เวที สช.เจาะประเด็น “สานพลังเปลี่ยนเมืองป่วย” เห็นพ้อง “การกระจายอำนาจอย่างแท้จริง” เป็นปัจจัยสำคัญยกระดับคุณภาพเมือง ยื่นข้อเสนอต่อว่าที่รัฐบาลใหม่ ต้องทลายคอขวดการพัฒนา โดยให้อิสระท้องถิ่นบริหารเมืองตามความต้องการของประชาชน ให้ความสำคัญกับปัจจัยกำหนดสุขภาพเมือง ทั้งพฤติกรรม กิจกรรมและสิ่งแวดล้อม ยกเทศบาลนครนครสวรรค์ โมเดลต้นแบบเมืองสุขภาวะโดยคนท้องถิ่น และเปิดให้ภาคธุรกิจเอกชนมีบทบาทเสริมแรงภาครัฐพัฒนาเมือง หวังสร้างเมืองสุขภาวะดั่งตัวอย่างในหลายประเทศ
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัด เวที สช.เจาะประเด็น “สานพลังเปลี่ยนเมืองป่วย” ณ ชั้น G อาคารจัตุรัสจามจุรี กรุงเทพมหานคร สะท้อนสภาพปัญหาเมืองป่วย และเสนอแนวทางแก้ไขโดยการสานพลังจากทุกภาคส่วน
นางภารนี สวัสดิรักษ์ รองประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2561-2562 มีข้อเสนอต่อว่าที่รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ว่า การดำเนินงานพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องไม่แยกเรื่องสุขภาพออกจากความเป็นเมือง ไม่มองเรื่องการพัฒนาเมืองเป็นเพียงการก่อสร้างหรือความทันสมัยที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงมิติของสุขภาพและสังคมไปพร้อมกัน
นางภารนี กล่าวว่า เมืองก็เหมือนกับร่างกายของมนุษย์ที่เจ็บป่วยได้หลายรูปแบบจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับความไม่สมดุลทั้งในเชิงพื้นที่ พฤติกรรม กิจกรรม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนับเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพเมือง ที่มีอยู่ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.พฤติกรรมของคนและสังคม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย เช่น ความเร่งรีบของวิถีชีวิตที่ก่อความเครียดจนสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น พฤติกรรมเนือยนิ่งขาดการออกกำลังกาย และขาดความรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างเพียงพอ 2.กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การจัดการขยะ น้ำเสีย และฝุ่นควันจากการจราจร 3.สิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมทั้งสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นและที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น การเผาไหม้ ทิศทางลม การจัดการที่อยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว ฯลฯ โดยทั้งหมดสัมพันธ์กับอาการป่วยไข้ของเมืองทั้งสิ้น
ปัญหาของเมืองมีความสลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย จึงต้องสานพลังทุกภาคส่วนเข้ามาแก้ไข โดยในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้มีฉันทมติเรื่อง “การจัดและการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ” ที่เสนอให้คณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายเพื่อที่อยู่อาศัยและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนเร่งสานพลังเพื่อสร้าง “เมืองสุขภาวะ” ด้วย
นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ กล่าวว่า อุปสรรคของการพัฒนาเมืองในมุมมองของท้องถิ่นคือความไม่เป็นอิสระ เนื่องจากถูกกำหนดทิศทางการบริหารมาจากส่วนกลางเกือบหมด ขณะที่งบประมาณก็ไม่สอดคล้องกับการดำเนินการตามบริบทพื้นที่ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่า ควรจริงใจกับการการกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ให้ท้องถิ่นมีความอิสระในการทำงาน เพราะท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับชุมชน เข้าใจงาน และสามารถดึงการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้ดีกว่า
นายจิตตเกษมณ์ ยังกล่าวอีกว่า อดีตที่ผ่านมา ความเป็นเมืองของเทศบาลเมืองนครสวรรค์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ การจราจรติดขัด ปริมาณขยะ น้ำท่วม ความแออัดของที่อยู่อาศัย ฯลฯ แต่จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเทศบาลนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มุ่งเน้นการพัฒนาให้เกิดเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ด้วยการดำเนินนโยบายที่สำคัญต่างๆ จากการริเริ่มและร่วมมือกันในหลายภาคส่วน เช่น การฝังกลบขยะเพื่อลดมลพิษ การจัดการน้ำเสียให้ได้มาตรฐานน้ำทิ้งก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ การพัฒนาระบบน้ำสะอาดหรือประปาให้มีคุณภาพจนได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 รางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (ด้านน้ำ) ในปี 2557 นอกจากนี้ ยังมีการสร้างอุทยานสวรรค์ ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว และสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับทุกเพศทุกวัย รวมถึงการสร้างเมืองจักรยานเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เสนอให้มีการปรับปรุงการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับให้ครอบคลุมการจัดการ และพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมืองสุขภาวะ
“งานการพัฒนาเมืองของเทศบาลนครนครสวรรค์ เริ่มต้นมาจากภาคชุมชนและภาคเอกชนเสนอความต้องการมา ในฐานะนายกเทศมนตรีผมก็นั่งหัวโต๊ะ เชิญหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมกัน คอยประคับประคองให้งานสำเร็จตอบสนองความต้องการของประชาชน การพัฒนาเมืองสำเร็จไม่ได้ ถ้าไม่มีการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน”
ด้าน นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ในอดีตภาคเอกชนกับภาครัฐมักแบ่งบทบาทการทำงานกันอย่างชัดเจน คือภาคเอกชนมีหน้าที่ทำธุรกิจ ส่วนภาครัฐจะเป็นฝ่ายจัดทำนโยบายพัฒนาเมือง แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชัดเจนว่าการผลักภาระให้ภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงทำไม่ไหว เพราะทุกวันนี้เมืองขยายตัวเร็วมากและภาครัฐก็มีงบประมาณจำกัด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนและภาคธุรกิจที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาเมืองอีกทางหนึ่ง ภาคเอกชนนั้นเป็นภาคส่วนสำคัญที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสภาพเมืองป่วย เช่น หากคุณภาพของเมืองไม่ดี ไม่มีสุขภาวะ ผู้อยู่อาศัยก็จะมีสุขภาพที่แย่ตามไปด้วย เงินที่หามาได้ก็ต้องหมดไปกับค่ารักษาพยาบาล คนก็จะไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย เอกชนก็ขายสินค้าไม่ได้ ดังนั้นคุณภาพเมืองย่อมส่งผลต่อทุกๆ สมาชิกในเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
“ภาคเอกชนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมือง โดยปัจจุบันภาคเอกชนได้ร่วมกันตั้งบริษัทพัฒนาเมืองขึ้นมาในจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่นพัฒนาเมือง ภูเก็ตพัฒนาเมือง เชียงใหม่พัฒนาเมือง ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น ที่ผ่านมา การเข้าไปมีบทบาทร่วมพัฒนาเมืองของภาคเอกชนไม่ใช่เรื่องราบรื่น เพราะต้องฝ่าฟันอุปสรรคจากความเข้าใจ การยอมรับ ตลอดจนกฎระเบียบอันเข้มงวดของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนต้องใช้เวลาและความอดทนในการทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือสร้างเมืองที่มีสุขภาวะดี”
ทั้งนี้ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้เสนอให้สมาคมอสังหาริมทรัพย์เป็นองค์กรหลักร่วมกับสมาคมภาคธุรกิจ เช่น สภาหอการค้า ภาควิชาการและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันพัฒนาแนวทางการมีส่วนร่วม และสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะในทุกกลุ่ม
ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กล่าวว่า เมืองสวยๆ ในหลายประเทศ อาทิ เมืองในญี่ปุ่น หรือปารีส ประเทศฝรั่งเศส ต่างก็เกิดขึ้นได้จากการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ที่รัฐบาลฉลาดในการสร้างกลไกทำงานร่วมกับเอกชน และให้ความสำคัญกับการเปิดช่องทางและเวทีให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างสนามบิน พิพิธภัณฑ์ รถใต้ดิน โดยไม่ต้องรอรัฐบาลกลางเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่จะเข้ามาบริหารในอนาคตก็ควรทลายคอขวดของประเทศไทยด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ผศ.ดร.นิรมล กล่าวว่า เมืองมีผลต่อพฤติกรรมของคน เพราะการใช้ชีวิตของประชากรในเมืองมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เมืองเป็น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองที่สภาพทางเดินและสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเดิน ดังนั้นประชาชนจึงต้องใช้รถยนต์เป็นหลักในการเดินทาง ไอเสียจากรถยนต์เป็นต้นเหตุสำคัญของมลพิษ จนเป็นที่มาของสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในท้ายที่สุด
ผศ.ดร.นิรมล เล่าถึงภาพในอดีตของเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส เคยเกิดปัญหาจากมลภาวะ ฝุ่นละออง เพราะการขยายตัวของประชากรและการใช้รถยนต์เช่นกัน แต่เมื่อมีการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการพัฒนาเมือง ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาก็สามารถพัฒนาเมืองให้เอื้อต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การทำทางเดินบริเวณทางด่วนริมแม่น้ำ การพัฒนาทางเท้าบนย่านชอปปิ้งถนนฌ็องเซลิเซ่ การขยายทางเท้าปรับพื้นที่จากทางเท้าแคบๆ ให้กว้าง การมีไฟส่องสว่าง มีโครงการแบ่งปันการใช้จักรยาน ซึ่งทั้งหมดมีส่วนช่วยสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเมืองที่เอื้อให้คนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ซึ่งยืนยันว่าประเทศไทยก็สามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ แต่รัฐบาลต้องกระจายอำนาจการจัดการและพัฒนาเมืองให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกำหนดเป้าหมายและการดำเนินการด้วย
- 40 views