ปัญหาคนไทยไร้สถานะทางทะเบียน ไม่มีบัตรประชาชนและไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาล ซึ่งคาดการณ์ว่ามีประมาณ 1 แสนคนทั่วประเทศ เป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงมานานระยะหนึ่งแล้วตามเวทีสัมมนาต่างๆ แต่การหารือเพื่อแก้ปัญหาในเชิงระบบยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมมากนัก ดังนั้นการช่วยเหลือให้คนเหล่านี้ได้บัตรประชาชนในช่วงที่ผ่านมาจึงเป็นไปแบบรายคน และเป็นการดำเนินการช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นหลักมากกว่าจะเป็นการริเริ่มจากหน่วยงานรัฐ
นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย
นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ หนึ่งในนักวิชาการที่ได้ศึกษาประเด็นดังกล่าวและมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนไว้ 2 ข้อคือ 1.การลงทะเบียนให้คนเหล่านี้มีเลข 13 หลักหรือบัตรประชาชนรองรับ และ 2.การจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อดูแลคนเหล่านี้ให้เข้าถึงการรักษาในช่วงระหว่างรอพิสูจน์สถานะขึ้นทะเบียน แต่จนกระทั่งทุกวันนี้ นพ.ขวัญประชามองว่าสถานการณ์ต่างๆยังคงเหมือนเดิม คนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ยิ่งมองในมุมของสุขภาพ สถานการณ์ของคนกลุ่มนี้ดูเหมือนจะแย่ยิ่งกว่าแรงงานต่างด้าวด้วยซ้ำไปเพราะเข้าไม่ถึงหลักประกันอะไรเลย ที่เลวร้ายกว่านั้นคือโรงพยาบาลส่วนหนึ่งแก้ปัญหาโดยให้ไปซื้อประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวแทน ซึ่งทันทีที่ซื้อก็กลายเป็นคนต่างด้าวไปทั้งๆที่ตัวเป็นคนไทย
"กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง ชื่อของคณะทำงานพูดถึงบุคคลที่มีปัญหาสิทธิและสถานะ แต่มีคำต่อท้ายว่ารวมถึงประชาชนที่ไม่ใช่คนไทย พอประชุมคณะทำงานเข้าจริงๆ ปรากฎว่าเขาไปเน้นแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก ส่วนคนไทยที่ตกหล่น สธ. ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญ แต่ก็มีข่าวดีอยู่บ้างว่ามีการตั้งคณะทำงานอีกชุดที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำลังให้ความสนใจเรื่องนี้อยู่ เพียงแต่เขาเพิ่งประชุมครั้งเดียว ยังไม่ทราบว่าทิศทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อ" นพ.ขวัญประชา สรุปภาพการขับเคลื่อนของหน่วยงานรัฐ
อย่างไรก็ดี ในส่วนของการการศึกษาวิจัยปัญหาก็ยังดำเนินต่อไปและคาดว่าน่าจะมีข้อสรุปเพื่อนำไปพัฒนาข้อเสนอในเชิงนโยบายได้ภายในเดือน เม.ย.นี้ โดย นพ.ขวัญประชาให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า จากการสำรวจคร่าวๆ พบว่าคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนอาจแบ่งได้ 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่ถูกแจ้งย้ายเข้าทะเบียนบ้านกลางแล้วขาดการติดต่อกับราชการจนถูกแทงเข้ากลุ่ม ทร.91 จนกลายเป็นกลุ่มที่ไม่มีสิทธิอะไรเลย แต่ถ้าไปติดต่อขอคืนและมีหลักฐานยืนยันตัวตน ก็สามารถดึงกลับมาจาก ทร.91 ได้
"มีเคสหนึ่งสามีเลิกกับภรรยาแล้วแจ้งย้ายภรรยาไปอยู่ทะเบียนบ้านกลาง ภรรยาไม่ทราบเรื่อง สุดท้ายตอนจะไปต่ออายุบัตรประชาชนก็ต่อไม่ได้เพราะชื่อไปติดที่ ทร.91" นพ.ขวัญประชา กล่าว
2.กลุ่มที่ปัญหา Error ของนายทะเบียน เช่น พ่อแม่เอาลูกทิ้งไว้กับตายาย แจ้งเกิดเรียบร้อยแล้ว แต่ตายายหวังดีก็ไปแจ้งว่าคนนี้เป็นลูกอีก เมื่อมาตรวจสอบภายหลังกลายเป็นว่าเด็กคนนี้ไม่มีสิทธิทำทะเบียนบ้านอะไรทั้งสิ้นเพราะทางมหาดไทยสรุปว่ากรณีนี้ทุจริต เด็กโชคร้ายทำบัตรประชาชนไม่ได้ มีปัญหาในทุกขั้นตอน หรืออาจเป็นกรณีพ่อแม่ไม่แจ้งเกิด หรือแจ้งเกิดแล้วชื่อพ่อแม่ผิด ฯลฯ ซึ่งอาจเป็น Error ของนายทะเบียนเองหรือชาวบ้านให้ข้อมูลไม่ตรงกับความจริงจนทำให้เกิด Error ในฐานข้อมูล
"ทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็ต้องมีวิธีปฏิบัติในการแก้ปัญหา ถามว่าแก้ได้ไหมก็พอแก้ได้ จากการส่งทีมงานส่วนหนึ่งได้ลงไปทดลองปฏิบัติในพื้นที่จริง คือไปเอากลุ่มไทยตกหล่นมาค้นหาข้อมูลในทะเบียนราษฎร์แล้วคืนบัตรประชาชนให้เขา ก็พบว่าเอาเข้าจริงแล้วสามารถทำได้ด้วยระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่มีอยู่ในขณะนี้ เพียงแต่ต้องเป็นคนที่เข้าใจปัญหาพอสมควร หรือเคสที่สรุปว่าทุจริต ถ้านายทะเบียนใจไม่แข็งพอก็จะไม่กล้าทำอะไร แต่ถ้านายทะเบียนบางคนคิดว่าไม่ว่าจะทุจริตหรือไม่ เด็กก็ต้องได้รับสิทธิ แล้วเอาเด็กคนนี้มาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามหลักการ เรื่องมันก็จบ" นพ.ขวัญประชา กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้จะพบว่าปัญหาของคน 2 กลุ่มนี้พอจะหาทางแก้ได้ แต่ก็ยังมี Process Gap เพราะการแก้ปัญหายังใช้เวลาประมาณ 6-12 เดือน ซึ่งถ้าจะให้ดีระยะเวลาดำเนินการไม่ควรเกิน 2 เดือน ดังนั้นทีมงานวิจัยจึงได้พยายามรวบรวมข้อมูลปัญหาในเชิงวิชาการและวิธีแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นในส่วนของการลงทะเบียนเพื่อให้มีเลข 13 หลัก
นพ.ขวัญประชา กล่าวอีกว่า แนวคิดเบื้องต้นในขณะนี้ อาจต้องมีการเสนอให้ตั้งศูนย์ประสานงานในส่วนกลาง (Centralize) เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้คนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนโดยเฉพาะ เช่น ถ้าใครมีปัญหานี้ให้ติดต่อมาที่ศูนย์ ทางศูนย์จะส่งทีมงานลงไปช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ให้ เนื่องจากสิ่งที่พบขณะลงพื้นที่คือตัวเจ้าของปัญหาเองก็เคยติดต่อกับผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันมาแล้ว ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันก็มีความพยายามช่วยเหลือให้มีเลข 13 หลัก แต่ปรากฎว่าระดับผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันไม่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคของทางมหาดไทยได้ มีอยู่เคสหนึ่งที่กำนันถึงขั้นท้าเลยเพราะทำหลายรอบแล้วทำไม่สำเร็จ แต่พอทีมลงไปช่วยเหลือจริงๆ และมีคอนเน็กชั่นบางอย่างกับทางมหาดไทย ทำให้การขับเคลื่อนมีความคล่องขึ้น
"เราเลยคิดว่าอาจต้องมีศูนย์สักศูนย์หนึ่งคอยแก้ปัญหานี้หรือไม่ เพราะดูแล้วกลไกที่จะทำเป็น Generalize ชนิดที่ว่าเดินไปที่ว่าการอำเภอไหนก็ได้ทั่วประเทศน่าจะทำได้ยาก" นพ.ขวัญประชา กล่าว
อย่างไรก็ดี ถ้าจะมีการตั้งศูนย์ในลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้งบประมาณ เพราะขั้นตอนการพิสูจน์สถานะคนไทย มีขั้นตอนการตรวจ DNA แม้รัฐบาลตั้งงบสำหรับการตรวจ DNA ไว้ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แต่ปัญหาคือต้องมาตรวจที่ส่วนกลาง แต่เคสคนไร้สถานะทางทะเบียนเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย สมมุติเกิดเคสที่สงขลา คนที่สงขลาก็ต้องเดินทางมาส่วนกลางเพื่อมาตรวจ DNA รวมทั้งต้องพาญาติมาตรวจด้วย ซึ่งปกติกลุ่มนี้ก็ยากไร้อยู่แล้ว เมื่อมีค่าเดินทางก็จะเป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่ง ดังนั้น ถ้ามีศูนย์ในลักษณะนี้เกิดขึ้น อาจจำเป็นต้องมีงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสิทธิได้
"นี่ก็อาจเป็นข้อเสนอหนึ่งในอนาคต แต่ยังไม่ใช่ข้อสรุปเพราะเรากำลังศึกษาเพื่อเร่งหาคำตอบเรื่องพวกนี้อยู่ คาดว่าจะเสร็จในเดือนหน้า" นพ.ขวัญประชา กล่าว
ทั้งนี้ แม้ข้อเสนอในส่วนของการผลักดันการลงทะเบียนเลข 13 หลักจะมีความคืบหน้าในส่วนของการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย แต่ข้อเสนออีกประการของ นพ.ขวัญประชา คือการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อดูแลคนเหล่านี้ให้เข้าถึงการรักษาในช่วงระหว่างรอพิสูจน์สถานะขึ้นทะเบียนนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น โดยปัญหาหลักคือหาหน่วยงานเป็นเจ้าภาพหลักไม่ได้
"ประเด็นการตั้งกองทุนฉุกเฉินสำหรับรักษาพยาบาลคนกลุ่มนี้ปรากฎว่าหาเจ้าภาพยากเหลือเกิน ในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ติดว่าพอไม่มีเลข 13 หลัก สปสช.ก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะเสนอตั้งงบประมาณในส่วนนี้ ขณะที่ สธ.เองก็ยังดูไม่ให้ความสนใจเรื่องนี้เท่าใดนัก ขณะที่ พม.ดูเหมือนจะเริ่มสนใจแต่ยังเพิ่งเริ่มตั้งไข่ ดังนั้นถ้าจะต้องหน่วยงานเป็นเจ้าภาพก็คงไม่พ้น 3 หน่วยงานนี้ที่พอขับเคลื่อนได้ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้เขาสนใจมากขึ้น" นพ.ขวัญประชา กล่าวทิ้งท้าย
- 557 views