โรงพยาบาลยี่งอฯ พัฒนาโปรแกรมดิจิตอลในงาน Back Office ช่วยลดความยุ่งยากของบุคลากร ผุดแอปพลิเคชันกว่า 20 ฟังก์ชั่น หนุนการทำงานบนมือถือ “ผู้อำนวยการ” เชื่อ หากเริ่มต้นทำให้เจ้าหน้าที่ WIN ที่สุดแล้ว “รพ.-คนไข้” ก็จะ WIN ด้วย
นพ.อดุลย์ เร็งมา
นพ.อดุลย์ เร็งมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นราธิวาส กล่าวถึงการปรับยุทธศาสตร์พัฒนาระบบดิจิตอลกับการพัฒนาบุคลากรในโรงพยาบาล ซึ่งสอดรับกับนโยบาย Smart Hospital ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตอนหนึ่งว่า แนวคิดการพัฒนาระบบดิจิตอลของโรงพยาบาลยี่งอฯ เกิดขึ้นจากการที่โรงพยาบาลยี่งอฯ ต้องการจะก้าวไปสู่ Smart Hospital จึงมองว่าถ้าจะเดินไปถึงเป้าหมายนั้น จำเป็นต้องเริ่มจากการทำให้บุคลากรในโรงพยาบาล WIN ไปพร้อมๆ กับโรงพยาบาลก็ WIN ด้วย ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรดำเนินการคือการทำในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพนักงานก่อน และนำมาสู่การพัฒนาโปรแกรมดิจิตอลใน Back Office
“ผมเริ่มต้น Smart Hospital ด้วยการหาโปรแกรมที่ทำให้บุคลากรรู้สึกว่าได้รับประโยชน์ เช่น สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น โดยผมเชื่อว่าหากบุคลากรรู้สึกว่า Smart Hospital ให้ประโยชน์กับตัวเองแล้ว ก็จะสามารถทำในส่วนของ OPD และส่วนอื่นๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับคนไข้ได้ง่ายขึ้น” นพ.อดุลย์ กล่าว
นพ.อดุลย์ กล่าวว่า ในยุคสมัยนี้โทรศัพท์มือถือเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ของคน ดังนั้นจึงควรใช้มือถือให้เป็นประโยชน์ที่สุดกับทั้งตัวบุคลากรและองค์กร คือควรเอาทุกอย่างลงมาอยู่ในมือถือให้ได้มากที่สุด ทางโรงพยาบาลจึงได้ศึกษาดูว่ามีโปรแกรมอะไรที่สามารถใช้งานได้ตรงตามความต้องการบ้าง ขณะนั้นก็มีเอกชนมานำเสนอหลายโปรแกรม ซึ่งสุดท้ายมาลงตัวที่ HosOffice
“เดิมทีโปรแกรมนี้ใช้งานได้เฉพาะเครื่อง PC ที่อยู่บนโต๊ะเท่านั้น แต่เราก็มาร่วมดีไซน์กับทางแอดมิน ร่วมกันพัฒนามาจนสามารถใช้ได้ในมือถือ-แท็บเล็ต” นพ.อดุลย์ กล่าว
สำหรับโปรแกรม HosOffice เป็นโปรแกรมปฏิบัติการเพื่อเพิ่มความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ ใช้การบันทึกข้อมูลในระบบดิจิตอล สามารถลดการใช้กระดาษโดยไม่จำเป็น โดยโปรแกรมนี้มีกว่า 20 ฟังก์ชั่น ครอบคลุมทั้งงานบุคลากรทั้งหมด ได้แก่ ฐานข้อมูลเจ้าหน้าที่ การลา การขออนุญาตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขอใช้รถยนต์ส่วนกลาง การจองห้องประชุม การขอไปประชุม ข้อมูลการพัฒนาบุคลากร ระบบงานสารบรรณที่เอื้อประโยชน์ทั้งฝ่ายบริการและเจ้าหน้าที่ ระบบรายงานความเสี่ยง แจ้งซ่อมครุภัณฑ์และคอมพิวเตอร์ ตลอดจนระบบการบันทึกการประชุมต่างๆ
นพ.อดุลย์ กล่าวว่า ทุกวันนี้บุคลากรของโรงพยาบาลทั้งหมดซึ่งมีเกือบ 200 ชีวิต ใช้โปรแกรม HosOffice ทั้งหมด แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้ได้เราได้เริ่มต้นการใช้งานที่ผู้บริหารก่อน คือให้ผู้บริหารเป็นผู้ทดลองความยุ่งยากของระบบเป็นลำดับแรก เพื่อที่จะได้ปรับปรุง พัฒนา แก้ไข ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อไม่ให้บุคลากรต้องเผชิญกับความยุ่งยากเหล่านั้น และกลับมาตอบวัตถุประสงค์แรกคือการให้บุคลากร WIN จากการใช้เทคโนโลยี
“หลังจากใช้ HosOffice บุคลากรจะสามารถทำงานบางส่วนบนมือถือได้ คือจะทำงานตอนไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ที่หน้าคอมพิวเตอร์เสมอไป ที่สุดแล้วเมื่อเขารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ได้สร้างประโยชน์ให้กับเขา เมื่อเราเอา Smart OPD มาลงต่อ ภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือนก็เดินหน้าต่อไปได้ทันที คือเมื่อเขารู้สึกว่าองค์กรให้เขา เขาก็จะไปให้คนไข้ต่อ ทุกอย่างก็เลยไปเร็ว” นพ.อดุลย์ กล่าว
นพ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า หลังจากมีโอกาสไปดูงานเรื่อง Smart OPD ที่โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ก็ได้กลับมาพัฒนาโรงพยาบาลยี่งอฯ ทันที ซึ่งระยะเวลาแค่สัปดาห์เดียวก็เห็นความเปลี่ยนแปลงได้มาก นั่นเพราะบุคลากรในโรงพยาบาลพร้อมที่จะพัฒนาร่วมกัน
“Back Office จริงๆ แล้วผมเพิ่งมาศึกษาและประกาศใช้จริงๆ เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา พอเราทำมาประมาณเดือนธันวาคม 2561 เราก็ไปดูงานเรื่อง Smart OPD และเอามาลงเลย ตอนนี้ก็เป็นการพัฒนาต่อยอดให้ตรงกับบริบทเราเรื่อยๆ ให้สอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลยี่งอฯ ต่อไป” นพ.อดุลย์กล่าว
- 641 views