สปสช.เขต 6 เล็งเจรจาโรงพยาบาลเอกชนรับส่งต่อผู้ป่วย หลังเจอปัญหา Refer คนไข้เด็ก NICU และมารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนไม่ได้ ด้าน ผอ.รพ.กบินทร์บุรีชี้บุคลากรพอมี แต่ตู้อบและเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ หาก สปสช.ช่วยเหลือเรื่องนี้ได้ปัญหาก็จะเบาบางลง
วันที่ 22 ก.พ. 2562 คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและรับฟังปัญหาการดำเนินงานที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี โดยหนึ่งในปัญหาที่ถูกสะท้อนในการประชุมคือเรื่องการส่งต่อ (Refer) ผู้ป่วยสูติกรรมทารกแรกคลอดในพื้นที่ เนื่องจากมีความยากลำบากในการหาที่ส่งต่อเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับข้อมูลของคณะอนุกรรมการสูติกรรมของ สปสช. ที่ได้รับปัญหาสูติกรรมเดือนละประมาณ 10 เคส และปัญหาที่พบคือเรื่องการส่ง Refer ขณะที่ในพื้นที่ สปสช.เขต 6 ปี 2560 ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียน 104 เรื่อง 1 ใน 3 คือเรื่องสูติกรรม
ทั้งนี้ ที่ประชุมสะท้อนว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีการคลอดทารกมากที่สุด ประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ อย่างไรก็ดี ปัญหาที่พบคือเคสของมารดาที่มีภาวะความเสี่ยงสูงและการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มมากขึ้น ทำให้ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักตัวน้อย จำเป็นต้องเข้าตู้อบหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่มีปัญหาคือตู้อบไม่เพียงพอกับความต้องการ ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น แต่ก็ยังติดขัดหาที่ส่งต่อไม่ได้ หรือในเคสมารดาที่มีโรคแทรกซ้อนก็หาที่ส่งต่อไม่ได้จนต้องทำคลอดเอง
ที่ประชุมยังกล่าวถึงในส่วนของโรงพยาบาลกบินทร์บุรีว่า มี NICU 2 เตียง และมีศักยภาพในการดูแลทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอด 1,500 กรัมขึ้นไป แต่เนื่องจากอัตราการคลอดก่อนกำหนด และเคสที่มีโรคแทรกซ้อนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าวและประชากรจากฝั่งประเทศกัมพูชาที่ไม่ได้ฝากครรภ์มาทำคลอดที่โรงพยาบาล ทำให้บางครั้งเกินศักยภาพที่ NICU ของโรงพยาบาลจะรองรับได้ แต่พอจะส่งต่อผู้ป่วย แม้จะประสานทั้งภายในเขต พื้นที่โดยรอบ หรือโทรไปที่ส่วนกลางกลับหาที่ส่งต่อไม่ได้ อย่างเช่นรายล่าสุดมารดามีโรคแทรกซ้อน หาที่ส่งต่อทั้งคืนก็ไม่ได้ ตอนเช้าหาอีกก็ไม่ได้ จนสุดท้ายต้องคลอดที่โรงพยาบาล เด็กน้ำหนักแรกเกิด 1,300 กรัม แต่ยังโชคดีที่ไม่ถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
ด้าน นพ.โชคชัย มานะดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกบินทร์บุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาของเขตนี้การขาดตู้อบ ถ้าเด็กคลอดออกมาต้องใส่ท่อแล้วไม่มีเครื่องช่วยหายใจ จะบีบ Bag ทั้งวันทั้งคืนคงไม่ไหว บางรายต้อง Refer ไปถึง จ.พิษณุโลกเพราะไม่มีตู้ และเมื่อต้อง Refer ก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างแพทย์คือ Refer ไม่ได้ ที่โน่นก็เต็ม ที่นี่ก็เต็มไปหมด ทุกคนก็ลำบากกันหมด ลามมาถึงสูติกรรมในบางโรงพยาบาล ถ้าเด็กไม่รับ สูติฯ ก็ไม่รับทั้งๆ ที่มีศักยภาพ กลายเป็นว่าถ้าสูติฯ จะรับก็ต้อง Refer ด้วย
"บุคลากรพอมี แต่งบประมาณสำหรับซื้ออุปกรณ์เครื่องละ 1 ล้านบาทขึ้นไป ถ้า สปสช.ช่วยแก้เรื่องอุปกรณ์ สภาพปัญหาจะดีกว่านี้" นพ.โชคชัย กล่าว
ด้าน นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. และรักษาการผู้อำนวยการ สปสช. เขต 6 ระยอง กล่าวว่า ในส่วนของการจัดระบบการส่งต่อ สปสช.มีการจัดการเรื่องสำรองเตียงเฉพาะด้าน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดในระดับเขตเพื่อดูรูปแบบที่จะทำให้เอกชนสามารถยอมรับได้อย่างไร
"เรารู้อยู่แล้วว่าโรงพยาบาลรัฐทุกที่ตึงตัวมาก ใจอยากจะรับก็ไม่สามารถรับได้ หรือรับได้ก็ต้องไปไกล ขณะที่เอกชนเขามีเตียงที่พอรับได้ มีบุคลากรอยู่ แต่อัตราจ่ายหรือวิธีการจ่ายมันยุ่งยาก เราจะคลี่คลายได้อย่างไร ก็มีการเจรจากับอยู่ ทำอย่างไรถึงจะใช้ทรัพยากรนี้ได้ ถ้าพูดตรงๆ คือส่วนหนึ่งคือค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปมันยังดูเหมือนว่าจะลำบากในการที่จะดำเนินธุรกิจได้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ สปสช.ต้องการคือไม่ใช่ว่าดำเนินธุรกิจจนกระทั่งมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายมาก ดังนั้นเรื่องความเหมาะสมก็ต้องเจรจาพูดคุยกัน" นพ.ประจักษวิช กล่าว
- 481 views