ห่วง 3 คณะทันตแพทย์จาก 3 มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาโดยที่หลักสูตรการศึกษายังไม่ผ่านการพิจารณาจากทันตแพทยสภา และ สกอ. หวั่นกระทบนักศึกษาและผู้ปกครอง เสียเวลาในการเรียนแต่สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้ในกลุ่มผู้บริหารและคณาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณี 2 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เปิดรับนักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ โดยที่หลักสูตรการศึกษายังไม่ผ่านการรับรองของทันตแพทยสภา ขณะเดียวกันยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาความสอดคล้องของหลักสูตรระดับอุดมศึกษา (CHE Curriculum Online : CHECO) จากสำนักมาตรฐานและประเมินผลการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการด้วย ส่วนมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งคือมหาวิทยาลัยเนชั่นมีรายงานข่าวว่ากำลังจะเปิดรับนักศึกษาในเร็วๆ นี้ เช่นกัน

โดยมีความกังวลว่าการเปิดรับนักศึกษาทันตแพทย์เข้าเรียนโดยที่หลักสูตรการศึกษายังไม่ผ่านรับรองจากทันตแพทยสภา และยังไม่ผ่านการพิจารณาความสอดคล้องของหลักสูตรระดับอุดมศึกษาจาก สกอ.จะกระทบกับนักศึกษาที่เข้าเรียน และส่งผลให้เกิดปัญหาสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไม่ผ่าน เสียเวลาในการเรียนถึง 6 ปี ซึ่งจะเกิดการสูญเสียโอกาสและทรัพยากรมาก เพราะมีต้นทุนการเรียนที่สูง

โดยจากการสืบค้นหน้าเว็บไซต์ของสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษาของ สกอ. www.bhes.mua.go.th พบว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เป็นเพียงมหาวิทยาลัยเดียวที่ส่งหลักสูตรมาให้ สกอ.พิจารณาความสอดคล้อง ขณะที่อีก 2 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเนชั่น และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังไม่อยู่ในขั้นตอนการส่งหลักสูตรมาให้ สกอ.พิจารณา

นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า ในส่วนของการรับรองหลักสูตรจากทันตแพทยสภานั้น ที่ผ่านมาทั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เคยส่งหลักสูตรให้ทันตแพทยสภารับรอง แต่ไม่ผ่านการรับรองในครั้งแรก ขณะนี้จึงยังอยู่ในขั้นตอนการขอรับรองใหม่ ส่วนมหาวิทยาลัยเนชั่นเคยส่งหลักสูตรให้ทันตแพทยสภารับรองแล้วแต่ยังไม่ผ่านการพิจารณา

ทั้งนี้ ความสอดคล้องของหลักสูตรระดับอุดมศึกษากับกฎหมายที่มีอยู่นั้น เป็นหนึ่งในกลไกที่กระทรวงศึกษาธิการใช้ในการกำกับการจัดการศึกษาของสภาสถาบันอุดมศึกษาเพื่อให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา โดยสถาบันอุดมศึกษาจะจัดทำข้อมูลหลักสูตรที่ผ่านการอนุมัติหรือการให้ความเห็นชอบจากสภาสถาบันอุดมศึกษาให้ สกอ.พิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้ได้ตามเกณฑ์ก่อนเปิดการศึกษาได้ทุกหลักสูตร และเป็นข้อมูลให้นักเรียนและผู้ปกครอง ได้สืบค้นก่อนตัดสินใจเข้าศึกษาในหลักสูตร

ขณะที่การรับรองและควบคุมคุณภาพของหลักสูตรการศึกษาจากสภาวิชาชีพนั้น เดิมกำหนดไว้ว่า หลักสูตรการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ต้องได้รับรองและควบคุมจากสภาวิชาชีพก่อนจึงจะรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษานั้นเข้าสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แต่ต่อมา พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ได้มีการปลดล๊อกตรงนี้ คือหลักสูตรการศึกษาไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพก็สามารถเปิดรับนักศึกษาได้ แต่จะวัดผลคุณภาพการศึกษาเมื่อเรียนจบคือต้องมาสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากสภาวิชาชีพ ซึ่ง 11 สภาวิชาชีพได้คัดค้านโดยให้เหตุผลว่า จะทำให้เกิดผลกระทบคือ ไม่มีการประกันคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะวิชาชีพที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตได้ เนื่องจากการฝึกปฏิบัติของนักศึกษากับผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการศึกษาในภาคปฏิบัติที่มีความจำเป็น และเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาจากสถาบันแล้ว จะไม่มีหลักประกันว่าสามารถสอบวัดความรู้ผ่านเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ ส่งผลให้คุณภาพมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพต่ำลง หรืออาจทำให้เกิดผู้ที่ได้รับปริญญาแต่ไม่มีใบอนุญาตมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก และมีการแอบแฝงไปประกอบวิชาชีพอย่างผิดกฎหมายอยู่ตามสถานพยาบาล

ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีกรณีปัญหาเช่นนี้มาแล้ว เช่น กรณีของคณะพยาบาลศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่หลักสูตรการศึกษาไม่ผ่านการรับรองของสภาการพยาบาล ทำให้กระทบต่อนักศึกษาที่จบการศึกษามาไม่สามารถสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ได้

รายชื่อปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตมหาวิทยาลัยในประเทศและต่างประเทศที่ทันตแพทยสภาให้การรับรอง

หมายเหตุ เปลี่ยนภาพปกเมื่อเวลา 22.25 น. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เป็นภาพทันตกรรมทั่วไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คณบดีทันตแพทย์จุฬาฯ ชี้หมอฟันทำงานกับชีวิตคน มหาลัยที่เปิดสอนควรผ่านมาตรฐานตั้งแต่ต้น

คณบดีทันตแพทศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ยืนยัน จัดการศึกษาได้คุณภาพระดับนานาชาติ

ม.วลัยลักษณ์ยันรับ นศ.ตามข้อบังคับ มั่นใจผ่านประเมินหลักสูตร-น.ศ.สอบใบประกอบวิชาชีพได้หมด

ทันตแพทยสภาแถลงการณ์ คณะทันตะที่ยังไม่ได้รับรองหลักสูตร เป็นคณะเปิดใหม่ หากทำตามเกณฑ์จะได้รับรอง