4 หน่วยงานจับมือสร้างเครือข่ายวิจัย พัฒนา และผลิตสายพันธุ์กัญชาและกัญชง ครบวงจร เน้นพันธุ์ไทยให้ได้มาตรฐานเมดิคัลเกรด เทียบเท่าต่างประเทศ รองรับการวิจัยทดลองทางคลินิก และรักษาผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ หรือ Special Access Scheme (SAS)
กรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม จับมือสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิจัย พัฒนา และผลิตสายพันธุ์กัญชาและกัญชง ตามมาตรฐานเกรดทางการแพทย์ (Medical Grade) เทียบเท่าต่างประเทศ แบบครบวงจร ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เน้นสายพันธุ์ไทยให้มีศักยภาพของสารสำคัญตามความต้องการทางการแพทย์ และส่วนพันธุ์ลูกผสมปรับปรุงให้สามารถปลูกภายใต้สภาพภูมิอากาศประเทศไทย เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2562 ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ผศ.พาวิน มโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชงเพื่อใช้ทางการแพทย์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ก่อนอื่นขอย้ำว่าการใช้สกัดกัญชาทางการแพทย์ไม่ใช่เป็นทางเลือกอันดับแรกในการรักษาโรค แต่จะใช้เมื่อรักษาด้วยยาตามมาตรฐานการรักษาแล้วไม่ได้ผล จึงทำให้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีความต้องการสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ทั้ง THC และ CBD เพิ่มขึ้น ซึ่งสารทั้ง 2 มีเป็นสาระสำคัญที่มีอยู่ในต้นกัญชาและกัญชง ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้มีน้ำมันสารสกัดที่เพียงพอและมีคุณภาพได้มาตรฐานเกรดทางการแพทย์หรือเมดิคัลเกรด สำหรับนำไปใช้ในการวิจัยพัฒนาทดลองทางคลินิก และรักษาบรรเทาโรคต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ หรือ Special Access Scheme (SAS) ซึ่งเป็นการรักษาผู้ป่วยและเก็บข้อมูลการวิจัยควบคู่กันไป
ทั้งนี้ สายพันธุ์กัญชา กัญชง ที่มีการปลูก การเก็บเกี่ยวที่ดี เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการเพาะปลูกที่ดี หรือ GAP (Good Agricultural Practice; GAP : Propagation and Cultivation) จะทำให้ได้วัตถุดิบที่ดีมีสารสำคัญเป็นตามมาตรฐาน ปลอดภัยปราศจากสารพิษปนเปื้อน และมีจำนวนที่เพียงพอ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งและต้องดำเนินการแบบครบวงจร
ซึ่งกรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม และสถาบันการศึกษาทั้ง 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์ด้านการเกษตรของประเทศ จะทำการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ต้นกัญชาและกัญชงโดยเน้นสายพันธุ์ไทย ส่วนสายพันธุ์ลูกผสมต้องปรับปรุงพันธุ์ให้ปลูกได้ในสภาพอากาศแบบประเทศไทย ตลอดจนศึกษาสภาพแวดล้อมและระบบการปลูกที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ต้นกัญชาและกัญชงที่มีสัดส่วนสารสำคัญเหมาะสมสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ โดยผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ที่มีแพทย์ที่ผ่านการอบรมและได้หนังสือรับรอบให้สั่งจ่ายน้ำมันกัญชาได้ ซึ่งจะดำเนินการรักษาตามแนวทางของกรมการแพทย์ พร้อมกับบันทึกข้อมูลผลการรักษาเพื่อใช้ประโยชน์ในการขึ้นทะเบียนยาต่อไป
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ในการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์โดยไม่ต้องพึงพาต่างประเทศ ประเทศไทยต้องมีการดำเนินการเองอย่างครบวงจร เมื่อได้มีการวิจัย พัฒนากัญชาและกัญชงสายพันธุ์ไทยได้มาตรฐานเกรดทางการแพทย์ และสามารถปลูกได้ในสภาพอากาศของประเทศไทย น่าจะทำให้ต้นทุนของวัตถุดิบต่ำลง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ คือ วิจัย พัฒนา คัดเลือก สายพันธ์และการปลูกต้นกัญชาเป็นวัตถุดิบ
ที่มีสารสำคัญเหมาะสมทางการแพทย์ ปลอดจากสารพิษ ส่วนกลางน้ำ คือ วิจัย พัฒนา ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาที่มีสาร THC และ CBD ตลอดจนสารอื่นๆ ตามความต้องการของแพทย์ในการใช้รักษาผู้ป่วย และปลายน้ำคือ การนำไปใช้รักษา บรรเทาอาการกับผู้ป่วยแบบ Special Access Scheme (SAS) ซึ่งเป็นการรักษาผู้ป่วยและเก็บข้อมูลการวิจัยควบคู่กันไป รวมถึงการ นำไปศึกษา วิจัยทดลองทางคลินิกของแพทย์และทีมผู้วิจัยด้วย องค์การเภสัชกรรม เป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งที่เน้นการดำเนินงานในส่วนของกลางน้ำ ทำหน้าที่การวิจัยพัฒนา และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสารสำคัญในกัญชาและกัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ นอกจากนั้นในส่วนของปลายน้ำ
ยังอยู่ในขั้นวิจัย พัฒนา ผลิตภัณฑ์ องค์การได้ร่วมมือกับกรมการแพทย์ทำการศึกษาวิจัย พัฒนา ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชากับผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ โดยจะเริ่มวิจัยในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ และในต้นปี 2563 องค์การฯจะนำกำลังการผลิตส่วนหนึ่งไปผลิตสารสกัดจากวัตถุดิบกัญชาและกัญชงที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์จากการพัฒนาสายพันธุ์และปลูกจากของมหาวิทยาลัย ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงสารสกัดกัญชาและกัญชงมาตรฐานทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น และจะได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยทั้ง 2 ด้วย นับเป็นความร่วมมือของหน่วยงานในประเทศเพื่อคนไทยได้ใช้กัญชาเกรดทางการแพทย์เทียบเท่าผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ
กัญชามี “แคนนาบินอยด์” ที่มีสารสำคัญ THC และ CBD เป็นสารสำคัญหลัก และยังมีสารอื่นๆ อีกกว่า 400 ชนิด โดยสารสำคัญ THC และ CBD เป็นสารมีสรรพคุณทางการแพทย์หลายประการ ไม่ใช่เฉพาะพืชกัญชาที่มีสารสำคัญ CBD เท่านั้น แต่ต้นกัญชง มีคุณสมบัติผลิตสาร CBD ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์เช่นกัน และคาดว่าในปี2563 องค์การอนามัยโลกจะถอดสาร CBD ออกจากการบัญชียาเสพติด จะทำให้ประเทศไทยและทั่วโลกความต้องการใช้ สาร CBD จาก กัญชาและกัญชงเพิ่มขึ้นมาก
ผศ.พาวิน มโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีความพร้อมและได้เตรียมพื้นที่ไว้ในการศึกษา การวิจัยและการผลิตกัญชาและกัญชงเพื่อใช้ทางการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 3,000 ตารางเมตร และมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่ ขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 3,000 ตารางเมตรเช่นกัน โดยทีมวิจัยแลrพัฒนาของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ทั้งสองแห่งจะร่วมกับนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายสถาบัน ดำเนินการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชงให้ได้ตามมาตราฐานเกรดทางการแพทย์ การผลิตเมล็ดพันธุ์ และวิจัยเปรียบเทียบวิธีการปลูกที่เหมาะสม เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรต่อไป โดยการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชงจะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกในลักษณะโรงเรือนระบบปิด (indoor) การปลูกในแบบเรือนกระจก (green house) และการปลูกกลางแจ้ง (outdoor) ทั้งนี้การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาดังกล่าว จะใช้แนวทางของระบบเกษตรอินทรีย์ (organic) เป็นหลักสำคัญในการดำเนินการ เพื่อให้ได้ผลผลิตกัญชาและกัญชงที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพและได้มาตราฐานตามที่ทางองค์การเภสัชกำหนดไว้
ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้เตรียมพื้นที่ไว้ 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และที่สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตรของมหาวิทยาลัย ที่จังหวัดลำปาง จำนวน 2,200 ตารางเมตร สำหรับปลูกเพื่อเก็บดอก แห่งละ 1,800 ต้น และสำหรับวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ อีกแห่งละ 200 ต้นโดยในเบื้องต้น จะทำการปลูกสายพันธุ์ไทยภูพานด้ายแดง โดยใช้เมล็ดพันธุ์จากการนิรโทษกรรมและนำไปขยายพันธุ์ต่อ ส่วนการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จะเน้นพันธุ์ไทยก่อนควบคู่กับพันธุ์ลูกผสม เพื่อศึกษาความเหมาะสมของสายพันธุ์กับสภาพแวดล้อมและระบบการปลูกของประเทศไทย เพื่อให้ได้พืชกัญชาและกัญชงที่มีสัดส่วนสารสำคัญเหมาะสมสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยต่อไป
- 514 views