จิตอาสาผู้ติดเชื้อเอชไอวี รพ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เผย 15 ปี “ชมรมเพื่อนที่รู้ใจ” รุกดูแลจิตใจผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อนช่วยเพื่อนให้คำปรึกษา ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 300 คน เน้นปรับวิธีคิด สร้างพลังให้ก้าวต่อ ส่วนด้านการรักษามีกองทุนบัตรทองคอยดูแล สิทธิประโยชน์ครอบคลุม พร้อมสะท้อนชีวิตช่วงติดเชื้อเอชไอวี 20 ปีที่แล้ว ก่อนมียาต้านไวรัส ทั้งมืดแปดด้าน สิ้นเนื้อประดาตัว แต่หลังระบบบัตรองครอบคลุม ช่วยเข้าถึงการรักษา มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ระบุกรณีมีข่าวล้มบัตรทอง เชื่อไม่มีรัฐบาลไหนทำ มีแต่สานต่อ เหตุประชาชนให้ความสำคัญและได้รับประโยชน์ทั่วถึง
นายปัญญา ชูศิริ
นายปัญญา ชูศิริ จิตอาสาชมรมเพื่อนที่รู้ใจ โรงพยาบาลท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ผู้รับรางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่น ประเภทผู้ป่วย หรืออาสาสมัครมิตรภาพบำบัดดีเด่น ประจำปี 2561 กล่าวว่า ในอดีตการติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์เป็นเรื่องเลวร้ายมาก ทำใจยอมรับได้ยากทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง เพราะถูกมองเป็นเรื่องเพศและพฤติกรรมสำส่อน เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอายุไม่นาน อย่างมาก 3-5 ปีก็เสียชีวิตลง โดยตนเองรู้ว่าติดเชื้อเอชไอวีเมื่อปี 2542 หลังจากนั้นประมาณ 4 ปี เริ่มมีอาการป่วยมาก จากที่ไม่อยากเข้าโรงพยาบาลเพราะไม่อยากถูกซักถาม กังวลต่อท่าทีคนรอบข้าง แต่ที่สุดก็เลี่ยงไม่ได้ต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่ดี ขณะนั้นยังไม่มียาต้านไวรัสเอชไอวี มีแต่ยาที่อยู่ในโครงการ ซึ่งต้องรวบรวมผู้ติดเชื้อให้ครบ 10 คนก่อน จึงจะมียารักษาจัดส่งมาให้ กว่าที่จะรวมผู้ติดเชื้อได้ครบต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี เนื่องจากในระหว่างนั้นมีผู้ติดเชื้อที่ป่วยหนักและรอยาไม่ไหวก็เสียชีวิตลง ทำให้ยังไม่ครบจำนวน จนค่าซีดีโฟร์ตอนนั้นเหลือเพียงแค่ 3 เท่านั้น แต่หลังได้กินยาต้านไวรัสต่อเนื่องประมาณ 6 เดือน สุขภาพก็ดีขึ้น
จากนั้นจึงได้รวมกลุ่มผู้ติดเชื้อด้วยกันเพื่อให้กำลังใจกันเอง และมองว่าเพื่อให้ชีวิตก้าวเดินต่อไปได้จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อให้เกิดพลัง ไม่จมปลักกับความทุกข์ เพราะเมื่อมีเชื้อเอชไอวีในร่างกายแล้ว จะปฏิเสธก็ไม่ได้ แต่ทำอย่างไรจะอยู่กับเชื้อเอชไอวีให้ได้อย่างมีความสุข ซึ่งต่อมาได้นำมาสู่การจัดตั้ง “ชมรมเพื่อนที่รู้ใจ” และทำมาถึงปัจจุบัน โดยเป็นชมรมเพื่อดูแลและให้คำปรึกษาผู้ติดเชื้อด้วยกัน ในฐานะผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์มาก่อน ทั้งความรู้สึกของตนเองและแรงกดดันรอบด้าน ทำให้เข้าใจถึงจิตใจและสถานการณ์ต่างๆ ที่ผู้ติดเชื้อต้องเผชิญ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำงานจิตอาสานี้ในโรงพยาบาลท่าใหม่มากว่า 15 ปีแล้ว มีผู้ติดเชื้อทั้งจากโรงพยาบาลท่าใหม่ โรงพยาบาลเขาสุกิม และโรงพยาบาลสองพี่น้อง รวมเป็นสมาชิกกว่า 300 คน ส่วนหนึ่งได้นำแนวทางมิตรภาพบำบัดมาใช้ด้วย ส่วนตัวรู้สึกดีใจที่ได้รับมอบรางวัลนี้
นายปัญญา กล่าวว่า ในการทำงานของชมรมฯ จะเป็นการดูแลด้านจิตใจ ส่วนสุขภาพร่างกายไม่ต้องห่วง เพราะปัจจุบันสถานการณ์การเข้าถึงการรักษาของผู้ติดเชื้อเอชไอวีดีขึ้นมากกว่าในอดีต เนื่องจากมีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นทั้งหมด ทั้งการตรวจคัดกรอง การตรวจปริมาณไวรัส และให้ยาต้านไวรัสทั้งสูตรพื้นฐาน สูตรกรณีดื้อยา เป็นต้น ขณะที่ในส่วนของประสิทธิภาพและประสิทธิผลของยาต้านไวรัสช่วงที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาไปอย่างมากเช่นกัน ทำให้ลดจำนวนการกินยาและผลข้างเคียงลง ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย
“ในช่วงที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังไม่มียาต้านไวรัส ต้องบอกว่าตอนนั้นชีวิตผมมืดแปดด้านไปเลย ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ ตอนโน้นไม่ว่าใครบอกมียาอะไรดี กินแล้วหาย ที่ไหนยังไงก็ไปหมด แม้แต่ยาสมุนไพรที่อ้างว่าช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ เรียกว่าหมดเงินไปเป็นแสนๆ บาท สิ้นเนื้อประดาตัวกันไปเลยทีเดียว แพงแค่ไหนยังไงเราก็จ่ายเพื่อให้มีชีวิตรอด แต่หลังจากมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีสิทธิประโยชน์ยาต้านไวรัส ช่วงแรกแม้จะไม่มั่นใจว่าจะได้หรือไม่ แต่ก็กินไปเพราะไม่มีทางเลือกแล้ว แต่หลังจากกินยาต่อเนื่อง ปรากฏว่าผลตรวจปริมาณไวรัสลดลง ภูมิคุ้มกันในร่างกายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ถึงทุกวันนี้ก็ยังกินยาต้านไวรัสและใช้สิทธิรักษาภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ ช่วยให้มีชีวิตยืนยาวได้” จิตอาสาชมรมเพื่อนที่รู้ใจ รพ.ท่าใหม่ กล่าว
นายปัญญา กล่าวต่อว่า แม้ว่าการรักษาเอชไอวีภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ตัวเองจะคอยบอกกับสมาชิกในชมรมฯ มาตลอดว่า การกินยาต้านไวรัสจะต้องเคร่งครัด ต้องกินยาตรงต่อเวลาและต่อเนื่อง รวมถึงมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อไม่ให้เกิดภาวะดื้อยา เพราะหากดื้อยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานแล้ว จะต้องเปลี่ยนไปกินยาสูตรดื้อยาที่มีราคาแพงมากประมาณหมื่นบาทต่อเดือน เงินจำนวนนี้สามารถนำมาดูแลผู้ติดเชื้อที่รับยาสูตรพื้นฐานได้ถึง 3-4 คน และหากปล่อยให้ดื้อยามากๆ ก็จะเป็นภาระค่าใช้จ่ายประเทศ ดังนั้นจึงต้องช่วยกัน
อย่างไรก็ตามในฐานะที่เป็นผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมามักมีข่าวการเปลี่ยนแปลงนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่บ่อยครั้ง รับฟังมาแต่เราก็คิดว่าไม่น่าจะถึงขั้นล้มระบบนี้ได้ หากทำจริงเชื่อว่าพลังประชาชน 48 ล้านคน จะออกมาแน่ คิดว่าคงไม่มีรัฐบาลไหนกล้าทำ ขณะเดียวกันนักการเมืองหรือพรรคที่จะมาเป็นรัฐบาลต่อ ยังต้องสานต่อในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสำคัญและได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ส่วนที่มองว่าได้สร้างภาระงบประมาณนั้น การรักษาพยาบาลและบริการสุขภาพเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องจัดให้ประชาชน โดยรัฐบาลมีหน้าที่บริหารงบประมาณและมีหลายเรื่องรัฐบาลได้นำงบประมาณไปใช้เช่นกัน ซึ่งประชาชนเองก็คงไม่มีใครอยากป่วย
- 159 views