ครม.เคาะงบ 1,759 ล้านบาทผลิตพยาบาลวิชาชีพเฟส 2 จำนวน 5,268 คน ในอัตราเหมาจ่าย จำนวน 440,000 ต่อคน/หลักสูตร เป็นโครงการต่อจากเฟส 1 ที่อนุมัติเมื่อปี 56 สำหรับการผลิตในปี 57-60 ที่ผลิตพยาบาลได้ 9,840 คน เพื่อเพิ่มจำนวนให้เพียงพอต่อประชากร

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 เวลา 09.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอเรื่อง โครงการขยายระยะเวลาการเพิ่มการผลิตและพัฒนาการจัดการศึกษา สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ (ปีการศึกษา 2561-2565) เพื่อพัฒนาสุขภาวะของประชาชนและตอบสนองยุทธศาสตร์ประเทศ ระยะที่ 1 (ปีการศึกษา 2561 - 2562) ดังนี้

1.เห็นชอบในหลักการโครงการขยายระยะเวลาการเพิ่มการผลิตและพัฒนาการจัดการศึกษาสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ (ปีการศึกษา 2561 – 2565) เพื่อพัฒนาสุขภาวะของประชาชนและตอบสนองยุทธศาสตร์ประเทศ ระยะที่ 1 (ปีการศึกษา 2561 – 2562) โดยมีเป้าหมายผลิตพยาบาลเพิ่มจากการรับนักศึกษาพยาบาลปกติ จำนวน 2 รุ่น (ปีการศึกษา 2561 – 2562) จำนวนรวมทั้งสิ้น 5,268 คน และอนุมัติให้ดำเนินการ

2.อนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการฯโดยมีอัตราค่าใช้จ่ายเป็นงบดำเนินการในการผลิตบัณฑิตในอัตราเหมาจ่าย 110,000 บาท/คน/ปี คิดเป็น 440,000 บาท/คน/หลักสูตร รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,759,484,984 บาท (เฉพาะในส่วนของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 -2566) แบ่งเป็น

2.1 งบประมาณสำหรับสถาบันสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) (ศธ.) จำนวน 985,085,724 บาท

2.2 งบประมาณสำหรับสถาบันสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวน 774,399,260 บาท

สำหรับวงเงินงบประมาณจนสิ้นสุดโครงการ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2566) จำนวน1,759,484,984 บาท เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนการดำเนินโครงการที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ของข้อเท็จจริง พร้อมรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ทั้งนี้ ให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา และสำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

หากกระทรวงศึกษาธิการมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการขยายระยะเวลาการเพิ่มการผลิตและพัฒนาการจัดการศึกษา สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ (ปีการศึกษา 2561 - 2565) เพื่อพัฒนาสุขภาวะของประชาชนและตอบสนองยุทธศาสตร์ประเทศ ระยะที่ 2 (ปีการศึกษา 2563 – 2565) ให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขในภาพรวมทั้งระบบที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

1. โครงการเพิ่มการผลิตและพัฒนาการจัดการศึกษา สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ปีการศึกษา 2557 - 2560 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยสามารถรับนักศึกษาพยาบาลได้ทั้งสิ้น จำนวน 10,124 คน (จากเป้าหมาย จำนวน 10,128 คน) คิดเป็นร้อยละ 99.96 แบ่งเป็น สถาบันสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และกรุงเทพมหานคร จำนวน 24 แห่ง รับนักศึกษาได้ จำนวน 5,780 คน (จากเป้าหมาย จำนวน 5,728 คน) คิดเป็นร้อยละ 100.91 และสถาบันสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 29 แห่ง รับนักศึกษาได้ จำนวน 4,344 คน (จากเป้าหมาย จำนวน 4,400 คน) คิดเป็นร้อยละ 98.73

2. เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพให้มีจำนวนพยาบาลวิชาชีพสามารถตอบสนองความต้องการของประเทศอย่างเพียงพอ ช่วยยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการขยายระยะเวลาการเพิ่มการผลิตและพัฒนาการจัดการศึกษาสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ (ปีการศึกษา 2561- 2565) เพื่อพัฒนาสุขภาวะของประชาชนและตอบสนองยุทธศาสตร์ประเทศ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากเดิม (ปีการศึกษา 2557 – 2560)

โดยในครั้งนี้ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบให้ดำเนินโครงการเฉพาะระยะที่ 1 (ปีการศึกษา 2561 - 2562) โดยมีเป้าหมายที่จะสามารถรับนักศึกษาพยาบาลเพิ่มจากแผนการรับปกติได้ จำนวน 5,268 คน รวมทั้งขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการผลิตพยาบาลวิชาชีพดังกล่าวสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2566 ในอัตราเหมาจ่าย 110,000 บาท/คน/ปี หรือคิดเป็น 440,000 บาท/คน/หลักสูตร โดยครอบคลุมงบประมาณการจัดการศึกษาทั้งในส่วนของการพัฒนานักศึกษา ค่าตอบแทนต่าง ๆ วัสดุ อุปกรณ์การเรียนการสอน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,759,484,984 บาท

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการด้วยแล้ว

ที่ สถาบันการศึกษา

จำนวนการผลิตเพิ่ม (คน)

งบประมาณ (ล้านบาท)

1. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ 2,828 985.09
2. กรุงเทพมหานคร (คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช) 160 0.00
3. สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข 2,220 774.40
4. สังกัดกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 60 0.00
  รวม 5,268 1,759.49

หมายเหตุ : เป็นการขอสนับสนุนงบประมาณ สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2566 เนื่องจากกระบวนการจัดทำงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ พ.ศ. 2562 ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ประกอบกับ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ฯ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับงบประมาณสนับสนุนการผลิตพยาบาลเพิ่มจากหน่วยงานแล้ว จึงไม่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ

3. เมื่อรวมกับแผนการรับนักศึกษาปกติ จำนวน 9,968 คน จะสามารถรับนักศึกษาพยาบาลได้ทั้งหมด จำนวน 15,236 คน และภายหลังจากการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 จะมีอัตราส่วนพยาบาล 1 คน ต่อ 392 ประชากร ซึ่งจะสามารถรองรับความต้องการพยาบาลของประเทศไทยในระยะ 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2569) ที่ต้องการพยาบาลในอัตราส่วน 1 คน ต่อ 350 ประชากร

4. โครงการฯ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอในครั้งนี้เป็นโครงการที่ทำให้มีบุคลากรพยาบาลเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลในระยะสั้นและเพิ่มคุณภาพในการให้บริการประชาชนในระบบบริการสุขภาพได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอแผนการปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐพิจารณาด้วยแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561

ทั้งนี้ สภาพยาบาลได้นำกรอบแนวคิดการศึกษาความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพที่องค์การอนามัยโลกได้เสนอ พบว่า ในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2559 - 2569 ประเทศไทยมีความต้องการพยาบาลอีก 190,000 คน ในอัตราส่วน พยาบาล 1 คน ต่อประชากร 350 คน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ.2561 พบว่า ประเทศไทยมีพยาบาล 170,000 คน หรือในอัตราส่วน พยาบาล 1 คน ต่อประชากร 199 คน

โครงการนี้มีแนวทางผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มจากแผนปกติ โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ช่วง ได้แก่

1.ปีการศึกษา 2561 - 2562 จำนวน 5,268 คน 2.ปีการศึกษา 2563 - 2565 อีก 22,904 คน

ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบงบประมาณ 1759.48 ล้านบาท สำหรับโครงการระยะที่ 2 สำหรับผลิตพยาบาลวิชาชีพในอัตราเหมาจ่าย จำนวน 440,000 ต่อคน/หลักสูตร