โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 60 ปี ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา มิติใหม่แห่งการมองเห็น
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตาและการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคกระจกตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดงานเสวนา “60 ปี ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา มิติใหม่แห่งการมองเห็น” เพื่อให้ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจและทราบแนวทางการรักษาเกี่ยวกับโรคกระจกตาพิการ และการผ่าตัดด้วยวิธีที่ดีที่สุดตรงตามมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีใหม่ โดยมีนายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานเปิดงาน ณ ลานเอนกประสงค์ ชั้น 13 โซน B อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
รศ.พญ.วิลาวัณย์ พวงศรีเจริญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตาและการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคกระจกตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคกระจกตาอย่างครบวงจร โดยได้ผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตารวมไปถึงการเพาะสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาได้เป็นแห่งแรกของประเทศ และนำไปให้กับผู้ป่วยโรคผิวดวงตาปลูกถ่าย หรือผู้ป่วยพร่องสเต็มเซลล์ ตามลำดับ
นับตั้งแต่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สามารถผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้กับผู้ป่วยสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2502 ตลอดเวลา 60 ปี ที่ผ่านมา เทคโนโลยีการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ จนปัจจุบันสามารถเลือกเปลี่ยนกระจกตาเฉพาะชั้นที่มีปัญหาโดยยังเก็บชั้นที่ดีเอาไว้ได้ วิธีนี้มีข้อดีก็คือ สามารถเปลี่ยนเอาชั้นกระจกตาเฉพาะส่วนที่เป็นโรคออก เช่น เปลี่ยนเฉพาะกระจกตาชั้นใน ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลงมาก การมองเห็นของผู้ป่วยจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังช่วยให้การใช้กระจกตาที่ได้รับบริจาคมาเกิดประโยชน์มากขึ้น เพราะกระจกตา 1 ดวง สามารถนำไปแยกเป็นชั้นต่างๆ และนำไปผ่าตัดให้กับผู้ป่วยได้มากกว่า 1 คน ทำให้กระจกตาบริจาคที่ขาดแคลนอยู่นั้นมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าภาคภูมิใจคือ เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสเต็มเซลล์ ซึ่งศูนย์ฯ สามารถเพาะ สเต็มเซลล์ได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยทำได้ทั้งวิธีการนำสเต็มเซลล์ในดวงตาอีกข้างที่ยังดีอยู่ของผู้ป่วยเองออกมาเพาะ หรือเพาะสเต็มเซลล์จากดวงตาที่ได้รับบริจาคมา จนถึงการนำเอาเซลล์บุผิวในช่องปากของผู้ป่วยเองมาเพาะและปลูกถ่ายรักษาโรคให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวกระจกตาจากภาวะขาดสเต็มเซลล์ได้อีกด้วย ซึ่งทั้ง 3 วิธีดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด นำโดย ผศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
นอกจากนี้ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตาและการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคกระจกตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยังได้วางแผนที่จะติดตามผลการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สะดวกเดินทางมาที่โรงพยาบาล ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลจังหวัดในรูปแบบต่างๆ เช่น การประชุมทางไกล (Teleconference) การให้คำปรึกษาผ่านทางออนไลน์ เป็นต้น
ปัจจุบันศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตาและการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคกระจกตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และหน่วยกระจกตา ฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยสำหรับให้บริการ ได้แก่
การนำเลเซอร์ชนิด Femtosecond มาใช้ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา
การพัฒนาการผ่าตัดกระจกตาบางชั้นโดยใช้เทคโนโลยี DALK DSAEK และ DMEK
การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของกระจกตาให้กับผู้ป่วยโรคผิวดวงตา
การฉายรังสียูวีที่กระจกตาเพื่อเสริมความแข็งแรงในโรคกระจกตาโก่ง
การผ่าตัดใช้วงแหวนแก้ไขโรคกระจกตาโก่ง
กล่าวได้ว่าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตาและการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคกระจกตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีศักยภาพในการรักษาโรคกระจกตาทุกชนิดอย่างครบวงจร ทำให้ผู้ป่วยโรคกระจกตาชนิดซับซ้อนจากหลากหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศจึงถูกส่งตัวมารักษา ณ ศูนย์ฯ แห่งนี้ ปัจจุบันศูนย์ฯ มีการตรวจผู้ป่วยกว่า 300 รายต่อเดือน ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตากว่า 120 รายต่อปี และทำการวิจัยการรักษาด้วยการใช้สเต็มเซลล์ภายใต้ทุนวิจัยแผ่นดินและทุนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กว่า 30 รายต่อปี
เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้กับผู้ป่วยคนไทยได้สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงได้จัดให้มีกิจกรรมเสวนาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจในแนวทางการดูแลรักษาเกี่ยวกับโรคกระจกตาพิการ และวิธีการใหม่ในการรักษาโรคกระจกตา และมีการออกบูธตรวจวัดสายตา บูธรับบริจาคดวงตา และบูธกิจกรรมต่างๆ สำหรับประชาชน
- 564 views