จุดเริ่มต้นของการลดความเหลื่อมล้ำคือการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรที่เป็นปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิต

จากหลากหลายนโยบายที่รัฐบาลเร่งระดมออกในเวลานี้ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อใกล้เลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายเพื่อคนจน อย่างบัตรสวัสดิการคนจนที่เวลานี้เกิดกระแสผู้ถือบัตรทั้งจนจริงไม่จริงแห่หลั่งไหลกดเงินสด 500 บาท ที่ตู้ ATM อย่างล้นหลาม เมื่อรวมอีก 3 สิทธิประโยชน์เร่งด่วน ตามที่รัฐบาลได้มอบให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ถือบัตรคนจน ทั้งการช่วยค่าเดินทางเพื่อรับการรักษาพยาบาลให้กับผู้สูงอายุ 1,000 บาท ช่วยค่าเช่าบ้านและค่าน้ำค่าไฟ รวมเป็นเงินงบประมาณประเทศถึงกว่า 38,730 ล้านบาท ที่รัฐบาลใจป้ำทุ่มดูแล

แต่นโยบายนี้เฉพาะคนจนที่ลงทะเบียน 11.4 ล้านคน และยังจำกัดแค่คนไทยที่มีบัตรประชาชนเท่านั้น ขณะที่ยังมีกลุ่มคนที่เป็นคนไทยตั้งแต่กำเนิด แต่ไม่มีบัตรประชาชนหรือเลข 13 หลักจำนวนไม่น้อย ยังขาดการเหลียวแลจากภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ที่ภาครัฐจัดให้ได้ แม้แต่การรักษาพยาบาลที่เป็นสวัสดิการพื้นฐานจำเป็น ทำให้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ กลายเป็นผู้ป่วยอนาถาของโรงพยาบาลในยามเจ็บไข้ได้ป่วย

จากการทำงานชุมชนร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) และเครือข่าย พบว่าคนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชนยังมีอยู่มาก คนเหล่านี้มีหลากหลายสาเหตุทำให้ไม่มีบัตรประชาชน หลายคนพ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด ด้วยในอดีตที่ไม่เห็นความสำคัญทำให้ขาดหลักฐานจนไม่สามารถยื่นทำบัตรประชาชนได้ บางส่วนหนีออกจากบ้านเป็นเวลานาน กลายเป็นคนเร่ร่อน ไร้บ้าน จนขาดหลักฐานทะเบียน ขณะที่บางคนเคยหนีทหาร กลัวความผิดถูกดำเนินคดี ทำให้ไม่กล้าติดต่อกับส่วนราชการ รวมถึงบางคนออกบวชมานานไม่ได้ต่ออายุบัตรประชาชน หลังออกบวชทำให้ไร้สิทธิ

กลุ่มคนที่กล่าวถึงนี้ล้วนเป็นคนไทย ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่แน่นอน ฐานะยากจน เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในระดับล่างที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด สวัสดิการพื้นฐานจากภาครัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับพวกเขา บัตรประชาชนวันนี้จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นบัตรผ่านประตูสู่สวัสดิการของรัฐบาล

ที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้จึงมีความพยายามขอทำบัตรประชาชนเพื่อคืนสิทธิ แต่ด้วยขั้นตอนการพิสูจน์สถานะที่ยุ่งยาก ทั้งการตรวจพิสูจน์ของสำนักงานเขตและส่วนราชการในแต่ละพื้นที่ไม่เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ทำให้การพิสูจน์สถานะต้องใช้เวลายาวนาน บางรายใช้เวลาหลายปีก็ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะ จนหลายคนถอดใจไปแล้ว

“ยายไอ๊ วาเส็ง” เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน ทั้งที่เกิดในประเทศไทยแต่พ่อแม่ไม่แจ้งเกิด ทำให้ไม่มีบัตรประชาชนเหมือนกับพี่น้องคนอื่น แม้กระทั่งลูกหลานก็ยังได้บัตรประชาชน แม้จะพยายามนำหลักฐานต่างๆ และพยานที่เป็นญาติพี่น้องไปยืนยัน แต่ก็ยังไม่สามารถทำบัตรประชาชนได้ กลายเป็น “คนไทยไร้สิทธิ ไม่มีสิทธิทั้งที่เป็นคนไทย” รวมถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “สิทธิบัตรทอง” จนเลยวันเข้าสู่วัยชรา เจ็บป่วยด้วยสารพัดโรครุมเร้า ถึงขั้นเดินไม่ไหว ขาดการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มแรก จะไปหาหมอก็ไม่อยากไป เพราะไม่มีหลักประกันสุขภาพรองรับ และไม่อยากเป็นภาระค่าใช้จ่ายลูกหลานตามจ่าย กว่าจะได้บัตรประชาชนอายุเลยเข้าไป 65 ปีซึ่งไม่ทันการแล้ว โดยเสียชีวิตลงหลังได้สิทธิบัตรทองไม่ถึงปี

ดังนั้นในระหว่างการรอพิสูจน์สถานะที่ไม่รู้ว่าต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนานแค่ไหน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย เพื่อให้ “คนไทยไร้สิทธิ” เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นก่อน หรือได้รับการดูแลรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วยตั้งแต่แรกเริ่ม ไม่ต้องรอให้อาการหนักจนต้องหามเข้าโรงพยาบาลก่อน ต้องมีการจัดตั้ง “กองทุนรักษาพยาบาลคนไทยรอพิสูจน์สถานะ” เพื่อรองรับการดูแลคนเหล่านี้ที่เป็นคนไทยด้วยกันก่อน ไม่ปล่อยให้กลายเป็นผู้ป่วยอนาถา ขณะเดียวกันยังช่วยสนับสนุนงบประมาณ ลดภาระค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลในการรักษาพยาบาลคนกลุ่มนี้ เพราะไม่ว่าอย่างไรโรงพยาบาลก็คงไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ ตามหลักมนุษยธรรม

แม้ว่าปัจจุบันคนไทยไร้สิทธิจะยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด แต่คาดการณ์ว่ามีประมาณราวแสนคน โดยเม็ดเงินที่รัฐบาลใช้ในการสนับสนุนกองทุนรักษาพยาบาลคนไทยรอพิสูจน์สถานะ มองว่าเป็นจำนวนที่ไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ได้ทุ่มในนโยบายบัตรสวัสดิการคนจนขณะนี้ ทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนนี้ยังเป็นคนชนชั้นระดับล่างที่จนที่สุดของประเทศที่ควรได้รับการช่วยเหลือตัวจริง อย่างน้อยเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นบ้างในการเข้าถึงปัจจัยที่จำเป็น เป็นมาตรการเพื่อลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำให้กับคนในสังคม ...

ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแล

ผู้เขียน : น.ส.วิมล ถวิลพงษ์ รองประธานชุมชนใต้สะพาน (ชุมชนพูนทรัพย์) เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร

นางไอ๊ วาเส็ง ก่อนที่จะผ่านการพิสูจน์สิทธิจนสามารถทำบัตรประชาชนได้ เมื่อปี 2560 

งานฌาปนกิจนางไอ๊ วาเส็ง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561