อย.เล็งทบทวนความปลอดภัยยาฉีดแก้ปวดไดโคลฟีแนคหลังได้รับคำร้องขอจาก สปสช.ให้ทบทวนความปลอดภัยของยาฉีดไดโคลฟีแนค เนื่องจากมีผู้ใช้ยาได้รับความเสียหายจากอาการผิดปกติของเส้นประสาท อย.เร่งหารือผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเก็บตัวอย่างยาส่งตรวจวิเคราะห์ ความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป เผยในช่วง 10 ปี ไม่พบแนวโน้มการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของยานี้เพิ่มขึ้น

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีหนังสือขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย พิจารณาทบทวนข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์และภาวะไม่พึงประสงค์ของการใช้ยาฉีดแก้ปวดไดโคลฟีแนค (Diclofenac) อย.ได้เร่งดำเนินการพิจารณาและตรวจสอบ โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างหารือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อศึกษาและทบทวนในเรื่องความปลอดภัยของยา รวมทั้งจะได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างยาฉีดไดโคลฟีแนคส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพอย่างละเอียดอีกครั้ง หากทราบผลการตรวจสอบที่แน่ชัดจะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป และหากมีความเสี่ยงหรือมีผลกระทบของยาจริงจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการศึกษาและเฝ้าระวังอันตรายจากการใช้ยาสำหรับมนุษย์ทันที

ทั้งนี้ ยาไดโคลฟีแนค เป็นยาในกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ออกฤทธิ์ช่วยในการบรรเทา อาการปวดบวมจากการอักเสบ ปวดตามข้อ ไขข้อกระดูก เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ปวดท้องจากประจำเดือน โรคข้ออักเสบ อาการตึงขัดของข้อ ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพในช่วง 10 ปี ไม่พบแนวโน้มการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น

เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า อย.จะติดตามตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศอย่างเข้มงวดและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ประชาชนมั่นใจในการดำเนินงานของ อย. ที่มีมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มแข็ง และหากกลุ่มยาตำรับใดมีอันตราย อย.จะแจ้งให้ผู้บริโภคทราบทางสื่อต่าง ๆ ทันที

ทั้งนี้ หากพบการใช้ยาใดที่มีปัญหา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือ Line @FDAthai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่

'สภาการพยาบาล' ออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ‘ไดโคลฟีแนค’