คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุขย้ำระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคตยึดคนไข้เป็นศูนย์กลาง มุ่งเน้นจ่ายเงินเพิ่มตามผลการรักษาที่ดีขึ้น พร้อมจัดทำชุดสิทธิประโยชน์หลักและเสริมครอบคลุมทุกกลุ่มวัย ทุกรูปแบบการรักษา
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยในหัวข้อ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: การดูแลสุขภาพแบบมุ่งเน้นคุณค่า” (Universal Health Coverage: Value Based Healthcare) พร้อมมีการแถลงความคืบหน้าการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพ โดย ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุข ด้านการคลังสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพ
นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการลงทุนที่สำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่องค์กรสหประชาชาติเองก็ได้กำหนดให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเป้าหมายหลักข้อหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ที่ทุกประเทศควรดำเนินการให้ได้
สำหรับประเทศไทยได้ดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2545 และประสบความสำเร็จในแง่การเข้าถึงบริการ รวมทั้งสุขภาพประชาชนที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดีก็ยังมีประเด็นท้าทายอีกมากมายจึงจำเป็นต้องมีการปฎิรูปในหลายเรื่อง โดยสิ่งที่ปฏิรูปในขณะนี้คือการปฏิรูปคุณค่าที่ประชาชนจะได้รับในภาพรวมทั้งหมด ทั้งคุณภาพบริการที่ดีขึ้นและมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม
ทั้งนี้ จากแนวคิดการขับเคลื่อนโดยมุ่งเน้นคุณค่า จะมี 3 เรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ คือ 1.การขับเคลื่อนชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพ ซึ่งมีทั้งชุดสิทธิประโยชน์หลักและชุดสิทธิประโยชน์เสริม หลักการคือชุดสิทธิประโยชน์ที่ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ (ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ บัตรทอง) เคยได้รับจะไม่ลดลงและอาจมีบางอย่างที่เพิ่มขึ้นหรือดีขึ้นจากการบริการจัดการร่วมกัน
นพ.ภิรมย์ กล่าวว่าการปรับปรุงในครั้งนี้ เป็นการปรับเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ตลอดจนบริบทของโลกที่มีโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น มีคนไข้ติดเตียงมากขึ้น ซึ่งชุดสิทธิประโยชน์จะมุ่งเน้นกลุ่มต่างๆ ครบทั้ง 5 กลุ่มอายุ ครอบคลุมตั้งแต่ด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาในระบบปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ การดูแลระยะกลาง การดูแลระยะยาว หรือแม้แต่การดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตจะก็ได้รับการดูแลอย่างมีศักดิ์ศรี
"ชุดสิทธิประโยชน์หลักเป็นชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐาน เป็นความจำเป็นที่พึงได้รับและไม่ทำให้ครัวเรือนล้มละลายจากการรักษา อาทิ มะเร็ง ไตวายเรื้อรัง ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ฯลฯ จะอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลัก ขณะที่ชุดสิทธิประโยชน์เสริม 1 เป็นสิ่งที่แต่ละกองทุนจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์บางอย่างแก่ผู้ใช้สิทธิของตัวเอง อาทิ การคัดกรองมะเร็งบางอย่าง การเจาะเลือดเพื่อตรวจโรค ฯลฯ แต่ละกองทุนจะแตกต่างกันได้แล้วแต่ลักษณะและบริบทของผู้ใช้สิทธิของกองทุนนั้นๆ ส่วนชุดสิทธิประโยชน์เสริม 2 เป็นสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาโดยการจ่ายเงินเพิ่มเอง เช่น อยากได้ห้องพิเศษแบบพรีเมี่ยม หรือไปซื้อประกันเอกชนเพิ่มเติม เป็นต้น" นพ.ภิรมย์ กล่าว
2.การขับเคลื่อนและปฏิรูปกลไกการเงินการคลังเพื่อความเพียงพอและยั่งยืน มีทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะยาว
3.การยกระดับประสิทธิภาพประสิทธิผลของการดูแลสุขภาพโดยให้คนไข้เป็นศูนย์กลางการจ่ายแบบเน้นคุณค่า หมายความว่า การจ่ายนั้นทุกคนจะได้รับการจ่ายขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่จะได้รับเหมือนโบนัสเพิ่มขึ้นตามผลการรักษาที่ดีขึ้นเป็นระยะๆจนครบวงจรการรักษา ซึ่งการจ่ายในลักษณะนี้ก็น่าจะทำให้เกิดการมุ่งให้บริการที่ดีที่สุดในต้นทุนที่เหมาะสม
สำหรับความคืบหน้าการจัดทำชุดสิทธิประโยชน์ในขณะนี้มีคณะอนุกรรมการชุดหนึ่งที่คิดรายละเอียดว่าคนไข้ทั้ง 5 กลุ่มช่วงอายุควรได้รับสิทธิประโยชน์หลักและเสริมอย่างไรบ้าง เมื่อคิดออกมาแล้วก็ต้องส่งข้อเสนอไปให้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพพิจารณาและให้ข้อคิดเห็นกลับมา จนกระทั่งข้อเสนอต่างๆ เริ่มนิ่งพอสมควรแล้วจึงจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
- 34 views