สสส.-เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ประกาศเจตนารมณ์สร้างสุขภาวะเด็กไทย พัฒนาระบบดูแลเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา ชี้เป็นหน้าที่ของทุกคน พร้อมเสริมศักยภาพให้ครูเป็น “โค้ช” สร้างการมีส่วนร่วมชุมชน หวังเด็กเติบโตรอบรู้ด้านสุขภาพ
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ในงานเวทีสานพลัง สร้างปัญญา พัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ นำภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กว่า 2,000 อปท. ประกาศเจตนารมณ์ “สานพลัง สร้างปัญญา พัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา” เพื่อปรับเปลี่ยนและปรับปรุงกลไกและวิธีการร่วมกันพัฒนาระบบดูแลเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา แบ่งเป็นเด็กปฐมวัย 4 ข้อ คือ 1.เสริมศักยภาพให้ครูผู้ดูและเด็ก เปลี่ยนจากผู้สอนเป็น COACH(โค้ช) ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กในทุกด้าน 2.กำหนดแนวทางปฎิบัติที่ให้มีการติดตามการแก้ปัญหาของเด็กเป็นรายบุคคลและครอบครัว 3.การจัดการอาหารให้เหมาะสมกับโภชนาการของเด็กแต่ละคน 4. สร้างการมีส่วนร่วมในการออกแบบการใช้ เฝ้าระวัง และดูแลความปลอดภัย และการติดตามประเมินผลของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เด็กประถมศึกษา 3 ข้อ คือ 1.กำหนดให้งานอนามัยโรงเรียน ผนวกเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพ 2.ออกแบบและใช้ข้อมูลติดตามแก้ปัญหานักเรียนรายบุคคลและครอบครัว 3.การใช้ข้อมูลจาก “แหล่งเรียนรู้” ในกระบวนการส่งเสริมการอ่านและสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ
นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า ตลอดกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา สสส.ทำงานร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ภาคประชาชน ในการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ สร้างสังคมอยู่ดีมีสุข ซึ่งพิสูจน์ชัดแล้วว่า พลังท้องถิ่นเข้มแข็ง มีการจัดการตนเอง ทำให้เกิดสุขภาวะที่ดี ผ่านการทำงานร่วมกันตามแนวทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจนของ สสส.คือ มีการศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ วิจัยชุมชน จัดหมวดหมู่ปัญหา รูปแบบแนวทางการแก้ไขตามวิถีของชุมชนโดยชุมชน ด้วยศักยภาพ และทุนทางสังคมของพื้นที่ สำหรับประเด็นพัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา ถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง มีการสนับสนุนชุมชนให้พัฒนาระบบด้วยตนเอง ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมและเข้าใจพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก เกิดเป็นต้นแบบสนามเด็กเล่น 12 แห่ง และในปี 2563 เกิดสนามเด็กเล่นต้นแบบครบทุกจังหวัด และร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ 9 แห่ง พัฒนาเด็กประถมศึกษาโดยมีเป้าหมายอ่านออกเขียนได้และรอบรู้สุขภาวะ ซึ่งจะทำงานร่วมกับชุมชน 200 โรงเรียนใน 51 อปท.
รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยของไทยยังไม่ทั่วถึงและยังต้องการพัฒนาคุณภาพ รายงานของกรมอนามัย ปี 2557 พบว่าเด็กปฐมวัย ร้อยละ 30 หรือ 1 ใน 3 มีพัฒนาการล่าช้าโดยเฉพาะพัฒนาการด้านภาษา ซึ่งภาษามีความสัมพันธ์กับความฉลาดทางปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ขณะเดียวกันพัฒนาการด้านทักษะสมองส่วนหน้า หรือ executive functions (EF) ในปี 2558 – 2559 พบว่า ร้อยละ 29 มีพัฒนาการล่าช้า โดยเด็กมีพัฒนาการด้าน EF ต่ำกว่าเกณฑ์อย่างชัดเจน ถึงร้อยละ 14 และต่ำกว่าเกณฑ์เล็กน้อย ร้อยละ 15 ทักษะที่มีความล่าช้ามากที่สุดคือ ยั้งคิดไตร่ตรอง ความจำขณะทำงาน และการควบคุมอารมณ์ ซึ่งส่งผลต่อความพร้อมและความสำเร็จทางการเรียนในระดับที่สูงขึ้นไป เด็กปฐมวัยที่ได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพจะมีความพร้อมต่อการเรียนในโรงเรียนมากกว่า มีโอกาสซ้ำชั้นหรือออกจากโรงเรียนกลางคันน้อยกว่า ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมของระบบการศึกษา
ดังนั้น การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยถือว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุนถึง 7 เท่า ผลการจัดเวทีสานพลังสร้างปัญญาฯ เป็นความหวังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม และสอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ....ที่ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยไม่ถือเป็นหน้าที่ของภาครัฐอย่างเดียวแต่ระบุชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน โดยให้ความสำคัญสนับสนุนส่งเสริมการทำหน้าที่ของ อปท. ครอบครัว พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็กปฐมวัย ให้มีพลังในการหนุนเสริมเปลี่ยนแปลงประเทศไทย
- 35 views