นักวิจัยชำแหละปัญหาตราเสมือนน้ำเมา หรือแบรนด์ดีเอ็นเอธุรกิจเหล้าครองตลาด เหตุหน่วยงานไม่บูรณการทำงาน ปล่อยช่องว่างรู้เห็นเป็นใจเอื้อทุนแอลกอฮอล์เข้าแสวงหาผลประโยชน์ ชี้ พาณิชย์-สธ. ทำงานย้อนแย้ง ด้านองค์กรผู้บริโภคจี้ อย.ทำงานเชิงรุก ปรับโทษสูงสุดเลิกประนีประนอมนายทุน
ดร.บุญอยู่ ขอพระประเสริฐ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวในเวทีเสวนา “หยุดตราเสมือนเลี่ยงกฎหมายควบคุมสุรา” โดยเปิดเผยงานวิจัย เรื่องการรับรู้ของประชาชนต่อการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านตราเสมือนหรือแบรนด์ DNA และสัญลักษณ์ที่มีความคล้ายคลึงกัน ปี 2561 สำรวจกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 15ปี ขึ้นไป ใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี จันทบุรี ราชบุรี เชียงใหม่ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช สงขลา สุรินทร์ ขอนแก่น โดยให้กลุ่มตัวอย่างดูภาพ ทั้ง 30 ภาพที่เป็นตราสัญลักษณ์ที่คล้ายคลึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 80-85% มองว่าทั้ง 11 ภาพเป็นตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ 70-79% มองว่าทั้ง 15 ภาพเป็นตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 60-68% มองว่าทั้ง 4 ภาพ เป็นตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ซึ่งสรุปคือเกือบทั้งหมดมองว่าแบรนด์ดีเอ็นเอ คล้ายคลึงกับแบรนด์ของยี่ห้อแอลกอฮอล์ ซึ่งธุรกิจน้ำเมาใช้มาก่อน แล้วนำมาดัดแปลงบางส่วนจดทะเบียนเป็นเครื่องดื่มผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำดื่ม น้ำแร่ ซึ่งในการรับรู้ของประชาชนผู้บริโภคนึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และรับรู้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบรนด์เดิมนั้นๆ โดยไม่เห็นถึงความแตกต่าง ยังยึดติดของเดิม ในการรับรู้แบรนด์ดีเอ็นเอสินค้านั้น ว่าเป็นของแบรนด์แอลกอฮอล์เดิม ซึ่งคือเจตนาแอบแฝงโฆษณาแอลกอฮอล์
ดร.บุญอยู่ กล่าวต่อว่า กฎหมายไทยมีข้อบังคับควบคุมไม่ให้โฆษณาในกรณีของแบรนด์ดีเอ็นเอ เพราะมันชี้ชัดว่ารับรู้แล้วเชื่อมโยงไปสู่แบรนด์เดิม สิ่งที่อยู่ในใจเชื่อมโยงแบรนด์เดิม ความทรงจำเดิมแรกที่เห็น คืออาศัยช่องทางกฎหมาย ความไม่บูรณาการของหน่วยงานรัฐ กระทรวงพาณิชย์ยอมให้จดทะเบียนได้ เป็นแบรนด์ดีเอ็นเอ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็มีกฎหมายควบคุมการโฆษณา แต่กลับทำงานย้อนแย้งหน่วยงานรัฐไม่ยอมทำความเข้าใจร่วมกันพาณิชย์ก็ไม่ฟังนโยบายสาธารณสุข นี้คือปัญหา มันไม่ใช่กฎหมายตีความไปไม่ถึง เพราะกฎหมายคุมหมดแล้ว ในการสื่อการตลาดเรื่องสัญลักษณ์ แต่นี้คือเจตนาตีความแอบแฝง ซึ่งงานวิจัยชุดนี้ต้องการพิสูจน์ว่าแบรนด์ดีเอ็นเอ กับ แบรนด์แอลกอฮอล์ดั้งเดิม คนยังรับรู้ แม้จะมีการแปลงเป็นอย่างอื่น
“ยกตัวอย่างเช่น รถคนคันนี้สีดำ แต่คนไทยไปเขียนติดป้ายไว้หลังรถว่าสีแดง เขียนติดเพราะความเชื่อ ซึ่งเรื่องนี้ก็เช่นกัน แบรนด์แอลกอฮอล์เดิม กับแบรนด์ดีเอ็นเอ ก็เหมือนกัน เจ้าหน้าที่รัฐไม่มองว่าเป็นสีดำ ทั้งที่มันเป็นสีดำ แต่ไปเขียนตามเขาบอกว่าเป็นสีแดง แล้วให้จดทะเบียนซึ่งมันเป็นปัญหาการทำงานของรัฐ ความไม่เข้าใจของหน่วยงานรัฐด้วยกัน ทำงานย้อนแย้งกันเอง ไม่ใช่ว่ากฎหมายควบคุมหรือไปไม่ถึง ซึ่งเป็นการทำเพื่อให้ทุนแอลกอฮอล์ได้ประโยชน์” ดร.บุญอยู่ กล่าว
ดร.บุญอยู่ กล่าวด้วยว่า งานวิจัยชุดนี้ เพื่อเป็นข้อพิสูจน์เชิงประจักษ์ถึงการรับรู้ของประชาชนที่มีต่อการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผ่านแบรนด์ดีเอ็นเอ โดยการเก็บข้อมูลและทำการศึกษาความคิดเห็นของประชาชน เด็กและเยาวชน ผ่านแบรนด์ดีเอ็นเอ ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลสำหรับการสร้างความรู้เท่าทันการตลาด ของกลุ่มทุนแอลกอฮอล์ ทั้งให้หน่วยงานรัฐ และเครือข่ายเฝ้าระวังการกระทำความผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงพัฒนาปรับปรุงกฎหมายเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
น.ส.สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมา บริษัทธุรกิจแอลกอฮอล์เก่งในการตลาด และยอมจ่าย เพราะเขาคิดว่ารายได้คุ้ม ถึงแม้จะมีกฎหมายมาบังคับใช้เหมือนในปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือการทำงานเชิงรุกของ อย.หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพราะคงไม่มีประชาชนที่ไหนจะไปเรียกร้องหรือ ฟ้องร้อง ได้ทุกวัน เพราะฉะนั้นหน่วยงานรัฐอย่าง อย. จึงต้องมีหน่วยติดตามตรวจสอบ จริงจัง ไม่ใช่ล่าช้า ถ้าหากเป็นห่วงเป็นใยประชาชนอย่างแท้จริง
“ในกระบวนการทางกฎหมาย เพราะกว่าที่ อย.จะดำเนินการก็ใช้เวลานาน และเราต้องสูญเสียไปจำนวนเท่าไหร่ เพราะการเสพสื่อ ที่สร้างผลเสีย ต่อเด็กเยาวชน อาชญากรรมปัญหาสังคมต่างๆ ซึ่งต้องยอมรับว่านี้คือปัญหาโครงสร้างใหญ่ แต่รัฐและประชาชนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งที่ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อ ครอบครัว เยาวชน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และประเทศชาติ จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการใช้แบรนด์เสมือนหรือแบรนด์ DNA ในโฆษณาเดียวกันได้ ซึ่งจะต้องระงับ ยกเลิก และที่ผ่านมา อย.มีการเรียกปรับแบบประนีประนอมธุรกิจทุนเหล้า จึงขอเรียกร้องให้ อย.หรือหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบดูแล ให้บังคับใช้โทษปรับสูงสุด มีการออกกฎหมายเรื่อง แบรนด์ดีเอ็นเอให้ชัดเจน” น.ส.สถาพร กล่าว
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า การยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าน้ำดื่มต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เข้าลักษณะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 คนทั่วไปสับสน ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างของเครื่องหมายการค้าที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับน้ำดื่มหรือผลิตภัณฑ์ที่มิใช่สุราตามกฎหมายภาษีสรรพสามิตได้ มาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551เป็นมาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ธุรกิจสุราอาศัยช่องว่างของกฎหมายเลี่ยงไม่ใช้เครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการโฆษณา ใช้เล่ห์กลไปจดทะเบียนน้ำดื่ม โซดาหรือผลิตภัณฑ์อื่นแทน แต่เป้าหมายแท้จริงคือ ต้องการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อต่าง
“อยากเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่รับจดทะเบียนให้กับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของเครือข่ายธุรกิจสุราที่มีปัญหาลักษณะเดียวกัน ที่เคยจดทะเบียนไว้ เพราะถือเป็นกรณีการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามกฎหมาย และถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ในขณะที่มองในมิติผู้บริโภคก็สุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายหลอกลวงทำให้สับสน ผลสำรวจที่ออกมาก็ระบุชัดโดยเฉพาะเด็กเยาวชนที่กลายเป็นเหยื่อ ความสับสนที่โน้มเอียงไปทางตราแอลกอฮอล์ อาจจะเข้าข่ายหลอกลวงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคต้องดูตรงนี้ได้ เพราะกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดการปัญหานี้ไม่ได้ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีช่องทางในการดำเนินการได้" นายคำรณ กล่าว
- 41 views