รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้ กล้องวงจรปิดคือหลักฐานสำคัญเอาผิดคนร้ายก่อเหตุความรุนแรงในโรงพยาบาล ระบุ การเข้าห้องฉุกเฉินไปก่อเหตุเข้าข่าย ‘บุกรุก’ ระวางโทษจำคุก 5 ปี แต่ถ้าตามไปทำร้ายคู่อริระหว่างการกู้ชีพ โทษสูงสุดคือประหารชีวิต
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง (ขอบคุณภาพจาก facebook โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง)
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวในหัวข้อ “แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสถานพยาบาล” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมเสวนาเรื่องปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและแนวทางแก้ไขปัญหา ที่จัดขึ้นโดยแพทยสภา สภาการพยาบาล แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ตอนหนึ่งว่า ปัญหาวัยรุ่นตีกันในโรงพยาบาลไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปัญหาของตำรวจ ปัญหาของอัยการ หรือปัญหาของโรงพยาบาลเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาของสังคมในจังหวัดที่มีโรงพยาบาลตั้งอยู่
นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า ทุกวันนี้บุคลากรของศาล อัยการ และแพทย์ เป็นเพศหญิงและมักเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว คำถามก็คือถ้าหากใครมีลูกสาวที่เป็นแพทย์และต้องตกอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงถึงขั้นหยิบพระพุทธรูปมาฟาดกัน คงจะต้องคิดว่าหาเงินไปใช้ทุนแล้วเอาลูกสาวกลับบ้านดีกว่า ประเด็นก็คือแพทย์ที่มีอุดมการณ์ แพทย์ที่เสียสละ แพทย์ที่จบใหม่และมีจิตใจพร้อมดูแลประชาชนเหล่านั้น อุดมการณ์จะต้องมาพ่ายแพ้ต่อความกลัวหรือไม่
นายโกศลวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่แพทย์อย่างเดียวแต่รวมถึงบุคลากรด้านสาธารณสุขวิชาชีพอื่นๆ ด้วย หากต้องตกอยู่ในความเสี่ยงเหล่านี้ ถ้าครอบครัวใดพอมีฐานะคุณพ่อคุณแม่ก็คงต้องให้รีบใช้ทุน ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานก็ต้องเผชิญกับความกลัวหน้างานและยังต้องเจอกับแรงกดดันของครอบครัวที่คอยเรียกตัวกลับบ้าน ที่สุดแล้วก็จะเปิดปัญหาสังคมขึ้นในจังหวัดนั้นๆ
“ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก เช่น ไม่ต้องให้พวกคนร้ายรักษา ควรถอนสิทธิ 30 บาท ของพ่อแม่คนร้ายด้วย ฯลฯ นั่นคือความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งหมายความว่าถ้าเราไม่สามารถให้ความปลอดภัยแก่บุคลากรด้านสาธารณสุขได้ บุคลากรย่อมไม่อยากทำงานในพื้นที่ ไม่มีจิตใจให้บริการ สุดท้ายแล้วพื้นที่หรือคนในจังหวัดนั้นๆ ก็จะได้รับผลกระทบเอง ดังนั้นเรื่องนี้คือปัญหาสังคม ไม่ใช่แค่ปัญหาของโรงพยาบาลหรือกระทรวงสาธารณสุขอีกต่อไป” นายโกศลวัฒน์ กล่าว
นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น กล้องวงจรปิด (CCTV) จะเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดที่พนักงานสอบสวนจะรวบรวมมาให้อัยการ และพนักงานสอบสวนก็จะแจ้งข้อกล่าวหาจากภาพที่เห็นด้วย นอกจากนี้ภาพในกล้องวงจรปิดจะเป็นสิ่งยืนยันถึงพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุในกรณีที่ผู้ปกครองมาร้องขอความเป็นธรรมหรือผู้ปกครองยืนกรานว่าบุตรหลานตัวเองเป็นคนดี
“ส่วนตัวคิดว่าทุกวันนี้กฎหมายดีและครบถ้วนอยู่แล้ว เรื่องความรุนแรงในสถานพยาบาลอาจไม่ต้องถึงขั้นไปแก้กฎหมายอะไร เพียงแต่เราจะใช้ของเดิมให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร” นายโกศลวัฒน์ กล่าว
นายโกศลวัฒน์ กล่าวอีกว่า กฎหมายเขียนเอาไว้ว่าถ้ามีเจตนาทำร้ายร่างกายแต่ไม่มีเจตนาฆ่าจะต้องระวางโทษจำคุก 3-15 ปี แม้ว่าโรงพยาบาลจะเป็นสถานที่สาธารณะที่ใครก็เข้ามาได้ก็จริง แต่ห้องฉุกเฉินไม่ใช่ นั่นหมายความว่าถ้ามีการบุกรุกเข้าไปในห้องฉุกเฉินก็จะเข้าข่ายบุกรุกทันที และถ้าบุกรุกเข้าไปตีกันก็เข้าข่ายบุกรุกโทษฉกรรจ์ ระวางโทษจำคุก 5 ปี และถ้าคู่อรินอนเจ็บอยู่ แพทย์กำลังกู้ชีพ แต่มีการตามเข้าไปทำร้าย ตรงนี้เข้าข่ายเจตนาฆ่าซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต
“ส่วนจะเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ พนักงานสอบสวนก็จะรวบรวมหลักฐานต่อไป ซึ่งตรงนี้กล้องวงจรปิดจะเป็นหลักฐานสำคัญ และเวลาอัยการบรรยายฟ้องก็จะบรรยายถึงพฤติกรรม ความอุกอาจ การละเมิดและท้าทายกฎหมาย” นายโกศลวัฒน์ กล่าว
- 299 views