ศจย.-สสส. และภาคีเครือข่าย จัดประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพ ครั้งที่ 18 กระตุ้น “บ้านต้องปลอดควันบุหรี่ 100%” เผยการสูบบุหรี่ในบ้านสามารถเอาผิดตามกฎหมายได้ ระบุกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค.62 นี้ ชี้บ้านที่มีคนสูบบุหรี่เสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่ม 24% เด็กเสี่ยงไหลตายเพิ่ม 2 เท่า นักวิชาการมะกัน เตือน บุหรี่ไฟฟ้าระบาด สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รัฐบาลทุกประเทศ ต้องห้ามขาย-สูบ 100% สสส. ชวนไทยประกาศ tobacco endgame ชู สิงคโปร์ตัวอย่างปลอดบุหรี่ เพิ่มมาตรการคุมเข้ม เผย UN ยกไทยมีผลงานควบคุม NCDs เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 3 ของโลก
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา กรุงเทพฯ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 เพื่อรณรงค์สิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดจากควันบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ที่เป็นภัยต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพของเด็กซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของสังคมไทยในอนาคต
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวบรรยายพิเศษ “the tobacco endgame in Thailand” ว่า อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดปี 2560 พบว่า มีคนไทยสูบบุหรี่ทั้งสิ้น 10.7 ล้านคน คิดเป็น 19.1% ลดลงจากปี 2534 ที่มีจำนวน 12.2 ล้านคนหรือ 32.0% โดยเพศชายมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าเพศหญิง 22 เท่า หรือ 37.7% และ 1.7% ตามลำดับ สัดส่วนของผู้ไม่สูบบุหรี่ต่อผู้ที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มสูงขึ้น จาก 3:1 ในปี 2534 เป็น 4.2:1 ในปี 2560
บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่ภาระโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นอันดับหนึ่ง โดยหนึ่งในมาตรการควบคุมสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพอย่าง บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ได้ผลคือ มาตรการทางภาษี เป็นหัวหอกสำคัญในการลดอัตราบริโภค แต่ต้องเนินการมาตรการอื่นๆ ควบคู่ด้วย ทั้งการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมาย การรณรงค์สังคมเพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหา และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน สังคมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ ในปี 2560 คณะทำงานสหประชาชาติ ยกย่องให้ประเทศไทยมีผลการดำเนินงานการจัดการปัญหาโรค NCDs เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 3 ของโลกร่วมกับฟินแลนด์และนอร์เวย์ ขณะที่ WHO ยกย่องรูปแบบการทำงานของ สสส. เป็นนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพระดับโลก และประเทศต่างๆ อย่างเช่น เวียดนาม ลาว มาเลเซีย มองโกเลียที่ใช้ สสส. ไทยเป็นต้นแบบ
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ขณะนี้ในโลกเริ่มมีการพูดถึงการเผด็จศึกบุหรี่หรือ End Game คือ การลดอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศลดลงมากๆ เหลือเพียง5-15% ซึ่งในการประชุมวิชาการในครั้งนี้ได้ชวนให้คิดถึงการทำ End Game บุหรี่ในไทย ซึ่งยังต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคอีกหลายเรื่อง เช่น การสูบบุหรี่มวนเองหรือยาเส้น กลไกภาษีที่ยังไม่ได้ผลมากนัก การบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ โครงสร้างบุคลากรไม่เพียงพอรับมือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การทำ End Game ไม่มีมาตรการตายตัว ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ แต่ต้องทำมากกว่ามาตรการที่ทำอยู่ปกติ
ไทยอาจใช้มาตรการแบบสิงคโปร์ ที่ขยายอายุการสูบบุหรี่ ซึ่งขณะนี้ไทยกำหนดให้ซื้อบุหรี่ได้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป อาจจะขยายเป็น 21-24 ปี ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่รุนแรง และต้องการเจตจำนงทางการเมืองที่แรงพอที่จะผลักดันได้สำเร็จ หรือการจำกัดผลิตภัณฑ์ยาสูบให้มีการตลาดลดลงเรื่อยๆ มาตรการบุหรี่ซองเรียบ การจำกัดจุดขายต่อพื้นที่ เป็นต้น หากคิดถึง ซึ่งต้องระดมความคิดเห็นเพื่ออกมาตรการใหม่ๆ ออกมาควบคุมเพื่อให้ไทยเผด็จศึกบุหรี่ได้สำเร็จ
ศ.ดร.สแตนตัน แกลนซ์
ศ.ดร.สแตนตัน แกลนซ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและศึกษาด้านการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข จากการศึกษาวิจัยพบว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายเหมือนกับผลิตภัณฑ์นิโคตินอื่นๆ ที่มีการปรุงแต่งรสเพื่อดึงดูดลูกค้าหน้าใหม่โดยเฉพาะเยาวชน มีการตลาดที่หลอกลวงและฉ้อฉล โดยอ้างว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ ช่วยเลิกสูบบุหรี่ แต่ข้อเท็จจริงแล้วยิ่งสูบยิ่งทำให้ติดนิโคติน และพัฒนาไปสู่การสูบบุหรี่แบบมวน ทำให้ผู้สูบส่วนใหญ่เลิกบุหรี่ได้ยากขึ้น
รัฐบาลทุกประเทศควรออกนโยบายควบคุมอย่างเข้มงวดควรออกกฎหมายให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จัดการศึกษาให้สังคมทราบเพื่อตอบโต้ข้ออ้างเรื่องความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้าและการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ หน่วยงานด้านสาธารณสุขนำโดยองค์การอนามัยโลก บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งหมด ล้วนปฏิเสธการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพราะมีผลกระทบที่รุนแรง ส่วนประกอบของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตราย เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและปอด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง นิโคตินสกัดเป็นพิษต่อสมอง และยังก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มอัตราการสูบบุหรี่ค่อนข้างคงที่ โดย ศจย. ได้ศึกษาพบว่า มีครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ มากถึง 4,962,045 ครัวเรือน คนที่ไม่สูบบุหรี่จึงได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยเฉลี่ยมากถึง 10,333,653 คน มีผลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่ หรือผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 24% และ 19% ตามลำดับเด็กทารกที่มีผู้ปกครองสูบุบหรี่มีโอกาสเกิดภาวะไหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีโอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 47% และมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 39%
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศูนย์สร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ได้ศึกษาเด็กก่อนวัยเรียนอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ พบว่า 50% ของผู้สูบบุหรี่ มีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย และเด็ก 16% ตรวจพบสารโคตินินในปัสสาวะ แสดงถึงสารพิษตกค้างในตัวเด็กจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง และเด็กกลุ่มที่ผู้ปกครองร่วมโครงการเลิกบุหรี่มือสอง มีระดับโคตินินในปัสสาวะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่า การได้รับพิษภัยจากบุหรี่มือสองและมือสาม (ควันบุหรี่ที่ติดตามเสื้อผ้า ของใช้ในบ้านและรถยนต์) เป็นภัยร้ายที่ไม่คาดคิดต่อชีวิตของลูกน้อย เพราะเด็กต้องใช้อากาศหรือสิ่งของร่วมกันกับผู้ใหญ่ใน
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การสูบบุหรี่ในบ้านสามารถเอาผิดตามกฎหมายได้ ซึ่งขณะนี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ ซึ่งเอาผิดเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ที่นิยามของความรุนแรงในครอบครัวรวมถึงการทำอันตรายต่อสุขภาพด้วย หากได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ในบ้าน หรือพบเห็นผู้ที่ได้รับผลกระทบก็สามารถร้องต่อศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว หรือ พม.จังหวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล และให้บุคลากรทางการแพทย์พิสูจน์ว่าได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการสูบบุหรี่จริงหรือไม่ และร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งสามารถสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยสั่งให้ออกห่างจากคู่กรณีและสั่งให้ไปบำบัดรักษาปรับพฤติกรรมได้ ส่วนโทษความรุนแรงในครอบครัวก็จะใช้คดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาแทน ซึ่งโทษขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่ได้รับ เรียกว่า 1 คดีส่งขึ้น 2 ศาล ก็จะทำให้เกิดความเกรงกลัวมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่บุหรี่ แต่การได้รับผลกระทบจากยาเสพติดหรือสุราก็สามารถร้องเอาผิดได้
- 1728 views