“อัยการ” ยอมรับการส่งยาทางไปรษณีย์เป็นพัฒนาการทางสังคมที่ดี แต่โรงพยาบาลต้องเข้มว่าอะไรส่งได้อะไรส่งไม่ได้ และต้องแจ้งผู้ป่วยล่วงหน้ารวมทั้งออกหลักฐานให้ชัดเจน หวั่นเกิดกรณีคนอื่นรับยาแทนคนไข้จะนำมาสู่ข้อถกเถียง แนะหน่วยบริการตรวจสอบข้อมูลครอบครัวคนไข้ด้วย
นายชนภัทร วินยวัฒน์
นายชนภัทร วินยวัฒน์ อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด อภิปรายถึงประเด็นกฎหมายในงานเสวนาเรื่อง “แนวทางการส่งยาทางไปรษณีย์ในโรงพยาบาลรัฐที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร” ภายใต้งานประชุมสัมมนาเรื่อง “ถอดบทเรียนการส่งยาทางไปรษณีย์จากโรงพยาบาลรัฐถึงผู้ป่วยกับมาตรฐานวิชาชีพ” จัดโดยแพทยสภา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 ตอนหนึ่งว่า การส่งยาทางไปรษณีย์เป็นการพัฒนาการให้บริการที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งนับจากนี้ทิศทางของสังคมรวมไปถึงนโยบายต่างๆ อาทิ ไทยแลนด์ 4.0 จะทำให้คนหันมาดูแลและช่วยเหลือตัวเอง ส่งผลให้การ contact ระหว่างคนกับคนลดน้อยลง แต่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
“แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีบทบาทมากขึ้น แต่มาตรฐานการรักษาพยาบาล มาตรฐานทางการแพทย์ มาตรฐานการให้บริการด้านสาธารณสุขยังคงต้องมีมาตรฐานเช่นเดิม แต่อาจเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการไป” นายชนภัทร กล่าว และว่า สิ่งที่ต้องคำนึงในการให้บริการสาธารณสุขหลังจากนี้มีด้วยกัน 2 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1. การรักษามาตรฐานในเวชปฏิบัติ 2. การให้ความยินยอมล่วงหน้าของผู้ป่วย
นายชนภัทร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการจัดส่งยาทางไปรษณีย์นั้น ประเด็นแรกที่ต้องพิจารณาคือกรณีใดที่สามารถเป็นกรณีที่จัดส่งได้ ซึ่งเป็นการ screen ก่อนว่าอะไรจะเข้าสู่ระบบเดลิเวอรี่ได้บ้าง นั่นเพราะมีบางกรณีที่ไม่สามารถจัดส่งได้ เช่น ยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท หรือกรณีใดบ้างที่ไม่สามารถจัดส่งยาได้ เช่น ผู้ป่วยบางโรคที่จำเป็นต้องพบแพทย์หรือตรวจสอบอาการซึ่งหน้าก่อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกได้แล้วว่ายาประเภทใดที่สามารถส่งได้ ก็จะเข้าสู่เรื่องของจริยธรรมคือการให้ความยินยอมล่วงหน้า โดยโรงพยาบาลจะต้องพูดคุยกับผู้ป่วยหรือญาติก่อนว่าจะมีการส่งยาไปทางไปรษณีย์ รวมถึงคำแนะนำและข้อสังเกตต่างๆ ประกอบการส่งยา รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องยา เช่น ข้อมูลครอบครัว จำนวนสมาชิกในครอบครัว วันว่าง ฯลฯ
“สิ่งที่ต้องคิดต่อมาก็คือเรื่องของบรรจุภัณฑ์ ทั้งชนิด ปริมาณ และคุณภาพ รวมไปถึงกระบวนการจัดส่งทั้งเรื่องความปลอดภัย และความเสียหาย โดยสุดท้ายแล้วหากเกิดความเสียหายความรับผิดชอบจะอยู่ที่ผู้จัดส่ง” นายชนภัทร กล่าว
อย่างไรก็ตามยังมีบางกรณีที่อาจนำมาสู่การโต้แย้งกันได้ อาทิ 1. การรับยาแทนกัน คือผู้รับยาไม่ใช่ผู้ป่วยหรือไม่ได้เป็นผู้ที่ถูกระบุเอาไว้ว่าเป็นเจ้าของยา ประเด็นนี้มีความสำคัญและอาจนำไปสู่ข้อถกเถียงกัน ดังนั้นโรงพยาบาลอาจต้องสำรวจข้อมูลให้ชัดเจนว่าครอบครัวของผู้ป่วยมีจำนวนเท่าใด มีใครบ้าง และใครที่สามารถรับยาแทนผู้ป่วยได้บ้าง และอะไรคือหลักฐานในการรับยาแทน 2. กรณีไม่มีผู้รับยา โรงพยาบาลจะทำอย่างไร 3. การติดตามโดยผู้ส่งที่ต้องตรวจสอบว่ายาไปถึงมือผู้รับแล้วจริงๆ
“ถ้าถามความเห็นผม การส่งยาทางไปรษณีย์เป็นสิ่งที่ดี นับเป็นก้าวแรกที่จะทำให้เกิดก้าวต่อๆ ไป ซึ่งประเด็นที่ยกขึ้นมาไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นข้อควรระวัง เน้นย้ำว่าขอให้มีหลักฐานในการดำเนินการ เช่น ใบยินยอมให้ส่งยาทางไปรษณีย์ หลักฐานกระบวนการคัดกรองเมื่อใดส่งได้ เมื่อใดไม่ควรส่ง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาต่อๆ ไปได้” นายชนภัทร กล่าว
- 144 views