บังคับการกองแผนงานอาชญากรรม สตช. ระบุ สตช.กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศคุมเข้มเหตุรุนแรงในสถานพยาบาล ส่งสายตรวจดูแลห้องฉุกเฉินในเวลากลางคืน เสนอฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายเฉพาะ ประกาศให้โรงพยาบาลเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ
พล.ต.ต.สุรชาติ จึงดำรงกิจ ผู้บังคับการกองแผนงานอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวในหัวข้อ “แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสถานพยาบาล” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมเสวนาเรื่องปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและแนวทางแก้ไขปัญหา ที่จัดขึ้นโดยแพทยสภา สภาการพยาบาล แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ตอนหนึ่งว่า หลายครั้งที่เกิดเหตุความไม่รุนแรงในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะตกเป็นจำเลยของสังคม ซึ่งแท้ที่จริงแล้วทาง สตช.ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก มีการประชุมและมอบหมายให้หัวหน้าสถานีตำรวจทั่วประเทศประสานไปยังผู้อำนวยการโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันเหตุร่วมกันทั้งในส่วนของพื้นที่โรงพยาบาลและในห้องฉุกเฉินซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุมากที่สุด
พล.ต.ต.สุรชาติ กล่าวว่า ตำรวจดำเนินการได้เท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เช่น ถ้าพฤติกรรมไม่ถึงขั้นบุกรุกจะไปแจ้งข้อหาบุกรุกก็ไม่ได้ หรือกรณีการทำร้ายร่างกายกันหากไม่ถึงขั้นบาดเจ็บหรือบาดเจ็บสาหัสก็ทำได้แค่ปรับซึ่งกฎหมายค่อนข้างเบา ฉะนั้นการออกกฎหมายในส่วนของโรงพยาบาลนั้น จำเป็นต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ออกกฎหมายเพิ่มเติม โดยกำหนดให้โรงพยาบาลเป็นสถานที่หรือพื้นที่คุ้มครองพิเศษ ให้เข้าข่ายการบุกรุก หรือต้องเพิ่มโทษที่เข้มข้นและชัดเจนขึ้นไป
“ในบางคลิปดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งทางยุทธวิธีแล้วหากเจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อยกว่าคนร้าย โอกาสที่จะป้องกันเหตุหรือระงับเหตุก็เป็นไปได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบุคลากรที่ประสบการณ์น้อย สิบตรี สิบโท สิบเอก ก็ยังไม่กล้าตัดสินใจอะไร หรือกลับกันคือเจ้าหน้าที่อายุมาก ก็ไม่กล้าทำอะไรเพราะสู้วัยรุ่นไม่ได้ แต่ที่สุดแล้วทาง สตช.ได้กำชับและกำหนดมาตรการต่างๆ ไว้หมดแล้ว” พล.ต.ต.สุรชาติ กล่าว
พล.ต.ต.สุรชาติ กล่าวว่า เดิมทีเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเน้นให้สายตรวจไปตรวจตามร้านทอง หรือจุดเสี่ยงต่างๆ ในเวลากลางวัน แต่ปัจจุบันได้เพิ่มห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลในเวลากลางคืนเข้าไปด้วย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลมีการจัดเจ้าหน้าที่ไปประจำห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ส่วนตัวคิดว่าทางตำรวจและโรงพยาบาลควรมีการประสานการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด เช่น แลกเปลี่ยนตารางเวรซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทราบว่าสายตรวจที่ปฏิบัติงานผลัดเช้าคือใคร ใครเป็นร้อยเวร ชื่อ-เบอร์โทรอะไร ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลสื่อสารกับตำรวจได้โดยตรงอย่างรวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องผ่านสายด่วน 191 ที่จะล่าช้ากว่า
พล.ต.ต.สุรชาติ กล่าวอีกว่า อยากเชิญชวนให้ชุมชน ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลบุตรหลานด้วย เพราะความรุนแรงในสถานพยาบาลที่เกิดขึ้นเหล่านี้นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม และเป็นตัวชี้วัดว่าสังคมเริ่มป่วยแล้ว เพราะผู้ก่อเหตุบางรายก่อเหตุเพียงเพราะต้องการสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองผ่านสังคมออนไลน์ ต้องการเป็นไอดอลทางลบ ซึ่งที่สุดแล้วก็กลายเป็นพฤติกรรมลอกเลียนแบบต่อๆ ไป
“ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น นิติบัญญัติ ผู้บังคับใช้กฎหมาย ชุมชม ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมมือกันอย่างจริงจัง” พล.ต.ต.สุรชาติ กล่าว
- 97 views