“จาตุรนต์” ยืนยัน “บัตรทอง” ไม่ใช่ประชานิยม แต่คือสวัสดิการสำหรับประชาชน ชี้จำเป็นต้องเพิ่มงบ “บัตรทอง” เพื่อสร้างความเท่าเทียม แต่คงไม่รวมกองทุน
นายจาตุรนต์ ฉายแสง
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวในเวทีเสวนามองไปข้างหน้า “พรรคการเมือง กับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน” ซึ่งอยู่ภายใต้งานรำลึก 11 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิมิตรภาพบำบัด เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 ตอนหนึ่งว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นโดยพรรคการเมืองในยุคสมัยหนึ่ง จากนั้นก็ถูกนำมาใช้ชื่นชมและโจมตีกัน ประเด็นก็คือเรื่องนี้เป็นนโยบายประชานิยมหรือสวัสดิการ
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า จนมาถึงขณะนี้ คำว่าประชานิยมมีความหมายหลายความหมายมาก ในอดีตมีความหมายถึงการทำโครงการใหญ่ๆ ที่ไม่คุ้มค่า ทำเศรษฐกิจเสียหาย ในช่วงต่อมาก็มีความหมายถึงนโยบายอะไรก็ตามที่ตามใจประชาชนโดยไม่สนใจผลกระทบ
สำหรับนโยบาย 30 บาทรักษาถ้วนหน้านั้น เป็นนโยบายที่ต้องการให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียมกัน และในตัวของมันเองตั้งแต่ต้นแล้วก็มีเจตนาที่จะให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพระบบโดยใช้กลไกของระบบเอง คือการเอาเงินภาษีไปจ่ายเป็นค่าประกันให้โรงพยาบาล ขณะนั้นเราคิดกันว่าหากมีการปรับปรุงการบริหารจัดการให้ดี จะทำให้เกิดบริการที่มีประสิทธิภาพโดยใช้เงินที่น้อยลง
“ในแง่นี้คงจะไม่ใช่ประชานิยม และเป็นนโยบายที่ตรงกันข้ามกับประชานิยมเลยด้วยซ้ำ แต่มันคือสวัสดิการให้ประชาชน แต่เรายังไม่ใช้คำว่ารัฐสวัสดิการ เพราะการเป็นรัฐสวัสดิการได้นั้นคือการมีสวัสดิการโดยรัฐมากขึ้นหากรัฐมีกำลังที่เพียงพอ มีภาษีที่เพียงพอ ซึ่งหากจะพูดกันถึงเรื่องนี้ก็ต้องกลับมาคุยกันถึงเรื่องของรายได้ สัดส่วนรายได้จากเงินภาษี” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า หากพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมของ 3 กองทุนสุขภาพ อันประกอบด้วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการนั้น ส่วนตัวเห็นว่าทั้ง 3 กองทุน จำเป็นต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น โดยเฉพาะระบบบัตรทองที่ควรมีงบประมาณมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริม แต่ถ้าจะให้รวมเป็นกองทุนเดียวกันหรือทำให้ทั้ง 3 กองทุนเหมือนกันทุกอย่างนั้น อาจจะกระทบต่อหลักการสำคัญๆ ของแต่ละกองทุน
“ที่ผ่านมามีความพยายามทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าล้ม ฉะนั้นบทบาทของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) การให้บริการโดยรวมกำลังถูกสั่นคลอน เรื่องนี้ต้องกลับมาตั้งหลักกันใหม่ว่าต้องสนับสนุนให้เข้มแข็ง เรายืนยันในเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ก็ต้องพูดถึงปัญหาและการปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วย” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาสะสมเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยต้องรอคิวในโรงพยาบาลนาน ห้องฉุกเฉินมีความแออัดเพราะมีแพทย์จบใหม่อยู่เพียงคนเดียว แต่ที่จริงแล้วความเท่าเทียมอีกความหมายหนึ่งก็คือต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้วย เราจึงเสนอว่าต้องแก้ไขเรื่องการบริหารจัดการ เช่น ยกระดับโรงพยาบาลชุมชนให้มีศักยภาพมากขึ้น ลดการส่งต่อและความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เราต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้เกิดขึ้นว่าเมื่อป่วยแล้วให้หาหมอใกล้ๆ เรื่องใหญ่จึงค่อยเข้ามาที่โรงพยาบาลใหญ่
- 28 views