เตือนสติเมาแล้วขับภัยสังคม เปิดบทเรียนบังอัชอารีย์ เจ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์สูญ 80 ล้านบาท ชี้ตั้งสติเมาไม่ขับ กม.ต้องเข้ม ด้านนักวิชาการ ถามหาความรับผิดชอบผู้มีส่วนร่วม ระบุต่างประเทศจัดหนักบทลงโทษ ไม่ปล่อยลอยนวล เผยเหล้ามือสองโยงปัญหาอุบัติเหตุที่ไทยติดอันดับโลก
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2562 ที่ลานหน้าร้านบางกอกลิฟวิ่งมอลล์ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลายภาคส่วนได้ร่วมกันจัดงานให้อภัย และในงานยังมีเวทีเสวนา “ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องทบทวนภัยจากน้ำเมา” โดยถอดทบเรียนจากอุบัติเหตุที่ทำให้กลายเป็นความสะเทือนใจ เพราะสาเหตุเกิดจากเมาแล้วขับ พุ่งชนร้านเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ ไฟลุกไหม้ทั้งโกดัง มูลค่าความเสียหายถึง 80 ล้านบาท
นายอัชอารีย์ วันดับดุลเลาะฮ์ หรือ บังอัชอารีย์ อายุ 50 ปี เจ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์ บางกอกลิฟวิ่งมอลล์ กล่าวว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณตี 2 ได้แต่ยืนมองเพราะทำอะไรไม่ได้ ต้องรีบตะโกนให้พนักงานออกมาทั้งหมด อย่าเข้าไป ขอให้รักษาชีวิตไว้ก่อน ส่วนคนเมาแล้วขับก็ไม่ได้สติ ควบคุมเพลิงนานกว่า3 ชั่วโมง ชุดห้องนอน โซฟา เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี สินค้าในร้านเสียหายทั้งหมด
“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมต้องตั้งสติ ด้วยคำสอนของอิสลามคือการให้อภัย คิดแบบสันติวิธี เพื่อให้เกิดความสบายใจทั้งสองฝ่าย เมื่อความเสียหายมันเป็นเถ้าถ่าน มันเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว มาหาวิธีแก้กันต่อไปอย่าเก็บมาคิดต้องมองสิ่งที่เหลืออยู่ นั่นคือชีวิต มันมีค่ามากกว่าสิ่งที่เสียไป เราไม่ตายก็บุญแล้วส่วนผู้ก่อเหตุก็อยู่ในภาวะเครียด จึงไม่จำเป็นที่เราจะไปซ้ำเติม คือต้องพยายามทำใจเราอยู่ในโลกใบเดียวกันก็เหมือนอยู่บ้านเดียวกัน ผมให้อภัยตั้งแต่วันแรกแล้ว ไม่เคยถือโทษโกรธแค้น” นายอัชอารีย์ กล่าว
นายอัชอารีย์ กล่าวว่า ในเรื่องของคดีความยังไม่ได้ฟ้องร้องอะไร ผู้ก่อเหตุขอเวลาไปรวบรวมทรัพย์สินก่อน เราก็ให้โอกาส ไม่ได้คาดหวังอะไร ซึ่งต้องขอบคุณทุกกำลังใจที่เป็นห่วงเป็นใยที่ส่งเข้ามาให้กับครอบครัวมากมายอยากฝากว่า เมาแล้วขับเป็นภัยกับสังคม สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งมีให้เห็นทุกวัน ดังนั้นจะทำอะไรต้องตั้งสติ ไม่ดื่มได้เป็นดีที่สุด หากคิดดื่มก็ต้องไม่ขับ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร และมาตรการทางกฎหมายต้องจริงจังเข้มงวด
ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ แม้จะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน เป็นไปได้สูงว่าผู้เสียหายจะไม่ได้รับการชดเชยความเสียหายใด ๆ จากคู่กรณี เนื่องจากคู่กรณีไม่มีสินทรัพย์ที่จะชดใช้ ดังนั้น ความผิดเดียวที่เกิดขึ้นในกรณีนี้คือ โทษเมาแล้วขับ ซึ่งมีโทษแค่จำคุก1ปี ปรับ 20,000 บาท และตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายใดที่จะให้ผู้มีส่วนร่วมในการดื่มแล้วขับมารับผิดชอบ
ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี กล่าวว่า ไทยได้บัญญัติคำว่า “ภัยเหล้ามือสอง” ไว้นานแล้ว แต่น้อยคนจะรู้ว่าคนไม่ดื่มสุราก็ตกอยู่ในความเสี่ยงแม้ว่าสุราจะไม่ได้ทำให้เกิดมลพิษในอากาศแต่ภัยเหล้ามือสอง มีพื้นที่ครอบคลุมถึงสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ขับขี่บนถนนไทยเคยสำรวจภัยจากเหล้ามือสอง พบ 8 ใน 10 ของคนไทย เคยได้รับผลกระทบจากภัยเหล้ามือสอง เช่น ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย และ การถูกคุกคามทางเพศ และจากสถิติไทยมีอัตราเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงในลำดับต้นๆของโลกคือ 36 รายต่อ 100,000 ประชากร และ 50% ของอุบัติเหตุสัมพันธ์กับการดื่มสุรา ข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่สามารถยืนยันในผลกระทบจากเหล้าได้ชัดเจนโดยพบว่า 86%ของการฆาตกรรมเกิดจากฆาตกรที่มึนเมา, 40% การทารุณกรรมเด็กเกิดจากการเสพแอลกอฮอล์, 37% การข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศ เกิดจากผู้มึนเมา, 40% อาชญากรรมสัมพันธ์กับการใช้แอลกอฮอล์ และตัวเลขพุ่งสูงขึ้นถึง 90%
นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวอีกว่า ในหลายประเทศที่เจริญแล้ว ตั้งบทลงโทษที่เกิดขึ้นจากเหล้าไว้สูงมาก นอกจากนั้นยังมีมาตรการให้คนที่เกี่ยวข้องกับการดื่มทั้งหมด มาร่วมรับผิดชอบความเสียหายจากการดื่มด้วย ซึ่งกฎหมายแบบนี้เราเรียกว่า Social liability หากเปรียบเทียบปริมาณแอลกอฮอล์ที่ถือว่าเมา ของไทยอยู่ที่ 50 mg% ส่วนญี่ปุ่น 15 mg%, และโทษทางอาญาเมาแล้วขับในญี่ปุ่นนั้นสูงกว่าไทยมาก ไทย จำคุก1เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท ญี่ปุ่น จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท, ผู้ให้ยืมรถ หรือ ผู้ให้ใช้รถ ไทย ไม่มีบทลงโทษ ญี่ปุ่น จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท,ผู้จัดหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไทย ไม่มีบทลงโทษ ญี่ปุ่นจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 150,000 บาท, ร่วมนั่งในรถคันเดียวกันกับคนเมาแล้วขับ ไทย ไม่มีบทลงโทษ ญี่ปุ่น จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 150,000 บาท
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า บทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ จะเป็นอุทาหรณ์กับผู้ใช้รถใช้ถนนให้อยู่ในความไม่ประมาท เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นอยากที่จะประเมินค่าได้ และต้องอยู่กับบาดแผลนั้นไปตลอดชีวิต ถึงเวลาแล้วที่กฎหมายบ้านเราจะต้องเข้มงวด เพิ่มโทษเมาแล้วขับ และบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ที่สำคัญธุรกิจน้ำเมามักจะลอยนวลทุกครั้งเมื่อเกิดความสูญเสีย จึงอยากเรียกร้องให้ร่วมรับผิดชอบกับความสูญเสียนี้ด้วย และหลายๆกรณีที่เกิดขึ้นแทบไม่มีการเอาผิดไปถึงบรรดาผู้ที่ขายเหล้าให้คนเมาครองสติไม่ได้เลย ทั้งที่พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ระบุไว้ชัดเจน ในมาตรา 29 โทษหนักถึงขั้นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการสืบสาวไปถึงผู้ขายไม่ใช่เรื่องยาก ที่สำคัญปัจจุบันมีการบังคบเจาะเลือดเพื่อวัดประมาณแอลกอฮอล์ในการเกิดอุบัติเหตุด้วย ยิ่งไม่ต้องมานั่งเถียงกันเลยว่าเขาเมาหรือไม่เมา ปัญหาเมาแล้วขับต้องทำให้ผู้ที่ขายเหล้าให้คนเมา ออกมารับผิดชอบความผิดที่เกิดขึ้นด้วย ขณะเดียวกันในกระบวนการยุติธรรมไทยคงถึงเวลาที่พนักงานสอบสวน อัยการ รวมถึงศาลไทย จะตัดสินลงโทษคดีเมาแล้วขับในขั้นสูงเสียทีเพื่อหยุดยั้งปัญหาเลวร้ายนี้
- 82 views