย ปัจจัยที่ 3 คือประสบการณ์ในโรงพยาบาลที่ทำงานอยู่ หากอยู่ในองค์กรที่มีการช่วยเหลือกันก็จะซึมซับและพัฒนาไปสู่การช่วยเหลือผู้อื่น และปัจจัยที่ 4 ในปี 2564 จะเกิดระเบิดลูกใหญ่เพราะแพทย์จบใหม่บางส่วนจะไม่ได้รับการบรรจุราชการ แพทย์จบใหม่ยุคนั้นจะถูกเบียดเบียนอย่างรุนแรงจากนโยบายรัฐ ทำงานใช้ทุนแต่ไม่ได้บรรจุ เขาก็จะอยู่แบบ aggressive
นพ.ศิริชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า วิธีแก้ปัญหานี้ ในส่วนของโรงเรียนแพทย์ ตนคิดว่าประสบการณ์ที่นักศึกษาได้รับจะมีผลต่อพฤติกรรมของเขา ดังนั้นหลักการมีนิดเดียวคือเมตตาธรรมค้ำจุนโลก ในส่วนของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ต้องหาเจ้าภาพมาดูแลเสียที จะให้อยู่กับอธิบดีหรืออยู่กับกรมการแพทย์ก็ได้ เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นทันที และสุดท้ายคือช่วยกันสร้างวัฒนธรรมฉันจะช่วยคุณ เพราะการช่วยเหลือคนอื่นจะมีเพื่อนเพิ่มขึ้น 1 คน ช่วย 100 คนได้เพื่อน 100 คน แต่ถ้าแกล้ง 1 คนก็ได้ศัตรู 1 คน แกล้ง 100 คนก็ได้ศัตรู 100 คน วันหนึ่งพลาดขึ้นมา เจ้ากรรมนายเวรตามถล่มทันที ที่สำคัญคือวัฒนธรรมฉันจะช่วยคุณเกิดขึ้นเองไม่ได้ ต้องช่วยกันสร้าง ต้องเก็บใส่หัวใจไว้แล้วไปกระซิบคนข้างๆว่าฉันจะช่วยคุณ
- 556 views