ชาติสมาชิกองค์การอนามัยโลกลงมติรับรองบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องฉบับที่ 11 (ICD-11) ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565
ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 72 ระหว่างวันที่ 20-28 พฤษภาคม 2562 ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์นั้น มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ชาติสมาชิกองค์การอนามัยโลกได้ลงมติรับรองบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องฉบับที่ 11 (ICD-11) ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565
บัญชี ICD เป็นพื้นฐานสำหรับการประเมินแนวโน้มและสถิติด้านสุขภาพในระดับโลก และเป็นมาตรฐานสากลสำหรับการรายงานโรคหรือปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้บัญชี ICD ยังเป็นมาตรฐานการจำแนกโรคเพื่อวัตถุประสงค์ทางคลินิกและการศึกษาวิจัยโดยใช้ระบุโรค ความผิดปกติ อาการบาดเจ็บ และปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
บัญชี ICD ยังครอบคลุมถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพ (รวมถึงปัจจัยภายนอกที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตหรือการเจ็บป่วย) จึงทำให้สามารถมองเห็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ทุกแง่มุม
การศึกษาสาเหตุของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตเป็นหัวใจสำคัญของการประเมินแนวโน้มของโรคและการแพร่ระบาด กำหนดบริการสุขภาพ จัดสรรงบประมาณสาธารณสุข และลงทุนเพื่อยกระดับการรักษาและป้องกันโรค ทำให้ปัจจุบันบัญชี ICD-11 มีบทบาททั้งในการบันทึกเวชระเบียน บริการสาธารณสุขมูลฐาน ความปลอดภัยของผู้ป่วย การดื้อยาต้านจุลชีพ การจัดสรรทรัพยากร การเบิกจ่ายค่ารักษา ส่วนผสมของผู้ป่วยนอกเหนือจากสถิติการเสียชีวิตและการเจ็บป่วย
บัญชี ICD-11 ผ่านการปรับปรุงให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 โดยสะท้อนความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์และแพทยศาสตร์ บัญชี ICD-11 ฉบับล่าสุดได้ปรับปรุงให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดเพื่อให้สามารถบันทึกข้อมูลได้โดยละเอียด ระบบอิเล็กทรอนิกส์ยังส่งผลให้การบันทึกและนำข้อมูลไปใช้ทำได้อย่างง่ายดายซึ่งนำไปสู่การลดความผิดพลาดและต้นทุน ขณะเดียวกันก็เปิดทางให้เข้าถึงระบบข้อมูลได้มากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ขาดแคลนทรัพยากร
ชาติสมาชิกองค์การอนามัยโลกย้ำด้วยว่าบัญชี ICD-11 จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของความโปร่งใสและร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย
นอกจากการลงมติรับรองบัญชี ICD-11 แล้ว ยังมีรายงานว่าในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ได้มีการลงมติในเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อนามัยโลกประกาศบัญชีจำแนกโรคฉบับใหม่ ICD-11 ให้มีผลบังคับใช้ปี 2565
ความปลอดภัยของผู้ป่วย
ชาติสมาชิกองค์การอนามัยโลกในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกกำหนดให้ความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นความจำเป็นเร่งด่วนด้านสุขภาพและเห็นพ้องที่จะลดอันตรายต่อผู้ป่วยจากการรักษาพยาบาล
ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกยังรับรองการกำหนดให้วันที่ 17 กันยายนของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยผู้ป่วยระดับโลก และเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกให้การสนับสนุนทางเทคนิคแก่นานาประเทศเพื่อพัฒนาศักยภาพในการประเมิน วัด และยกระดับความปลอดภัยของผู้ป่วย
สมัชชาอนามัยโลกเรียกร้องให้อนามัยโลกจัดทำแผนปฏิบัติการดูแลความปลอดภัยของผู้ป่วยร่วมกับนานาประเทศและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อพัฒนาและประกันความปลอดภัยของผู้ป่วยในระดับโลก
อันตรายต่อผู้ป่วยอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและความพิการในผู้ป่วยทั่วโลก โดยประเมินว่าแต่ละมีเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ราว 134 ล้านเหตุการณ์อันเนื่องมาจากความบกพร่องของโรงพยาบาลในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางและเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราย 2.6 ล้านราย ต่างจากในกลุ่มประเทศรายได้สูงซึ่งประเมินว่ามีผู้ป่วยเพียง 1 ใน 10 รายที่ได้รับอันตรายระหว่างการรักษาในโรงพยาบาล
ด้วยความตระหนักว่าความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหัวใจสำคัญของการให้บริการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุขถ้วนหน้าทำให้อนามัยโลกและสหราชอาณาจักรจับมือตั้งโครงการความร่วมมือ ‘Global Patient Safety Collaborative’ เพื่อผลักดันความปลอดภัยของผู้ป่วยในระดับโลก ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางเพื่อลดอันตรายต่อผู้ป่วยที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ตลอดจนยกระดับความปลอดภัยของระบบการรักษาพยาบาลในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง
ระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินสำหรับการสาธารณสุขถ้วนหน้า
ชาติสมาชิกอนามัยโลกเห็นพ้องที่จะยกระดับคุณภาพและความรวดเร็วของบริการรักษาพยาบาลสำหรับภาวะผิดปกติที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีรวมถึงการบาดเจ็บ หัวใจวาย ปัญหาทางจิต การติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
ระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพเป็นพื้นฐานสำคัญของการสาธารณสุขถ้วนหน้า และการลงทุนในบริการส่วนหน้าจะส่งผลดีต่อการรักษาชีวิตผู้ป่วย เพิ่มคุณภาพบริการรักษาพยาบาล และลดต้นทุนในองค์ประกอบอื่นของระบบสุขภาพ
ชาติสมาชิกย้ำว่าการให้บริการอย่างทันท่วงทีเป็นองค์ประกอบสำคัญของการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ และว่าการเสียชีวิตและความพิการระยะยาวสามารถป้องกันได้หากมีบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันการณ์
มาตรการที่นานาประเทศเห็นพ้องสำหรับการยกระดับการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินประกอบด้วยการพัฒนานโยบายสำหรับการจัดสรรงบประมาณอย่างยั่งยืน การเข้าถึงบริการดูแลรักษาฉุกเฉินถ้วนหน้าโดยการสนับสนุนจากภาครัฐ ตลอดจนการรวมการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การให้บริการรักษาพยาบาลและการฝึกอบรมด้านสุขภาพในทุกระดับ นอกจากนี้ชาติสมาชิกยังเห็นพ้องในการใช้ระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินของอนามัยโลกสำหรับประเมินช่องว่างการให้บริการและการประเมินลำดับความเร่งด่วนโดยสอดคล้องกับบริบท
น้ำ สุขาภิบาล และอนามัย
ชาติสมาชิกองค์การอนามัยโลกเห็นพ้องในมติพัฒนาความปลอดภัยด้านน้ำ สุขาภิบาล และอนามัย (WASH) ในสถานพยาบาลทั่วโลก โดยชี้ว่าเป็นมาตรการสำคัญยิ่งยวดสำหรับลดการแพร่โรคระบาด การเสียชีวิตของแม่และทารกแรกเกิด และก้าวไปสู่การสาธารณสุขถ้วนหน้า มติดังกล่าวยังเรียกร้องให้ชาติสมาชิกกำหนดให้บริการ WASH เป็นแผนเร่งด่วนเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยในบริการรักษาพยาบาลทั่วโลก
ปัจจุบัน 1 ใน 4 ของสถานพยาบาลทั่วโลกยังขาดบริการน้ำสะอาดและ 1 ใน 5 ไม่มีบริการสุขาภิบาล โดยคาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบราว 2,000 ล้านและ 1,500 ล้านคนตามลำดับ นอกจากนี้สถานพยาบาลจำนวนมากไม่มีระบบการดูแลอนามัยของมือและขาดระบบกำจัดขยะอย่างปลอดภัย โดยประเมินว่าราวร้อยละ 15 ของผู้ป่วยทั่วโลกเกิดการติดเชื้ออย่างน้อย 1 ครั้งระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยมีความเสี่ยงสูงสุดในกลุ่มประเทศรายได้น้อย
จากปัญหานี้ที่ประชุมจึงมีมติเรียกร้องให้ชาติสมาชิกพัฒนาแผนโรดแมพระดับชาติ กำหนดมาตรฐาน และลงทุนในระบบเพื่อสนับสนุนบริการ WASH อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้อนามัยโลกเป็นผู้นำ ร่วมขับเคลื่อนทรัพยากรเพื่อการลงทุน รายงานความคืบหน้าในระดับโลก รวมถึงประสานงานและก่อตั้งระบบ WASH ตลอดจนสนับสนุนการป้องกันแลควบคุมโรคติดเชื้อในสถานพยาบาลระหว่างเหตุฉุกเฉิน
ขอบคุณที่มา
- 217 views