โรงพยาบาลหาดใหญ่ ผ่าตัดแผลเล็กด้วย “กล้อง 3 มิติ” เพิ่มความแม่นยำ-ความปลอดภัย ยกระดับคุณภาพการรักษาภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนไข้ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม
นพ.อารยะ ไข่มุกต์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ว่า ทุกวันนี้มีการผ่าตัดชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “การผ่าตัดแบบบาดเจ็บเนื้อเยื่อน้อย” หรือ Minimally invasive Surgery ซึ่งปกติแล้วจะเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง คือใส่กล้องเข้าไปในช่องท้องแล้วจึงทำการผ่าตัด โดยกล้องที่ใส่เข้าไปจะทำให้แพทย์มองเห็นภาพเป็น 2 มิติ ในลักษณะการดูจอโทรทัศน์
สำหรับภาพจากกล้องดังกล่าวยังขาดมิติของความลึก เป็นเหตุให้โรงพยาบาลหาดใหญ่ตัดสินใจนำเครื่องมืออีกประเภทเข้ามาใช้ เรียกว่ากล้องผ่าตัดแบบ 3 มิติ หรือ 3-d laparoscopic surgery ซึ่งจะช่วยให้แพทย์มองเห็นภาพแบบ 3 มิติเสมือนจริง
“แน่นอนว่าข้อดีคือเพิ่มประสิทธิภาพในมิติของการมองเห็น ทำให้เราเห็นภาพชัดลึก เวลาผ่าตัดที่ซับซ้อนก็จะทำได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น สะดวก และแม่นยำขึ้น” นพ.อารยะ กล่าว
นพ.อารยะ กล่าวต่อไปว่า กล้องผ่าตัดแบบ 3 มิติ นับเป็นเครื่องมือพิเศษ ซึ่งผู้ใช้เครื่องมือนี้ก็ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ อาศัยการฝึกฝนในระดับหนึ่ง เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนสูง เช่น การตัดต่อลำไส้ การตัดต่อตับอ่อนเข้ากับลำไส้เล็ก หรือต่อท่อต่างๆ ฉะนั้นเครื่องมือนี้จึงยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก โดยโรงพยาบาลรัฐเท่าประเทศ มีใช้อยู่เพียง 5-6 แห่ง เท่านั้น
“นอกจากความปลอดภัยต่อคนไข้และความแม่นยำของผู้รักษาแล้ว เครื่องมือนี้ยังช่วยให้เกิดความรวดเร็ว ใช้เวลาน้อยลง ที่สำคัญยังเป็นการผ่าตัดแผลเล็กอยู่ สมมติว่าการผ่าตัดแบบเดิมอยู่ที่ 2 ชั่วโมง การใช้เครื่องมือนี้ก็จะอยู่ที่ 1 ชั่วโมง หรือชั่วโมงกว่าๆ นั่นก็ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องดมยาสลบอยู่นาน” นพ.อารยะ กล่าว
นพ.อารยะ กล่าวว่า เครื่องมือนี้อาจไม่ใช่ของใหม่แต่เป็นของที่นำมาใช้ได้จริง มีความคุ้มค่ากับประสิทธิผลของการรักษา โรงพยาบาลสามารถนำมาให้บริการกับประชาชนที่ใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้โดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด
“โรงพยาบาลใช้เครื่องมือนี้เพื่อรักษาคนไข้ในมาตรฐานที่สูงขึ้นโดยที่คนไข้ไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม” นพ.อารยะ กล่าว
สำหรับโรงพยาบาลหาดใหญ่ ปัจจุบันได้จัดตั้งศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้องขึ้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยในลักษณะของ one stop service โดยผู้ป่วยสามารถติดต่อ นัด และติดตามหลังผ่าตัดได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านห้องตรวจอื่นมาก่อน ทำให้การดูแลผู้ป่วยรวดเร็วยิ่งขึ้น สร้างความพึงพอใจให้ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในปี 2560 โรงพยาบาลหาดใหญ่ได้นำเครื่อง indocyanine green (ICG) and fluorescence-image laparoscope มาใช้ ทำให้สามารถช่วยบอกตำแหน่งของท่อน้ำดีได้ชัดเจนขึ้น สามารถดูภาวะขาดเลือดมาเลี้ยงลำไส้ตรงบริเวณรอยต่อ และนำมาใช้ส่องดูต่อมพาราไทรอยด์ ในการผ่าตัดไทรอยด์และพาราไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปากได้ด้วย
ขอบคุณภาพจาก www.heidelberg-university-hospital.com
- 2964 views