องค์การอนามัยโลกเผย 10 ปัญหา ภัยคุกคามสาธารณสุขโลกปี 2562 มลพิษทางอากาศ, โรค NCDs, ไข้หวัดใหญ่ระบาด, ที่อยู่อาศัยไม่เอื้ออำนวย, เชื้อดื้อยา, อีโบลาและโรคอันตราย, สาธารณสุขพื้นฐานที่ไม่ได้มาตรฐาน, ปฏิเสธวัคซีน, ไข้เลือดออก และเชื้อเอชไอวี

แม้ปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีประชากรจำนวนมากในหลายพื้นที่ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาสุขภาพและระบบสาธารณสุขที่ไม่ได้มาตรฐาน

ล่าสุด องค์การอนามัยโลกหรือ WHO (World Health Organization) เปิดเผยรายงาน 10 ปัญหาคุกคามสาธารณสุขโลกปี 2019 (พ.ศ.2562) (Ten threats to global health in 2019) ทั้งเน้นย้ำว่า ประเด็นต่อจากนี้จะเป็นแนวทางหลักสำหรับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีข้างหน้าขององค์กรต่อไป โดยมีเป้าหมายว่าประชาชนหนึ่งพันล้านคนทั่วโลกจะต้องได้รับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้รับการคุ้มครองสุขภาพในกรณีฉุกเฉิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สู่โลกที่น่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม

1.มลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในปี 2019 นี้องค์การอนามัยโลกระบุให้มลพิษทางอากาศคือภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม นำมาสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงที่สุดหรือคิดเป็น 9 ใน 10 คนต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศ โดยสาเหตุหลักของการเกิดมลพิษทางอากาศนั้น มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตมาจากประเทศรายได้ปานกลางไปจนถึงรายได้ต่ำ

องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าระหว่างปี 2030 จนถึงปี 2050 (หรือ พ.ศ.2573-2593) จะมีประชากรเสียชีวิตด้วยโรคที่มีสาเหตุดังกล่าวมากขึ้นถึง 250,000 คนในแต่ละปี เช่น โรคท้องร่วง โรคมาลาเรีย โรคขาดสารอาหารและภาวะเครียดจากความร้อน

2.โรค NCDs (Noncommunicable diseases)

คือโรคที่มาจากพฤติกรรมเสี่ยงของมนุษย์เอง ได้แก่ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์และได้รับมลพิษทางอากาศ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้นำมาสู่โรคมะเร็ง โรคหัวใจและโรคอ้วน กลายเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากร 70 เปอร์เซ็นต์จากทั่วโลก (โดยอยู่ในช่วงอายุ 30 – 69 ปี)

ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกยังรายงานว่า การใช้ชีวิตด้วยปัจจัยเสี่ยงข้างต้นสามารถนำมาสู่ความป่วยไข้ทางจิตได้ โดยครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทางจิตนั้นเริ่มต้นตั้งแต่อายุ 14 ปี ทั้งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือรักษาอย่างทันท่วงที การฆ่าตัวตายจึงกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 2 และส่วนใหญ่พบว่าอยู่ที่ช่วงอายุ 15-19 ปี

3.การระบาดของไข้หวัดใหญ่

ความน่ากลัวของการไข้หวัดใหญ่นั้นคือ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะระบาดอีกตอนไหนและจะรับมือได้อย่างไร เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ติดตามและเฝ้าระวังเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งกำลังอยู่ในการวิจัยทั้งหมด 153 สถาบันจาก 114 ประเทศ

4.สถานที่อาศัยที่ไม่เอื้ออำนวย

ประชากรมากกว่า 22 เปอร์เซ็นต์หรือราวๆ 1.6 พันล้านคนทั่วโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมและไม่เอื้ออำนวย เช่น แออัดเกินไป แห้งแล้งจัดหรืออยู่ในวิกฤติสงคราม ซึ่งส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานได้

5.การดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistance)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ได้มีแค่นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ของมนุษย์เราที่พัฒนาอย่างเดียว เมื่อศักยภาพของไวรัส แบคทีเรียและเชื้อร้ายต่างๆ เองก็พัฒนาเหมือนกันจนส่งผลให้ยาปฏิชีวนะบางอย่างไม่สามารถต่อกรได้ เช่น ยารักษาวัณโรค (tuberculosis drug) ที่ไม่อาจต้านทานเชื้อแบคทีเรียได้ และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในแต่ละปีมากถึง 1.6 ล้านคน

6.อีโบลาและเชื้อโรคอันตรายอื่นๆ

ปี 2018 ที่ผ่านมา โรคอีโบลา (Ebola) ได้ระบาดไปทั่วสาธารณรัฐคองโกส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อมากถึง 1 ล้านคน จากเหตุการณ์ดังกล่าว โรคอีโบลาได้กลับมาเป็นข้อถกเถียงอีกครั้งต่อวิธีการรับมือในชนบท เมื่อแนวทางการปฏิบัติในเขตเมืองไม่สามารถนำมาใช้ในพื้นที่เหล่านี้ได้ โดยในปี 2019 ทางองค์การอนามัยโลกได้ออกแบบแผนการเพื่อเตรียมพร้อมต่อกรณีฉุกเฉินจากเชื้อโรคอันตรายต่างๆ

นอกจากนั้น เชื้อโรคอื่นๆ ที่องค์การอนามัยโลกกำลังเฝ้าระวังและอยู่ในขั้นตอนการวิจัยทางการแพทย์ในขณะนี้ ได้แก่ อีโบลา, ไข้เลือดออกชนิดต่างๆ (hemorrhagic fevers), โรคไข้ซิก้า (Zika), โรคสมองอักเสบนิปาห์ (Nipah), กลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East respiratory syndrome coronavirus: MERS-CoV), โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome :SARS) และ disease X โรคใหม่ที่ยังไม่มียารักษาและหนทางในการป้องกันใดๆ

7.บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิที่ไม่ได้มาตรฐาน

บริการสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิหรือการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานถือเป็นจุดแรกที่จะเชื่อมต่อประชาชนให้เข้าถึงระบบสาธารณสุขต่างๆ ตามมา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องครอบคลุมและเข้าถึงง่ายทั้งในด้านสถานที่และค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ดี จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า ยังมีบ้างประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำที่ยังไม่สามารถจัดหาบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนได้ สืบเนื่องจากขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมถึงบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ

8.การลังเลและปฏิเสธวัคซีน (Vaccine hesitancy)

วัคซีนช่วยป้องกันโรคภัยต่างๆ หลีกเสี่ยงสาเหตุการเสียชีวิตของมนุษย์ได้มากถึง 2-3 ล้านคนในแต่ละปีและอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 ล้านคน หากวัคซีนในปัจจุบันมีพัฒนาการที่ล้ำหน้ามีคุณภาพและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี การลังเลและปฏิเสธที่จะรับวัคซีนในสังคมยุคใหม่กลับเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกทั้ งยังมีหลากหลายเหตุผล เช่น ความนิ่งนอนใจ การเพิกเฉยของผู้คนหรือไม่มั่นใจในความสามารถและประสิทธิภาพในระบบสาธารณสุขในพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่ เป็นต้น

ล่าสุด โรคหัดที่มีวิธีการรักษาให้หายขาดแล้วกลับพบว่ามีประชาชนเป็นโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก โดยมีสาเหตุจากการลังเลและปฏิเสธที่จะรับวัคซีน

9.โรคไข้เลือดออกหรือไข้เดงกี (dengue virus)

โรคไข้เลือดออกที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีโดยมียุงเป็นพาหนะ ในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อจากไวรัสเดงกีมากถึง 390 ล้านคน และมีประชากรมากกกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อโรคดังกล่าว โดยประเทศที่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวมากที่สุดคือ ประเทศบังกลาเทศและอินเดีย อย่างไรก็ดีองค์การอนามัยโลกตั้งเป้าว่าจะต้องลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2020 (พ.ศ.2563)

10.เชื้อเอชไอวี (HIV)

แม้ปัจจุบันแนวทางในการรักษา HIV จะมีประสิทธิภาพและก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี WHO กลับชี้ว่ายังมีประชากรโลกมากถึง 37 ล้านคนต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเชื้อดังกล่าว ทั้งยังมีแนวโน้มว่าเด็กและผู้หญิงในแถบประเทศแอฟริกา อายุตั้งแต่ 15 – 24 ปี นั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ HIV มากขึ้น โดยในปีนี้องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าว่าจะสนับสนุนวิธีการตรวจสอบเชื้อ HIV ด้วยตัวเองผ่านความร่วมมือกับรัฐบาลในแถบประเทศดังกล่าวให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสถานะและหาวิธีในการป้องกันและรักษาตามลำดับต่อไป

ที่มา: Ten threats to global health in 2019 (www.who.int)