เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุโดยมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นและอัตราการเกิดของทารกน้อยลง ดังนั้นทารกที่คลอดออกมาจำเป็นต้องได้รับดูแลอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง สามารถเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต
อย่างไรก็ดี จากเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้ให้บริการตามมาตรา 18 (13) เพื่อรับฟังสภาพปัญหาเฉพาะกลุ่มพยาบาลซึ่งจัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาการพยาบาลที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางเมื่อต้นปีนี้ มีเสียงสะท้อนจากพยาบาลห้องคลอดว่าจำนวนของเด็กคลอดก่อนกำหนด คลอดแล้วน้ำหนักตัวน้อยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลจากคณะอนุกรรมการสูติกรรมของ สปสช. ซึ่งได้รับปัญหาสูติกรรมเดือนละประมาณ 10 เคส ขณะที่ตัวเลขของ สปสช.เขต 6 ซึ่งดูแลภาคตะวันออกซึ่งมีอัตราการคลอดทารกมากถึง 1 ใน 3 ของประเทศก็พบว่าเคสของมารดาที่มีภาวะความเสี่ยงสูงและการคลอดก่อนกำหนดก็มีเพิ่มมากขึ้น และเรื่องร้องเรียนในเขต 6 กว่า 1 ใน 3 ก็คือเรื่องสูติกรรม
สิ่งที่ตามมาเมื่อเด็กคลอดก่อนกำหนดคือทำให้ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักตัวน้อย จำเป็นต้องเข้าตู้อบหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ และส่งผลกระทบกับหน่วยบริการเป็นลูกโซ่เพราะปัญหาที่มีพบในขณะนี้คือหลายโรงพยาบาลมีตู้อบไม่เพียงพอกับความต้องการ จำเป็นต้องส่งต่อให้โรงพยาบาลอื่นดูแล แต่การหาที่ส่งต่อก็มีความยุ่งยาก บางโรงพยาบาลแม้จะประสานทั้งภายในเขต พื้นที่โดยรอบ หรือโทรไปที่ส่วนกลางก็ยังหาที่ส่งต่อไม่ได้ รวมถึงกรณีของมารดาที่มีภาวะเสี่ยง เช่น มีโรคแทรกซ้อน จำเป็นต้องส่งต่อให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่า บางครั้งก็หาที่ส่งต่อไม่ได้จนโรงพยาบาลต้นทางต้องทำคลอดเอง เกิดความเสี่ยงกับทั้งมารดาและเด็ก เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ การดูแลมารดาตั้งแต่ก่อนคลอด การฝากครรภ์ที่มีคุณภาพ การดูแลก่อนคลอด ระหว่างคลอด และหลังคลอดจึงมีความสำคัญในการส่งเสริมให้ทารกแรกคลอดมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ ลดอัตราการคลอดก่อนกำหนด และลดจำนวนเด็กที่ต้องเข้าตู้อบหรือเข้าหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดระยะวิกฤต (NICU) ซึ่งโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เป็นหนึ่งในหน่วยบริการที่มีความโดดเด่นและเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้นำเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน "อสม.ออนไลน์" เข้ามาช่วยในการทำงาน ก็ยิ่งทำให้การดูแลมารดาและทารกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นพ.จิรพจน์ วงศ์สัจจาธิติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 จ.กาญจนบุรี กล่าวถึงกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างโรงพยาบาลและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ว่า การดูแลหญิงตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนคลอด ระหว่างคลอดและหลังคลอด เริ่มตั้งแต่ Early ANC เมื่อมีการค้นพบหญิงตั้งครรภ์แล้วรีบให้มาฝากครรภ์ตั้งแต่แรกในคลินิกฝากครรภ์ที่มีมาตรฐานเพื่อเตรียมตัวให้กับคุณแม่ให้ได้รับความรู้และเห็นความสำคัญของนมแม่
"เรามีทีมดูแลตั้งแต่ยังตั้งครรภ์ มีการกำกับติดตามว่าเมื่อถึงเวลาต้องมาฝากครรภ์เราจะมีทีมไปเยี่ยมบ้านเพื่อเตรียมความพร้อมแม่ตั้งแต่ก่อนคลอด การเตรียมเต้านม ฯลฯ เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งโรงพยาบาลจะทำงานเชื่อมตั้งแต่ อสม.มีการตรวจพบหญิงตั้งครรภ์แล้วแนะนำให้รีบมาฝากครรภ์ เมื่อฝากครรภ์เสร็จโรงพยาบาลก็เชื่อมโยงข้อมูลกลับไปถึง อสม.ให้ไปเยี่ยมบ้าน ไปชักจูงว่าอย่ากินนมผง ให้กินนมแม่ เราชูประโยชน์ของนมแม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิคุ้มกัน เรื่องสื่อสัมพันธ์ เรื่องพัฒนาการของลูก คุณแม่ก็จะได้รับข้อมูลตลอด นอกจากนี้เรายังมีตัวอย่างแม่ที่เลี้ยงนมแม่ได้ดี ทำให้เขาเห็นว่านมแม่ดีที่สุด ลูกจะได้สมบูรณ์ ได้รับโภชนาการครบถ้วน ได้รับภูมิคุ้มกันโรค และที่สำคัญคือไม่ต้องซื้อนม" นพ.จิรพจน์ กล่าว
เมื่อถึงเวลาคลอด ใน 24 ชั่วโมงแรกโรงพยาบาลจะให้แม่อยู่กับลูกให้ลูกซบอกแม่ เรื่องนี้ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้แม่รู้สึกอยากให้นม และหลังคลอดจะมีทีม "มิสนมแม่" เข้าไปดูแลเช่น แม่มีปัญหานมไม่ไหล จะกระตุ้นอย่างไร ทีมพยาบาลก็จะดูแลและให้ความมั่นใจว่านมแม่ต้องมีแน่ๆ จนกระทั่งแน่ใจว่าลูกได้นมแม่แน่ๆแล้วจึงจะอนุญาตให้กลับบ้าน
นอกจากนี้ เมื่อผู้ป่วยกลับไปอยู่ที่บ้านก็จะมีทีม อสม.ในพื้นที่ลงไปเยี่ยมดูว่าการให้นมแม่มีปัญหาอะไรหรือไม่ มีนวัตกรรมต่างๆ เช่น แม่ไปทำงานต้องปั๊มนมเก็บนมอย่างไร จะสามารถเอานมที่ฟรีสไว้มาป้อนลูกอย่างไร และนอกจากให้ความรู้กับแม่แล้ว ครอบครัวก็ต้องมีความรู้ในการเลี้ยงเด็ก เช่น ปู่ย่าตายาย ระหว่างที่แม่ไม่อยู่จะต้องเข้าใจว่าจะทำอย่างไรถึงจะเอานมที่เก็บไว้ให้หลานกินได้ เป็นต้น
ในส่วนของการนำเอาเทคโนโลยีมือถือ แอปฯ อสม.ออนไลน์มาประยุกต์ใช้งานนั้น นพ.จิรพจน์ กล่าวว่า แอปฯนี้มีประโยชน์ตรงที่เวลา อสม. Detect เจอหญิงตั้งครรภ์ก็จะส่งข้อมูลไปที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็จะทราบพิกัดแผนที่ได้ทันที และถ้าหญิงคนนั้นยังไม่มาฝากครรภ์ก็ต้องให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ อสม.ในพื้นที่ไปตาม และเมื่อมาฝากครรภ์แล้ว โรงพยาบาลก็ส่งข้อมูลกลับไปพื้นที่ให้ติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อดูแลเรื่องภาวะเสี่ยงและกระตุ้นเรื่องนมแม่ หรือระหว่างใกล้คลอด หากมีปัญหา อสม.ก็สามารถส่งข้อมูลมาปรึกษาที่โรงพยาบาลได้ว่าจะทำอย่างไรในการป้องกันภาวะเสี่ยงต่างๆ
"การส่งข้อมูลต่างๆนี้เป็นเรื่องสำคัญ การใช้กลุ่มไลน์ไม่ค่อยเวิร์ก มันคุมยาก เราไม่สามารถคุมเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น รูปสวัสดีวันต่างๆ ได้ หรือความรู้ที่จะส่งไปทางออนไลน์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ไลน์กลุ่มไม่สามารถคุมความรู้ผิดๆที่ก็อปปี้ส่งต่อกันมาเรื่อยๆได้ บางครั้งอาจทำให้ อสม.เชื่อแล้วไปให้ข้อมูลกับผู้ป่วยผิดๆ" นพ.จิรพจน์ กล่าว
นอกจากการดูแลหญิงตั้งครรภ์ปกติแล้ว โรงพยาบาลยังพยายามลดตัวเลขเด็กคลอดก่อนกำหนด โดยแยกคลินิค ANC High Risk ออกมาต่างหากสำหรับกลุ่มเสี่ยงของแม่ เช่น แม่มีการคลอดกำหนดมาก่อน แม่ที่อายุน้อย แม่ที่มีโรคประจำตัวซึ่งเป็นภาวะเสี่ยงในการคลอด มีทีมก็ต้องดูแลแยกส่วนกับ ANC ปกติ และการดูแลก็ต้องเข้มข้นขึ้น
"ตัวเลขเด็กคลอดก่อนกำหนดหรือคลอดแล้วมีน้ำหนักตัวน้อยสัมพันธ์กับการ Detect เจอเร็ว การให้ความรู้เรื่องโภชนาการของแม่และการดูแลโรคประจำตัวของแม่ เช่น แม่ที่เป็นโรคเบาหวาน แม่ที่เป็นโรคซีด อสม. ก็ต้อง Detect โรคของแม่ด้วย แล้วต้องดูแลให้เข้มข้น นัดมาตรวจถี่ขึ้น ถ้าคนไข้ขาดนัดเราก็จะส่งข้อมูลให้ อสม.ในพื้นที่ช่วยไปดูหน่อยว่าติดขัดอะไรทำไมไม่มาตามนัด หรือถ้าบางเคสดูแล้วแม่ไม่ต้องมาโรงพยาบาล เราก็ให้คำปรึกษาทางออนไลน์ไปหรือถ้าจำเป็นก็ปรึกษาสูติแพทย์ ซึ่งถ้าไม่มีแอปฯ อสม.ออนไลน์ การทำงานจะยุ่งยากมากขึ้นเพราะต้องใช้โทรศัพท์แล้วไม่เห็นภาพคนไข้ บางทีนมคัด นมตึง นมไม่มี บางทีก็ต้องถ่ายรูปเต้านมเพื่อพิจารณาสาเหตุ หรือถ้าปรึกษามาในเรื่องโรคของแม่ เราอาจต้องแนะนำเรื่องภาวะโภชนาการว่าควรกินอะไร บางครั้ง อสม.อาจขอคำปรึกษาเข้ามาในช่วงที่เจ้าหน้าที่ประชุมอยู่ เราก็ต้องมีการจัดคิวหรือกำหนดว่าใครจะเป็นคนตอบ การทำงานก็จะมีความสะดวกมากขึ้น" นพ.จิรพจน์ กล่าวทิ้งท้าย
- 1252 views