สสส.ห่วงใยสุขภาพจิตแรงงานนอกระบบ สนับสนุนโครงการ “สร้างสุข ลดทุกข์” เดินหน้าพัฒนาโมเดลหมอสุขชุมชนช่วยสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อนแรงงาน วัดผลพบความสุขเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.3 เล็งขยายภาคีเครือข่ายใหม่ พร้อมดึงทุกภาคส่วนร่วมสนับสนุน
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายในการเยี่ยมเยือนและแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำและกลไกการสร้างเสริมสุขภาพจิตกลุ่มแรงงาน “การสร้างสุข ลดทุกข์” พื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า จำนวนแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 20.8 ล้านคน ในปี 2560 เป็น 21.2 ล้านคน ในปี 2561 ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความน่าเป็นห่วงเนื่องจากมีรายได้ไม่แน่นอน ไม่มีสวัสดิการสังคมรองรับ และต้องประสบกับความเครียดที่มาจากปัญหาอาชีพและรายได้ การเจ็บป่วย สิ่งเสพติด (เหล้า-บุหรี่) และความสัมพันธ์ในครอบครัว
สสส.โดยแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตร่วมกับแผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ และภาคีที่เกี่ยวข้อง จึงได้สนับสนุนโครงการ “สร้างสุข ลดทุกข์” เพื่อพัฒนากระบวนการ สังเคราะห์ชุดความรู้ และจัดทำคู่มือผู้ปฏิบัติงาน ในการสร้างเสริมสุขภาพจิตเชิงรุกในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยการดำเนินงานของกลุ่มแกนนำแรงงานที่ผ่านกระบวนการพัฒนาเป็นอาสาสร้างสุขชุมชน และหมอสุขชุมชน ทั้งนี้ สสส.กำลังเตรียมเสนอให้กองทุนสุขภาพตำบล (กองทุนร่วมของ สปสช.และ อปท.) และทีมพยาบาลจิตเวช ประจำโรงพยาบาลชุมชน ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาร่วมสนับสนุน
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สน.9) สสส. กล่าวว่า แผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะของ สน.9 ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบมาโดยตลอด จึงกำหนดให้มีกรอบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน พร้อมกับสนับสนุนสมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SADA) ให้พัฒนาผู้นำเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตแรงงานด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
ซึ่งล่าสุดได้บูรณาการการทำงานร่วมกับแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตของ สน.2 พัฒนาสุขภาพจิตแรงงานนอกระบบ โดยใช้ฐานผู้นำแรงงานกลุ่มเดิมขับเคลื่อนโครงการ เริ่มจากพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร 4 เขต คือ เขตลาดกระบัง เขตวังทองหลาง เขตประเวศ เขตมีนบุรี และพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พะเยา อุตรดิตถ์ ขอนแก่น สุพรรณบุรี นครปฐม และสงขลา โดยอยู่ระหว่างขยายผลไปยังภาคีแรงงานนอกระบบกลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย อาทิ กลุ่มคนจนเมือง และเครือข่ายสลัม 4 ภาค และการใช้เครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาเสริมในเรื่องนี้ด้วย เช่น ธนาคารเวลาที่จะช่วยลดความเหงา ซึมเศร้า และสร้างสัมพันธภาพที่ดีของคนในชุมชน
นางอรพิน วิมลภูษิต ผู้จัดการโครงการ “การสร้างสุข ลดทุกข์” สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SADA) กล่าวว่า กระบวนการสร้างสุข ลดทุกข์ เริ่มจากการคัดกรองผู้นำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาและสร้างความตระหนักให้สามารถเห็นคุณค่าในตนเองและยอมรับว่าตนเองมีความเครียด ความกังวลที่ส่งผลต่อจิตใจและร่างกายอะไรบ้าง ก่อนจะพัฒนาและไต่ระดับขึ้นไปเป็น ‘อาสาสมัครสร้างสุข’ คือผู้ที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองและเป็นตัวอย่างได้ และพร้อมช่วยครอบครัวและเพื่อน และระดับสุดท้ายคือ ‘หมอสุขชุมชน’ คือผู้ที่มีศักยภาพขยายเครือข่ายในระดับนโยบายท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานระยะที่ 2 ช่วงแรก (กันยายน 2560 - มีนาคม 2562) พบว่ากลุ่มเป้าหมายมีความสุขเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.3 โดยมีจำนวนผู้นำที่มีศักยภาพเป็นหมอสุขชุมชนที่เป็นแรงงานทั้งในและนอกระบบ จำนวน 31 คน อาสาสร้างสุข 100 คน และผู้นำระดับพื้นฐาน 281 คน จากทั้งหมด 192 พื้นที่ (ชุมชน) นำร่องทั่วประเทศ
นางนวลใย พึ่งจะแย้ม อาชีพแม่ค้า ชุมชนน้อมเกล้า เขตวังทองหลาง กล่าวว่า ก่อนหน้าจะเข้าร่วมโครงการ ตนประสบปัญหาภาวะน้ำหนักตัวมาก สาเหตุมาจากความเครียดเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัวและความสัมพันธ์กับสามี และมีความรู้สึกว่าต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในบ้านเพียงลำพัง เมื่อตัดสินใจเข้าร่วมโครงการจากคำชักชวนของเพื่อนที่เป็นหมอสุขชุมชน ตนได้ทำแบบประเมินคุณสมบัติของผู้นำจำนวน 8 ข้อ และแบบประเมินความสุขความทุกข์ เพื่อตรวจสอบตัวเองว่าอะไรคือความสุข-ทุกข์ และถ้าเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้วจะเป็นอย่างไร จนกระทั่งพบสาเหตุปัญหาว่ามาจากการไม่พูดคุยเปิดใจกับสามี สามีจึงไม่ทราบว่าภรรยาต้องแบกรับภาระอะไรบ้าง หลังจากนั้นตนจึงเริ่มเปิดใจคุยกันมากขึ้น โดยทำบัญชีรายรับรายจ่ายร่วมกัน และรายงานผลความคืบหน้าให้หมอสุขชุมชนทราบเป็นระยะ ซึ่งล่าสุดตนได้ผ่านระดับการเป็นอาสาสมัครสร้างสุข และกำลังเตรียมตัวเป็นหมอสุขชุมชน ชุมชนน้อมเกล้า เขตวังทองหลาง
- 97 views