สธ.และ สปสช.ผนึกภาคีเครือข่าย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นจัดทำแนวทางป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. ระบุ ตั้งเป้าปี 2563 นำร่องจ่ายให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี (PrEP) ก่อนเกิดการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจำนวน 3,000 ราย ขณะที่รอง ผอ.สำนักโรคเอดส์ เผยสถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 6,300 ราย ปักหมุดต้องลดลงให้ต่ำกว่า 1,000 รายให้ได้
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) และสำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ รับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการจัดทำแนวทางการดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ปีงบประมาณ 2563 สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง ตามแผนปฏิบัติการเร่งรัดยุติเอดส์ ประเทศไทย 2558-2562 เป้าหมายกลุ่มประชากรหลัก ได้แก่ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สาวประเภทสอง พนักงานบริการ (ชาย/หญิง) ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด โดยใช้หลักการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ให้ความรู้ คำปรึกษาและแจกอุปกรณ์ป้องกันเอชไอวี รวมทั้งการส่งต่อเพื่อตรวจการติดเชื้อเอชไอวี หากตรวจพบเชื้อให้รักษาทันที และติดตามผลหลังการรักษา กรณีตรวจแล้วพบไม่เชื้อ ก็ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ให้ยังคงสถานะไม่ติดเชื้อ และติดตามให้กลับมาตรวจซ้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้กระบวนการ RRTTR (Reach, Recruit, Test, Treat, Retain) รวมถึงบริการศูนย์องค์รวม โดยอาสาสมัครผู้ติดเชื้อที่ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยบริการ
นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์
นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. ได้กล่าวเปิดงานพร้อมทั้งให้นโยบายการดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.), โรงพยาบาล, สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) และสำนักโรคเอดส์ฯ กรมควบคุมโรค, สภากาชาดไทย ตลอดจนมูลนิธิ และองค์กรต่างๆ ภายในประเทศ รวมถึงหน่วยงานความร่วมมือจากต่างประเทศ เช่น โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS), หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID), หน่วยประสานงานโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ (MOPH–TUC Coordinating Unit, Co-Unit), Family Health International (FHI360) และกองทุนโลก (Global Fund) เป็นต้น โดยการนำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ปัญหาอุปสรรค และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินงาน มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำร่างแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563
นพ.รัฐพล กล่าวว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อดำเนินการยุติปัญหาเอดส์จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ระยะถัดไปเราได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ครอบคลุมผู้ติดเชื้อเอชไอวี 90% ให้บรรลุเป้าหมายใหม่ที่ 95% ให้ได้ พร้อมกันนี้ สปสช.ได้ผลักดันจนสามารถนำร่องให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี (PrEP) ก่อนเกิดการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นที่สำเร็จ โดยคาดว่าในปี 2563 จะให้บริการกลุ่มเป้าหมายได้ถึง 3,000 ราย
นพ.รัฐพล กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและกลุ่มเสี่ยง รวมถึงผู้ที่ได้รับ PrEP มาอยู่ในฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและง่ายต่อการบริหารจัดการ ส่วนการส่งเสริมป้องกันโรค สปสช.ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน มีหน่วยร่วมให้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะร้านยาชุมชนอบอุ่นที่ต่อไปนี้จะทำหน้าที่ให้บริการคุมกำเนิด จ่ายถุงยางอนามัย ซึ่งจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เพราะสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
พญ.มณฑินี วสันติอุปโภคากร
ด้าน พญ.มณฑินี วสันติอุปโภคากร รองผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “การรับรองมาตรฐานองค์กรภาคประชาสังคม (CBO)” ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ปี 2560-2562 เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณปีละ 6,300 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 15 ราย ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณวันละ 40 ราย โดยทั่วประเทศมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสมราวๆ 4.4 แสนราย ในจำนวนนี้ประมาณ 3 แสนรายเข้าถึงการรักษาผ่านระบบสุขภาพ
พญ.มณฑินี กล่าวว่า จากเป้าหมายการให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงบริการดูแลรักษาแบบ “90-90-90” หรือ 90% ของผู้ติดเชื้อฯ ที่มีชีวิตอยู่ได้รับการวินิจฉัย 90% ของผู้ติดเชื้อฯ ได้รับการวินิจฉัยได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส 90% และ 90% ของผู้ติดเชื้อฯ ที่ได้รับยาต้านฯ กดไวรัสสำเร็จ พบว่าแม้จะยังไปไม่ถึงเป้าหมายแต่แนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยในปี 2562 อยู่ที่ 98% 75% และ 84% ตามลำดับ
พญ.มณฑินี กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ มีด้วยกัน 3 ข้อ ได้แก่ “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา” โดย “ไม่ติด” หมายถึงลดการติดเชื้อเอชไอวีใหม่ให้น้อยกว่าปีละ 1,000 ราย “ไม่ตาย” หมายถึงลดอัตราการเสียชีวิตจากเอดส์ให้น้อยกว่าปีละ 4,000 ราย ส่วน “ไม่ตีตรา” หมายถึงลดการเลือกปฏิบัติจากเอดส์ 90% ปรับภาพลักษณ์ สร้างความเข้าใจ ตลอดจนการใช้กลไกการคุ้มครองสิทธิ
สำหรับการรับรองมาตรฐานองค์กรภาคประชาสังคม (CBO) มีวัตถุประสงค์คือเพื่อสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมสามารถจัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน มีกฎหมายรองรับ และสอดคล้องกับบริบทของประเทศ ตลอดจนการจัดบริการที่สอดคล้องกับ “90-90-90” และแหล่งทุนมีแนวทางการสนับสนุนทุน โดยการขับเคลื่อนงานแบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาคู่มือมาตรฐานการจัดบริการฯ พัฒนากลไกด้านกฎหมาย และพัฒนาแนวทางการรับรองอาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดการบริการที่ครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ต่อไป
- 191 views