ที่ปรึกษาชมรมเพื่อเด็กและวัยรุ่นเบาหวาน เผย เด็กป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ฉีดอินซูลินอย่างต่ำ 4 เข็ม/วัน ซ้ำเป็นโรคไม่หายขาดต้องรับยาฉีดไปตลอดชีวิต เผยค่ารักษาเฉลี่ย 3-4 พันบาท/เดือน “สิทธิบัตรทอง” ช่วยเข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่อง เสนอปรับระบบดูแลเด็กป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 อย่างเหมาะสม เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมระบุเด็กป่วยเบาหวาน เติบโตเหมือนเด็กทั่วไป มีทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกร และเนติบัณฑิต ช่วยพัฒนาประเทศได้
นางโสภา รัตนทัศนีย์ ที่ปรึกษาชมรมเพื่อเด็กและวัยรุ่นเบาหวาน และคุณแม่ดูแลลูกมีภาวะเบาหวานชนิดที่ 1 มา 27 ปี กล่าวว่า โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นโรคที่พบในเด็ก ส่วนใหญ่พบช่วงอายุ 9-11 ปี แต่ระยะหลังมานี้เริ่มพบในกลุ่มเด็กเล็กมากขึ้น ทั่วประเทศคาดว่ามีประมาณ 10,000 ราย การดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 มีความยุ่งยากกว่าเบาหวานในผู้ใหญ่อย่างมาก เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดจะแกว่งอย่างรวดเร็ว จากระดับน้ำตาลสูงลดลงต่ำอย่างฉับพลันได้ ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อภาวะช็อกได้ จึงต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยเน้นการสร้างสมดุลระหว่างอาหารที่รับประทานและการฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งการออกกำลังกายควบคู่อย่างสม่ำเสมอ โดยผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จะขาดยาไม่ได้และต้องได้รับการฉีดอินซูลินไปตลอดชีวิต กรณีคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว จ.นนทบุรี ที่มีลูกอายุ 7 ปีป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และลูกต้องอยู่บ้านคนเดียวถือว่ามีความเสี่ยงมาก หากไม่ได้รับยาและเกิดภาวะช็อกขึ้นทำให้เสียชีวิตได้
ส่วนความถี่ในการฉีดยาอินซูลินในแต่ละวันนั้น ขึ้นอยู่กับภาวะของผู้ป่วยเด็ก ซึ่งอย่างต่ำต้องรับยาฉีด 4 ครั้งต่อวัน บางรายฉีด 5 ครั้งต่อวัน หรืออาจมากกว่านั้นได้ เพื่อให้มีอินซูลินไปเลี้ยงร่างกายอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการฉีดหลังรับประทานอาหาร มีบางคนฉีดถึง 10 ครั้งต่อวันก็มี
นางโสภา กล่าวว่า ปัจจุบันสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้ครอบคลุมสิทธิประโยชน์การรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 แล้ว ช่วยให้เด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น หลายคนได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 พันบาท/เดือน แต่ยังมีปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการอยู่ เนื่องจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นโรคที่ต้องรักษาและดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เพราะภาวะโรค อาการรวมถึงการดูแลรักษาที่มีความแตกต่างจากเบาหวานในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่แพทย์เหล่านี้จะประจำในโรงพยาบาลใหญ่ เด็กที่มีสิทธิการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลจะใช้วิธีการส่งตัว ซึ่งผู้ปกครองต้องไปรับใบส่งตัวที่โรงพยาบาลก่อนทุกครั้ง และเมื่อรักษาระยะหนึ่งทางโรงพยาบาลจะงดการส่งตัวและดึงผู้ป่วยกลับมารักษาเอง โดยให้เหตุผลว่าโรงพยาบาลมีศักยภาพรักษาได้เพราะมีบริการรักษาโรคเบาหวานผู้ใหญ่อยู่แล้ว ปรากฏว่าเด็กจะได้รับการดูแลที่แตกต่างจากโรงพยาบาลใหญ่ จากยาที่เคยได้รับและถูกปรับขนาดอย่างเหมาะสมกับเด็กแล้ว ก็ต้องปรับเปลี่ยนใหม่เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มียาดังกล่าว ส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาล กระทบกับเด็ก
ขณะที่เข็มฉีดยาที่ได้รับก็เป็นขนาดเดียวกับผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กที่ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ต้องฉีดยาอินซูลินอย่างน้อย 4 ครั้งต่อวัน และฉีดทุกวัน ซ้ำยังต้องเจาะเลือดบ่อยครั้งเพื่อวัดปริมาณน้ำตาลในเลือด แต่เข็มที่ใช้กลับเป็นเข็มขนาดเดียวกับที่ผู้ใหญ่ได้รับ คิดดูว่าเด็กจะเป็นอย่างไร ทำให้บางรายมีการขอรับบริจาคเข็มฉีดยาเบาหวานที่เหมาะสมกับเด็กในกลุ่มผู้ป่วยด้วยกัน
สำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็ก นางโสภา กล่าวว่า ระดับน้ำตาลของผู้ป่วยจะค่อนข้างแกว่งมาก ทำให้ในแต่ละวันต้องมีการวัดระดับน้ำตาลในเลือดค่อนข้างบ่อย เพื่อปรับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ดังนั้นแผ่นวัดระดับน้ำตาลจึงเป็นวัสดุทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เท่าที่ทราบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายแผ่นวัดระดับน้ำตาลให้กับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 แต่ด้วยราคาที่สูงเฉลี่ย 10 บาทต่อแผ่น ทำให้มีการจำกัดการเบิกจ่าย 4 ชิ้นต่อวัน ซึ่งมีผู้ป่วยบางรายต้องใช้มากกว่า 4 แผ่น เพราะน้ำตาลในเลือดแกว่งมาก จึงอยากให้มีการปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายให้สอดคล้องกับสภาวะผู้ป่วย ทั้งบางครั้งยังติดการเบิกจ่ายที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ยังอยากให้มีการกำหนดแนวทางการรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ในโรงพยาบาลทุกแห่งให้ปรับเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดการดูแลเด็กอย่างเหมาะสม
“เด็กที่ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ต้องเข้าใจว่าอวัยวะทุกอย่างในร่างกายเขาดีหมด มีเพียงตับอ่อนที่มีปัญหาการทำงานไม่ปกติเท่านั้น ต่างจากผู้ใหญ่ที่อวัยวะในร่างกายเริ่มเสื่อมถอยแล้ว หากเด็กเหล่านี้เข้าถึงการรักษาอย่างเหมาะสม มีการดูแลที่ดีต่อเนื่องก็สามารถเติบโตได้อย่างเด็กปกติทั่วไป ที่ผ่านมามีเด็กป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ไม่น้อยได้ประกอบอาชีพต่างๆ ที่ช่วยดูแลสังคม มีทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกร และเนติบัณฑิตได้ รวมถึงอาชีพที่ต้องเดินทางต่อเนื่อง ใช้ชีวิตปกติเหมือนคนทั่วไป เราจะไม่รู้เลยว่าเขาเหล่านี้เป็นเบาหวานหากไม่หยิบเข็มขึ้นมาฉีดอินซูลิน”
ที่ปรึกษาชมรมเพื่อเด็กและวัยรุ่นเบาหวาน กล่าวว่า ทั้งนี้เด็กที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นกลุ่มเด็กที่น่าสงสารมาก นอกจากต้องคอยฉีดยาและเจาะเลือดวันละหลายครั้งแล้ว มีหลายคนยังถูกเพื่อนล้อเลียนบ้าง แกล้งบ้าง เคยมีกรณีผลักขณะฉีดยาก็มี ทำให้เด็กบางคนไม่ยอมฉีดยา และไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกันดูแล
นางโสภา กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้รัฐบาลให้การสนับสนุนการรักษาโรคอื่นๆ อย่างเต็มที่ อยากให้เพิ่มเติมการดูแลโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ผู้ป่วยยังเป็นเด็กอย่างเต็มที่เช่นเดียวกับโรคอื่น ซึ่งเด็กเหล่านี้เป็นอนาคตให้กับประเทศชาติได้ ให้เด็กๆ เข้าถึงการรักษาที่ดีและได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- 494 views