เวที ‘วิกฤตความหมายในความตาย’ ชี้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมกำลังสร้างวิกฤตต่อความหมายทั้งกับชีวิตและความตาย นักวิชาการย้ำความหมายของความตายเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและสัมพันธ์กับคำถามว่า ‘ชีวิตที่ดีคืออะไร?’
วันที่ 17 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัด เสวนา REST IN PEACE 4 : วิกฤตความหมายในความตาย จัดโดยภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รวมทั้งภาคีเครือข่ายต่างๆ
รศ.ดร.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา
รศ.ดร.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงานว่า งาน REST-IN-PEACE วันนี้ เป็นการจัดครั้งที่ 4 โดยถือเป็นบูรณาการระหว่างงานวิจัย การเรียนการสอน และการบริการวิชาการถ่ายทอดความรู้สู่สังคม
“การกล่าวถึงความตายจากมุมมองสังคมศาสตร์นับเป็นเรื่องใหม่ เพราะมักเข้าใจว่าการเจ็บป่วยหรือความตายเป็นเรื่องทางการแพทย์หรือศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ซับซ้อนละเอียดอ่อนมากจนเราเพิกเฉยต่อมัน ปัจเจกบุคคลแทบจะมองไม่เห็นอำนาจของตนเองในการกำหนดวาระสุดท้ายของตัวเอง และในท้ายที่สุด ‘ความตาย’ ก็คือสิ่งที่ตอบคำถามว่าสังคมนี้จะเดินต่อไปอย่างไร
ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและสังคมในปัจจุบัน ได้สร้างสภาวะชีวิตที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ความไม่แน่นอน ความกลัว ความโดดเดี่ยว ที่ล้วนทำให้ทุกก้าวของชีวิตยากลำบากขึ้น ที่สำคัญคือมนุษย์ไม่เข้าใจว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร อยู่เพื่ออะไร และควรทำอะไร ทั้งหมดถือเป็นวิกฤตของความหมายที่เรามีต่อชีวิตและความตาย”
รศ.ดร.เอก กล่าวอีกว่า การจัดเสวนาในวันนี้ถือเป็นก้าวแรกของการสร้างองค์ความรู้ เพื่อการวิเคราะห์สังคมไทยอย่างรอบด้านทุกมิติในการดำรงชีวิตในอนาคต และจะถูกพัฒนาเป็นฐานข้อมูลในการต่อยอดเพื่อการศึกษาและการวิจัยที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผศ.ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์
ด้าน ผศ.ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพูดคุยประเด็นนี้จากผู้ที่ผ่านประสบการณ์ต้องเตรียมตัวสำหรับความตายของตัวเองหรือกับการดูแลผู้ป่วยที่ใกล้ตาย ทำให้พบว่า สังคมไทยขาดภาษา ขาดกระบวนการคิด ขาดคำศัพท์ ขาดวิธีการต่างๆ ที่จะพูดถึงหรือสื่อสารเรื่องความตาย งานครั้งนี้จึงมีความสำคัญมากในการเพิ่มกระบวนการคิดและเพิ่มขีดความสามารถในการสื่อสารประเด็นเกี่ยวกับความตายให้กับสังคมไทยและเราทุกคน
บรรยากาศภายในงานมีการเปิดเวทีพูดคุยถึงประเด็นเกี่ยวเนื่องกับความตายในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านพิธีกรรม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการศพจาก 3 มุมมอง คือ สัปเหร่อ นักนิติเวช และเจ้าหน้าที่กู้ภัย การตายและจุดจบของชีวิตในอนาคตที่มนุษย์อาจสามารถกำหนดด้วยตนเองได้ ผ่านข้อถกเถียงเรื่องการทำการุณยฆาตและมาตรา 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ว่าสัมพันธ์กันอย่างไร และจะช่วยผู้ป่วย ญาติ และแพทย์อย่างไร ไปจนถึงปัญหาการตายอย่างโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นในสังคมสูงอายุซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
ในปาถกฐาปิดท้ายในหัวข้อ ‘ตายไม่เคยเปลี่ยนแปลง?!?!’ โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องธรรมดา ในแง่หนึ่งความตายคือสัจธรรม ประเด็นคือเกิดมาต้องแก่ เจ็บ และตายจริงหรือเปล่า เพราะนักสังคมวิทยาพบว่า แต่ละสังคมในแต่ละยุคสมัยให้ความหมายแก่การเกิด แก่ เจ็บ ตายไม่เหมือนกัน ความหมายของชีวิตและความตายจึงผันแปรไปตามบริบทต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน การให้ความหมายต่อพิธีกรรมและการทำศพก็เปลี่ยนไป เมื่อความหมายเปลี่ยนไปจึงก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจ ความห่างเหิน และความแปลกแยก ยกตัวอย่างงานเขียนของเฮโรโดตัส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกโบราณ ซึ่งแสดงให้เห็นการให้ความหมายและพิธีกรรมต่อความตายที่แตกต่างกันระหว่าง 2 วัฒนธรรมว่า
“เฮโรโดตัสเล่าว่า กษัตริย์เปอร์เซียเรียกคนอินเดียตอนใต้และคนกรีกมาถามว่า เวลาพ่อแม่ท่านตายทำยังไง คนอินเดียใต้ตอบว่ากินเนื้อพ่อแม่ของเรา เพราะเรามาจากพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่ไปแล้วก็ให้มาสู่เรา ถ้าเรามีลูกหลาน บรรพบุรุษก็อยู่ในตัวเราตลอด ส่วนคนกรีกบอกว่าเผากลับไปสู่ธาตุอากาศเพราะเรามาจากธาตุอากาศ กษัตริย์เปอร์เซียบอกให้คนอินเดียใต้เผาศพพ่อแม่ และคนกรีกกินศพพ่อแม่ ถ้าไม่ทำ ตาย คนอินเดียใต้ยอมตายดีกว่าที่จะเผา”
ศ.ดร.ไชยยันต์ กล่าวอีกว่า การที่คนยุคใหม่ให้ความใส่ใจกับชีวิตอย่างสูง เป็นเพราะเทคโนโลยีทำให้มนุษย์ตายช้าลง โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่รักษาได้ หลายสิ่งหลายอย่างจึงถูกเลื่อนออกไปในอนาคตไกลมาก วิทยาการจึงทำให้มนุษย์ยุคใหม่รู้สึกว่าความตายไม่ใช่สิ่งใกล้ตัวอีกต่อไป และรู้สึกว่าการตายเป็นเรื่องใหญ่
“ไม่ว่าสังคมจะให้ความหมายกับชีวิต การเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างไรก็แล้วแต่ ประเด็นสำคัญที่สุดคือ เราขาดความหมายของชีวิตที่ดีไม่ได้ เราต้องรู้ความหมายของชีวิตที่ดี แต่ชีวิตที่ดีไม่ใช่ของเราคนเดียว เราอยู่โดยไม่มีสังคมไม่ได้ ชีวิตที่ดีต้องเชื่อมโยงกับสังคม” ศ.ดร.ไชยยันต์ กล่าว
- 39 views